xs
xsm
sm
md
lg

แรงขับดันองค์กรในตลาดทุนไทย สู่ความรับผิดชอบต่อสังคมและยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

•ผลวิจัยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยผ่าน 10 กิจการที่ได้รางวัล CSR
•ประเมินระดับ CSR ของบริษัทไทย
•อะไรอยู่เบื้องหลังแรงขับดันกิจการที่มี CSR ยอดเยี่ยม
•พบแรงขับดันจากปัจจัยภายนอกมีผลมากกว่าปัจจัยภายใน
ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 และ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “แรงขับดันองค์กรนำในตลาดทุนไทย สู่ความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน” (Driving Forces for Leading Organization in Thai Capital Market Towards Corporate Social Responsibility and Sustainability)
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่เป็นแรงขับดันองค์กรให้ดำเนินกิจการตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) 2) ศึกษาระบบการบริหารที่นำหลักการ CSR สู่ภาคปฏิบัติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) ศึกษาผลลัพธ์จากการมีรางวัลด้าน CSR

สัญญาณกดดันจากกติกาโลกยุคใหม่
ความตื่นตัวรู้ในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมยุคใหม่นับตั้งแต่การประชุมองค์การด้านเศรษฐกิจระดับโลก (Earth Summit) ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ ค.ศ. 1992 โดยมีการนำเสนอทิศทางใหม่ที่มุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งเป็นแนวการพัฒนาที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นับว่าได้เริ่มจุดกระแสสังคมโลกในการคาดหวังให้องค์การธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility)
ในปี ค.ศ. 1999 กระแสของแนวคิด CSR ได้มีพัฒนาการที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อ โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เรียกร้องให้กิจการธุรกิจทั่วโลกดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก (Good Global Citizenship) รวมทั้งประกาศ “The UN Global Compact” เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทาง การพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับองค์กรธุรกิจต่อไป (สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม, 2553)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1976 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD : Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่สมาชิก 30 ประเทศ และให้การช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 100 ประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ถึงขนาดได้จัดทำ “แนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ” (The OECD Guidelines for Multinational Enterprises) โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน และขยายบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน แนวปฏิบัติฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2011 ซึ่งมีองค์ประกอบที่สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากลต่างๆ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การจ้างงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ (Employment and Industrial Relations) สิ่งแวดล้อม (Environment) การต่อต้านการให้และเรียกรับสินบน รวมถึงการชักชวนและเรียกรับสินบน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค (Consumer Interests) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) การแข่งขัน (Competition) และการเสียภาษี (Taxation)
นอกจากนี้ OECD ยังเสนอว่า บรรษัทข้ามชาติควรคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดนโยบายในประเทศที่ไปดำเนินกิจการ และแนวปฏิบัตินี้ช่วยให้บรรษัทขนาดใหญ่มีความชอบธรรมมากขึ้น และถูกต่อต้านน้อยลงในการขยายการลงทุน หรือเพิ่มอิทธิพล และอำนาจทางการค้า ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
OECD ยัง แนะนำให้กิจการของประเทศร่ำรวยแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม หรือมี CSR และชี้นำให้บรรษัทข้ามชาติเลือกติดต่อธุรกิจและการลงทุนเฉพาะกับกิจการที่มี CSR นั่นหมายถึงว่า กฎกติกาการเลือกคบค้า กับบริษัทที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีคุณธรรมที่บริหารกิจการที่ดีด้วยหลักธรรมาภิบาลได้เริ่มขึ้นแล้ว
