•แนวคิดการออกแบบสถานที่ให้รองรับการใช้งานของทุกคน รวมถึงคนชรา และผู้พิการ เรียกว่า “อารยสถาปัตย์” กำลังถูกสานต่อตามกระแสโลกอารยะที่ใส่ใจ “สิทธิมนุษยชนจะต้องมีความเสมอภาค”
•สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงตัวหนุนเพื่อให้เกิดต่อยอดไปสู่สังคมไทยในวงกว้างเมื่อเร็วๆ นี้
กระแสโลกปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนจะต้องมีความเสมอภาค โดยโลกประเทศตะวันตกประมาณ 30 ปีที่แล้วได้ขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุ และคนพิการ ได้รับความเท่าเทียม โดยมีการออกแบบที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียม ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมักมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในหลายประเทศตะวันออกรวมถึงประเทศไทย แต่ขณะนี้กำลังได้รับความสนใจเพื่อจะเปลี่ยนแปลง
แนวคิดอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เพื่อตอบโจทย์การนำไปปรับใช้ในสังคมไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมกันหาแนวทางต่อยอด “อารยสถาปัตย์ในองค์กร สู่ความเสมอภาคในสังคม”
ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่าอารยสถาปัตย์เป็นแนวคิดของการออกแบบสถานที่ให้รองรับการใช้งานของทุกคน รวมถึงคนชราและผู้พิการให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย สอดคล้องกับกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2555
ด้วยกระแสโลกที่ตระหนักถึงและขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ TBCSD มองเห็นความสำคัญ จึงได้ร่วมมือกันส่งเสริมกิจกรรมที่จะสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
ศาสตราจารย์กำธร กุลชล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอารยสถาปัตย์ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนต้องมีความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต ตื่นตัวในโลกตะวันตกก่อนโลกตะวันออก ต่อมาคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือเอสแคป (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP) ซึ่งเป็นองค์กรนำความเจริญด้านเศรษฐกิจและสังคมมาสู่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกนำมาเผยแพร่ในภายหลัง แต่ผลตอบรับของคนเอเชียยังเป็นเรื่องความสงสาร การแสดงความเห็นอกเห็นใจมากกว่าความเสมอทางโอกาส ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ทางการแพทย์ ด้านการศึกษา การมีงานทำ การรับรู้ข่าวสาร ส่วนเรื่องการเข้าถึงอาคารสถานที่ เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร สถาปนิก
นอกจากคนพิการ ยังเกี่ยวข้องกับสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ เมื่อคนมีอายุยืนขึ้น สภาพร่างกายถดถอยเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ของประชากร ในปี 2568 ซึ่งปัญหาหลักในปัจจุบันยังมีอาคารที่ไม่เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ รวมถึงทางเดินเท้า และการคมนาคมก็ไม่สะดวก ขณะที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบประเทศตะวันตก และประเทศที่เจริญแล้วสามารถไปไหนได้สะดวกเหมือนคนปกติ ดังนั้น บ้านเราจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดทำด้วยความเสมอภาค ไม่ใช่สงสาร
หลักการออกแบบที่ไร้อุปสรรคให้เข้าถึงได้ (Accessible Design) ในยุโรป นิยมใช้คำว่า Design for All ส่วนในสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า Universal Design แปลว่าการออกแบบเพื่อคนทุกคน เราใช้คำว่าอารยสถาปัตย์ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน เป็นการออกแบบโดยยึดหลักการ 7 ข้อของสากล ไม่ใช่เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ และไม่ใช่เฉพาะอาคาร แต่รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคนพิการ ปี 2550 มติคณะรัฐมนตรี ปี 2552 พ.ร.บ.การควบคุมอาคาร 2535 พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 2534 เป็นต้น ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายควรจะต้องพิจารณาเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับกติกาในโลกประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว
ด้าน ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเสริมว่าอารยสถาปัตย์เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่ให้บริการคนจำนวนมาก เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องนี้ เราจึงตั้งเป้าหมายจะเป็นประเทศผู้นำในอาเซียน ซึ่งเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปีหน้าก็จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบ โดยเฉพาะทางด้านท่องเที่ยว
“ประเด็นสำคัญอยู่ที่คนไทยมักจะปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับเท่านั้น ที่สร้างแล้วไม่ผิดจึงไม่ได้มีการแก้ไข กฎหมายยังไม่เอื้อต่อการแก้ไขปรับปรุงอาคาร แต่เราพยายามรณรงค์โดยใช้วิธี “คนดีนำ” องค์กรใดดีก็พาไปรู้จัก อย่างการนิคมฯ จะเห็นว่าเขาสามารถปรับปรุงโดยใช้ต้นทุนที่ไม่มากมาย ถ้าอาคารต่างๆ สามารถทำให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างสบาย เขาย่อมมีความสุขที่ช่วยลดภาระให้กับสังคมได้"
10 ชาติอาเซียน เดินหน้าผสานมือ
ด้าน กฤษนะ ละไล ทูตอารยสถาปัตย์ เล่าถึงความร่วมมือกันของ10 ชาติอาเซียน ว่าปัจจุบันการปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในภูมิภาคอาเซียนเข้าสู่ภาคปฏิบัติของสมาชิกทั้ง 10 ชาติในอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่า จะต้องช่วยกันปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ เพื่อขจัดอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมของผู้พิการในเบื้องต้น และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียมสำหรับคนทั้งมวล