ผลจากกระแสความสนใจ CSR ขององค์กร สถาบัน และบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ มีข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติที่หลากหลาย จึงเป็นที่มาของมาตรฐานสากล ISO 26000 ที่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ (Guidance) ระดับนานาชาติในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้างกับองค์กรทุกขนาด และทุกประเภท (ทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม) โดยมีการตัดคำว่า “Corporate (C)” ออกไปจาก CSRและมาตรฐานนี้ไม่มีการตรวจประเมิน (Assessment) เพื่อการรับรอง (Certification) เหมือนรหัสมาตรฐานอื่นๆ เช่น ISO 9000 หรือ ISO 14000
มาตรฐาน ISO 26000 ครอบคลุมประเด็นที่เชื่อมโยง และสอดคล้องกับมาตรฐานอื่นๆ รวมถึงแนวปฏิบัติ OECD Global Compact และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหัวข้อหลัก 7 ประการ ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม) (Organization Governance) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การปฏิบัติต่อแรงงาน (Labor Practices) สิ่งแวดล้อม (The Environment) การปฏิบัติที่เป็นธรรม (Fair Operating Practice) ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issues) และการมีส่วนร่วมในชุมชนและการพัฒนาชุมชน (Community Involvement Development)
การปรับตัวของตลาดทุนไทย
สำหรับการพัฒนาตลาดทุนในประเทศไทยนั้น สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI: Corporate Social Responsibility Institute) หน่วยงานในสังกัดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยายามผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนทั้งหลายดำเนินกิจการในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีแผนเป็นระบบมากขึ้น และด้วยกรอบความคิดด้าน CSR และบรรษัทภิบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าจะได้รับการยอมรับจากสาธารณชน โดยเฉพาะลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุนมากขึ้น จึงเป็นแนวทางสร้างความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ
วิธีการดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้แบบผสมผสาน โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเอกสารทางวิชากรที่เกี่ยวข้องตลอดจนการทบทวนวรรณกรรมเพื่อประมวลและสังเคราะห์ให้เกิดทฤษฎีรากฐานเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งกำหนดใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้บริหารระดับสูง แล้วจึงไปใช้การวิจัยเชิงปริมาณกลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประมวลค่าสถิติ อันเป็นการยืนยันความเที่ยงตรงของทฤษฎีและได้ความรู้จากประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR Awards ในปี 2555 ที่เรียกว่า Best Corporate Social Responsibility Awards จำนวน 10 บริษัท ดังนี้
รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ (SET Award of Honor) คือบริษัทที่มีความเป็นเลิศด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องถึง 5 ปี (2551-2555) ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน)
รางวัลดีเด่น ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ผลการวิจัย
ผู้วิจัยได้นำข้อมูลจากการศึกษาและสัมภาษณ์ ผู้บริหารบริษัทที่ได้รับรางวัล และสัมภาษณ์คณะผู้ทรงคุณวุฒิ มาวิเคราะห์เพื่อถอดบทเรียนจากเงื่อนไขที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกองค์กรซึ่งมีผลให้เกิดการดำเนินการตามแนวทาง CSR ในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in process) และกิจกรรมส่งเสริมสังคมนอกกระบวนการธุรกิจ (CSR-after process) ทั้งนี้ได้สังเคราะห์ผลลัพธ์ 3 มิติ (Triple Bottom Line) ซึ่งเป็นแนวการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลเชิงบวกที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ประกอบของการพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืนเป็นเป้าหมาย ได้ข้อสรุป ดังนี้
1) หลักคิดแนวทางซีเอสอาร์องค์กร
ทุกบริษัทในกลุ่มที่ได้รับรางวัลด้าน CSR ต่างตระหนักรู้ว่า ต้องดำเนินธุรกิจด้วยหลักความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจเพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซีเอสอาร์จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของกิจกรรมเชิงสังคมสงเคราะห์ หรือการสร้างบุญกุศล (Philanthropy) เช่น การบริจาค กิจกรรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือโครงการฟื้นฟูดิน น้ำ และป่า เท่านั้น เพราะนั่นเป็น CSR นอกกระบวนการธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนย่อยในหลัก CSR เท่านั้น และหากจะดีที่สุดบริษัทต้องมีค่านิยม และนโยบายที่เกิดจากภายในองค์กร ถ้าองค์กรมีแนวปฏิบัติที่ให้ผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียก็จะสามารถสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืน จะมีผลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2) ระดับบทบาทและกิจกรรม CSR ในประเทศไทย
ปัจจุบันธุรกิจอุตสาหกรรมที่สนใจเรื่อง CSR มีมากขึ้น เพียงแต่ส่วนใหญ่ยังเน้น “กิจกรรมการให้” เช่น การบริจาค การปลูกป่า แต่บางโครงการไม่มีการติดตามดูแลให้เกิดความยั่งยืน มีจำนวนไม่น้อยที่การทำซีเอสอาร์เพื่อประชาสัมพันธ์กิจการว่าได้ทำดีแต่ไม่สร้างผลลัพธ์ให้เกิดความยั่งยืน
การช่วยเหลือสังคมแบบ “การให้” เช่น ให้สิ่งของ หรือบริจาคนับเป็นระดับต้นของบทบาทด้าน CSR ขณะที่กิจกรรม CSR ระดับกลางช่วยให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อชุมชน และองค์กร เช่น กรณีบริษัทบางจากสนับสนุนให้จัดตั้งสหกรณ์ชุมชน และปั๊มน้ำมันบางจากเป็นธุรกิจชุมชนที่สั่งน้ำมันจากโรงกลั่นโดยตรงจึงสร้างรายได้ไปทำประโยชน์แก่สังคม หรือสนับสนุนสินค้าชุมชนนำไปเป็นของแจกลูกค้าน้ำมันบางจาก
ส่วนบทบาท CSR ระดับบนนั้นเป็นการดำเนินการเชิงกลยุทธ์องค์กรที่มีจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ (Positioning) เพื่อส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โบดี้ ช็อพ ลงทุนวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้สัตว์เป็นตัวทดลอง จึงมีภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในแนวทางส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือกรณีการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอสซีจีที่กำหนดจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์เป็น Eco Value ก็อยู่ในระดับนี้
3) เบื้องหลังที่บริษัทจดทะเบียนหันมาสนใจเรื่อง CSR เนื่องจาก

ปัจจัยภายใน
(1) การมีผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินกลยุทธ์โดยคำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
(2) มีค่านิยม (Core Value) ที่อาจเกิดจากการปลูกฝังของผู้นำ เช่น กรณี บมจ. บางจากปิโตรเลียม ที่ได้ผู้นำการบริหารคนแรก คือ โสภณ สุภาพงษ์ ที่มีแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจที่เกื้อหนุนชุมชน และสิ่งแวดล้อม หรืออุดมการณ์ 4 ประการของเอสซีจี คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ก็ได้เป็นรากแก้วของอุดมคติจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างมั่นคง
(3) โครงสร้างการบริหาร เพื่อกำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบกำกับดูแล และระบุอำนาจหน้าที่ เช่น เอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์ มีบุคคลทั้งในระดับจากคณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่ดูแลด้านธรรมาภิบาล และด้าน CSR และยังมีคณะกรรมการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(4) กฎระเบียบที่เป็นกรอบให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีบทลงโทษเพื่อให้กฎระเบียบได้รับการปฏิบัติจริง
(5) การสื่อสารข้อมูลทั้งการสะท้อนปฏิกิริยาจากภายนอกสู่ระดับบริหารเพื่อการตามทันสถานการณ์ และการปรับปรุงแก้ปัญหา และจากการบริหารองค์กรด้าน CSR สู่การรับรู้ของสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี
ปัจจัยภายนอก
(1) แรงกระตุ้นจากสังคมภายนอก และกระแสโลกที่ตื่นตัวต่อภาวะวิกฤต เนื่องจากขาดธรรมาภิบาลจนส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่นปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาสังคม ปัญหาสินค้าขาดคุณภาพ จนคนต่อต้านการผลิตที่มีมลพิษเริ่มมีปัญหามากขึ้น