“ประเด็นที่น่าสนใจมากจากการประชุม 10 ชาติอาเซียน+ญี่ปุ่น ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็คือมี “มหาอำนาจอารยสถาปัตย์โลก” อย่าง “ญี่ปุ่น” คอยให้คำแนะนำ และช่วยเหลือ เพื่อเดินหน้าไปสู่การปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในภูมิภาคอาเซียนนับจากนี้ไป”
เนื่องจากความจริงวันนี้ หลายประเทศในอาเซียน ยังขาดแคลนอารยสถาปัตย์ ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น และตำรวจทหารผ่านศึก หรือในบางประเทศอาจมี แต่ยังไม่ทั่วถึง ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีแต่ใช้การไม่ได้ เนื่องจากทำไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ยังตกต่ำย่ำแย่ ยังออกจากบ้านไปไหนมาไหนเองไม่ได้ ต้องตกเป็นภาระของคนอื่น และเป็นภาระของสังคมมาช้านาน
อารยสถาปัตย์ เป็นภาษาสากลของโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนเราดีขึ้น มีความสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น ไม่เฉพาะคนพิการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยพักฟื้นด้วยส่วนกิจกรรมที่สำคัญจากนี้ไป คือ การเดินสายรณรงค์ และสำรวจอารยสถาปัตย์ทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันปรับปรุง และพัฒนาอารยสถาปัตย์ทั้ง 10 ชาติ ให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายประชาคมอาเซียน ประชาคมเพื่อคนทั้งมวลในปีหน้า
5 เหตุผล หนุนเมืองไทยต้องมีอารยสถาปัตย์
ความเจริญ และการพัฒนา ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้บ้านเราจะต้องตระหนักว่า “อารยสถาปัตย์” เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นของโลกยุคปัจจุบัน และอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงแม้ว่าจะยังไม่ทำในวันนี้ แต่วันข้างหน้าก็ต้องทำอยู่ดี ด้วยเหตุผล 5 ประการ
1.ผู้สูงอายุกำลังจะล้นโลก ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเดินไปสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ มนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้นและต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความสะดวก และปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น
ตามข้อมูลองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชากรโลกที่มีจำนวนกว่า 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน มีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 893 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.8% ในจำนวนนี้ มีผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี มากถึง 340,000 คน และมีแนวโน้มว่า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกราว 200 ล้านคน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า หมายความว่า ภายในปี พ.ศ.2565 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีมากกว่า 1,000 ล้านคน
2.ประชากรโลกจะมีผู้พิการมากขึ้น เนื่องจากคนพิการ หรือคนที่จำเป็นต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบัน และอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ความพิการส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากพิการโดยกำเนิดแต่เป็นความพิการที่มาจากความเจ็บไข้ได้ป่วย และอุบัติเหตุ รวมถึงความพิการที่มาจากสภาพความแก่ชรา
3.กฎหมายบังคับให้ทำ ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฯลฯ มีการออกกฎหมายบังคับให้สถานที่สาธารณะ และอาคารต่างๆ จะต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ในช่วง 15 ปีมานี้ ก็ได้มีกฎหมายหลายฉบับออกมามีผลบังคับใช้ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ถึงฉบับปัจจุบัน กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กฎกระทรวงมหาดไทย ปี 2548 และกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปี 2556 เป็นต้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ให้การออกแบบสร้างทำตึกอาคาร และสถานที่สาธารณะทุกแห่ง จะต้องมีอารยสถาปัตย์ คือ ต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุด้วยแล้วเช่นกัน
4.ตามกติกาโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เป็นภาษาสากล และกติกาสากลของโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต ดังจะเห็นได้ว่าในทุกประเทศที่เจริญแล้วพัฒนาแล้ว แม้แต่ในบางประเทศที่กำลังพัฒนา ก็จะต้องมีสิ่งเหล่านี้
ด้วยเหตุผลนี้ “อารยสถาปัตย์” จึงเป็นเสมือนดัชนีชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปีหน้า ก็ยิ่งต้องตระหนักให้มากขึ้น เพราะถ้ายังไม่มีอารยสถาปัตย์ในการปรับปรุง และพัฒนาบ้านเมือง เราก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เพราะนั่นเท่ากับว่าเราไม่ดูแลไม่ใส่ใจผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงผู้ป่วยพักฟื้น ยังมีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทำให้บ้านเราถูกมองได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ยังล้าหลัง
5.สอดคล้องกับหลักแท้แก่นธรรม ในพระพุทธศาสนา องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า เกิดแก่เจ็บตาย เป็นของธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นวรรณะใด จะยากดีมีจน หรือสูงต่ำดำขาว ดังนั้น การออกแบบบ้านเมืองให้มีอารยสถาปัตย์ จึงแสดงถึงความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และเป็นการออกแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคนโดยแท้จริง เพราะวันหนึ่ง ตัวเรานั่นเองที่อาจจะต้องพึ่งพาอารยสถาปัตย์
หัวใจสำคัญของอารยสถาปัตย์ อยู่ที่ความ “สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม” นั่นคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงผู้สูงอายุและคนพิการ สอดรับกับพฤติกรรมการใช้งาน เช่น ป้ายบอกทางที่มีสัญลักษณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา การทำทางลาดบนทางเท้า และห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็น เป็นต้น