(2) ภาคประชาสังคม การฟ้องร้องหรือการออกมาประท้วงขององค์กรภาคเอกชน และช่วงหลัง NGO จะใช้เครื่องมือทางกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่มีข้อมูลที่เป็นหลักฐานมีน้ำหนักมากขึ้น จึงเป็นแรงกดดันต่อการบริหารองค์กร
(3) ภาครัฐที่มีกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างกติการักษาความเป็นธรรม
(4) กิจการที่ใช้ฐานทรัพยากร และมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ถูกกดดันจากสังคมที่คาดหวังให้มีความรับผิดชอบ
แรงขับดันจากปัจจัยภายนอกจึงสำคัญกว่าปัจจัยภายใน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เช่นในประเทศไทย ปัญหาและเหตุการณ์กดดันจากปัจจัยภายนอก มีผลให้กลไกของปัจจัยภายในบริษัทจำเป็นต้องปรับตัว ทั้งนี้เป็นเพราะ สังคมยุคปัจจุบันนี้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้สังคมได้รับรู้ เรียนรู้ และเปรียบเทียบปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภาค และระดับประเทศ ได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อที่หลากหลายกว้างไกลไปถึงระดับนานาชาติได้อย่างฉับพลันทันใด

4) ผลจากการจัดประกวดรางวัลซีเอสอาร์
ผลลัพธ์ต่อตัวบริษัทก็ได้รับการยกย่องและความน่าเชื่อถือในการเป็นบริษัทที่ดี นับเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อกิจการและพนักงานที่ส่งผลให้มีผู้เกี่ยวข้องอยากคบค้าด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทที่สมัครเข้าประกวดไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นข้อมูลยืนยันว่ามีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ บริษัท เพราะได้รับคำแนะนำดีๆ จากความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินำไปพัฒนาบริษัทตามแนวทางการประเมิน

การรับรู้ของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่อองค์กรนำในตลาดทุน
จากผลการวิจัยเชิงปริมาณในการรับรู้ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรนำในตลาดทุนที่มีต่อ 10 บริษัท ที่ได้รับรางวัลด้าน CSR ปรากฎว่ากลุ่มตัวอย่าง ทุกกลุ่มรับรู้บทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับมาก และมีความเห็นว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับดันสูงสุดทำให้บริษัทต่างๆ ต้องแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในประเด็นการดำเนินกิจการด้วยหลัก CSR สู่การปฏิบัติที่ดี พบว่า กลุ่มการเงิน การธนาคาร มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ กลุ่มพลังงาน แสดงถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารเรื่อง CSR ของประเภทธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ก็มีบทบาทการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ของกลุ มผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้นด้วย
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง มีการนำหลักการ CSR สู่การปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มการเงินการธนาคาร และกลุ่มพลังงานมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ส่วน การนำหลักการ CSR สู่การปฏิบัติด้านเศรษฐกิจ กลุ่มการเงินการธนาคารมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง กลุ่มพลังงานมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ส่วนการนำหลักการ CSR สู่การปฏิบัติด้านสังคม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และวัสดุก่อสร้างมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขณะที่กลุ่มพลังงาน และกลุ่มการเงินการธนาคาร มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน
โดยภาพรวมทุกกลุ่มธุรกิจ ที่นำหลักการ CSR ไปสู่การปฏิบัติทั้งในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) และในกิจกรรมส่งเสริมสังคม (CSR-after-process) มีค่าเฉลี่ยในระดับมากโดยพบว่า การนำหลักการ CSR สู่การปฏิบัติด้านกิจกรรมส่งเสริมสังคม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มการเงินการธนาคาร มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน แต่กลุ่มพลังงาน มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
สรุปได้ว่าผลการวิจัยส่วนนี้สอดคล้องกับการวิจัยเชิงคุณภาพที่ยืนยันถึงแนวโน้มความตระหนักถึงการคาดหวังความยั่งยืนของ 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ผู้วิจัยได้สร้างแบบจำลองกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการบริหารองค์กรที่เริ่มต้นจากส่วนบน ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์บัญชาการที่กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) เป้าหมายภาพองค์กรที่ต้องการจะเป็น ตามมาด้วยพันธกิจ (Mission) และด้วยกลยุทธ์ (Strategy) เพื่อดำเนินการตามแผนไปสู่เป้าหมาย
ทั้งนี้มีแรงขับดันจากปัจจัยภายใน คือ ค่านิยม อุดมการณ์ในการก่อตั้งหรือผู้นำที่มีการสร้างค่านิยมที่ดีจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ใฝ่ดี รักความถูกต้อง เป็นธรรม และห่วงใยสังคมวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายและกลยุทธ์องค์กร เป็นการเริ่มจากภายในองค์กรที่เป็นการสร้างรากฐานที่ดี โดยผู้นำตั้งแต่ยุคก่อตั้งกิจการ เช่น กรณีบริษัทบางจาก และเครือซิเมนต์ไทย หรือมีการปรับองค์กรและกลยุทธ์เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวการณ์แข่งขัน พฤติกรรมทางสังคมและภาวะด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับตัวทันต่อแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกในประเด็นต่างๆ
ขณะที่แรงขับดันจากปัจจัยภายนอก ที่กดดันให้องค์กรต้องปรับตัวให้เข้าสู่แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ กระแสโลกที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐและองค์กรสถาบันที่ห่วงใยคุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ออกกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานสากลที่มีผลต่อการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้บริโภคยุคใหม่ก็คาดหวังและเลือกที่จะสนับสนุนสินค้าและบริการขององค์กรที่เชื่อถือได้ว่าไม่เป็นพิษภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้แรงกดดันเกิดจาก 1) ภาวะวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2) โลกาภิวัตน์ที่มีการติดต่อการค้า และการลงทุนที่ต้องการความถูกต้อง โปร่งใสเพื่อลดความเสี่ยง 3) การศึกษาที่สูงขึ้นจึงต้องการแข่งขันได้ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศที่คนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว 5) สื่อทางสังคม อินเทอร์เน็ตเป็นทั้งการรับและส่งสาร
การขับเคลื่อนกระบวนการจากหลักคิดสู่การปฏิบัติ (Process) ที่มีได้ทั้ง 2 มิติ คือ หลักความรับผิดชอบต่อสังคมที่ผนึกเข้าอยู่ในกระบวนการดำเนินกิจการระบบการผลิต การตลาด (CSR-in-process) ทุกขั้นตอน ทั้งการจัดหาจัดส่งวัตถุดิบ ระบบการผลิต การตลาด ทุกขั้นตอนทั้งการจัดหา จัดส่งวัตถุดิบ และการขนส่งกระจายสินค้า โดยไม่ก่อผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมส่งเสริมสังคมที่อยู่นอกเหนือการทำธุรกิจ (CSR-after-process) ซึ่งเป็นลักษณะการทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคมในโครงการต่างๆ
การดำเนินการข้างต้นจะก่อผลลัพธ์ (Output) ที่องค์กรคำนึงในการสร้างคุณค่าและไม่สร้างผลเสียหาย 3 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ความสมดุลเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ขณะที่การดำเนินงานภาคปฏิบัติกำลังดำเนินไป จำเป็นต้องตระหนักในข้อมูลสะท้อนกลับ (Feedback) ให้แต่ละขั้นตอนของกระบวนการตั้งแต่ระดับนโยบายระดับปฏิบัติการได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ของปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงาน เพื่อการปรับแผน พัฒนาแนวปฏิบัติการและเป็นการเสริมจุดดี แก้จุดด้อย เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ระบบการบริหารที่บูรณาการทั้งระดับนโยบายสู่การปฏิบัติและที่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีต่อผลทางธุรกิจหรือมิติทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าไปพร้อมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกระบวนพัฒนาที่ยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น