xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง CSR ระดับชาติ ให้ได้ผล “รัฐ-ธุรกิจ-ประชาชน” ต้องเดินคู่ขนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

CSR Club มอบรางวัล 18 กิจการ รายงานความยั่งยืน ปี 2556
ประธาน CSR Club ชี้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “ธุรกิจเพื่อสังคม” ของภาคธุรกิจมองไปไกลถึงขั้นสร้างสรรค์สังคมไทยให้น่าอยู่ มีความสงบสุข แนะให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแบบคู่ขนานทั้ง 3 ส่วน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
ก่อนหน้าเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) โดยมี รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธาน CSR เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหัวหน้าโครงการศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความเห็นข้อเสนอจากผู้รู้เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์
ทั้งนี้ เพื่อให้การสร้างแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมมีความสมบูรณ์ เหมาะสม สามารถใช้เป็นเครื่องมือ และกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของชาติ

ภาคเอกชนก้าวไว เพราะได้องค์กรหลักหนุน
ซีเอสอาร์คลับ (CSR Club) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 บริษัท รวมทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) อีกประมาณ 100 บริษัท รวมเป็น 600 บริษัท
วัฒนา โอภานนท์อมตะ ในฐานะประธาน CSR Club ชี้แจงว่าโจทย์ที่ได้รับจาก พม. เพื่อให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ CSR ระดับชาติ เป็นการมองเฉพาะในมิติของภาคธุรกิจ และส่วนใหญ่ธุรกิจไทยที่เดินหน้าแล้วเป็นกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังมีบริษัทขนาดย่อมนอกตลาดอีกนับหมื่นที่มีหน่วยงานดูแลอยู่ในสององค์กรหลัก คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงมีสมาชิกที่เป็นทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน
“เราทำงานมาประมาณ 2-3 ปี มีความก้าวหน้าไปมากเพราะได้รับการสนับสนุนทั้งในเชิงโยบายและยุทธศาสตร์จากตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้เวลานี้ภาคเอกชนมองในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่กว้างออกไปอีก คือ ความอยู่ดีมีสุข หรือ ความสงบสุขของสังคมไทย”
จนถึงเวลานี้กระบวนการในภาคธุรกิจสามารถสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมได้ทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะธุรกิจขององค์กรที่เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างด้านความรู้ความเข้าใจของภาคธุรกิจที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการคำนึงถึงในขณะดำเนินธุรกิจ (CSR-in-process) ซึ่งมีมากขึ้นนั้น เราดูได้จากตัววัดในการประเมินเพื่อมอบรางวัลตามโครงการประกวด CSR Award ที่แสดงผ่านรายงานที่ส่งเข้าประกวด

แนะสร้างแผน CSR ระดับชาติที่รอบด้าน
ประธาน CSR Club กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ CSR ระดับชาติ ควรเป็นบทบาทครบทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคธุรกิจ การเมือง ราชการ และประชาชน แต่ทางพม. ให้โจทย์มาเฉพาะเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ทองทิพภา กำลังดำเนินการก็เหมือนทำโฟกัสกรุ๊ป โดยภาคธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาท เพียงแต่เรามองไปข้างหน้าว่าอีก 3 ภาคสำคัญที่ควรจะต้องดำเนินการคู่ขนานด้วย คือ ภาคประชาชน และภาครัฐ ซึ่งมีสองส่วน คือ ราชการ และการเมือง ทางพม. ควรจะมองในเชิงยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมทั้งประเทศไม่ใช่โฟกัสเฉพาะภาคธุรกิจอย่างเดียว
“เรื่องบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมจึงอยู่ที่ประเด็นโครงสร้างการบริหารจัดการควรจะเป็นอย่างไร ผมได้เสนอไปว่า ควรจะตั้งคณะกรรมการความรับผิดชอบแห่งชาติ เหมือนกับคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ หรือ CG โดยคณะกรรมการความรับชอบระดับชาติ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตั้งคณะอนุกรรมการความรับผิดชอบแห่งชาติของภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาครัฐ แล้วต้องหาเจ้าภาพรับผิดชอบ”
ในภาคธุรกิจ มีองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ เช่น ตัวแทนจากหอการค้าไทย, CSR Club ของสมาคมบริษัทจดทะเบียน, สถาบัน CSRI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ, สภาอุตสาหกรรมฯ, สมาคมธนาคารไทย สมาคมการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลุ่มเสาหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนด้านนักวิชาการยังได้สถาบันไทยพัฒน์ เข้ามาร่วมด้วย จะเห็นว่าโครงสร้างขององค์กรความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ มองเห็นภาพแล้วว่ามีใครบ้าง และจะบริหารจัดการกันอย่างไร"
วัฒนา กล่าวอีกว่า โมเดลของภาคธุรกิจ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมดได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในเรื่องนี้มาหลายปีแล้วจึงมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปมาก ผมเคยบอกอาจารย์ทองทิพภา ให้ดูจากโมเดลภาคธุรกิจซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลต. เป็นหลัก และยังได้รับแรงกดดันจากตลาดทุนต่างประเทศด้วย ภาคธุรกิจจึงมีการพัฒนามากกว่าภาคส่วนอื่น
ขณะเดียวกันควรมีคณะอนุกรรมการความรับผิดชอบแห่งชาติภาคประชาชน แล้วพิจารณากันว่าใครควรจะเป็นตัวแทนเข้ามาดำเนินการ เช่น จากกลุ่มเอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน เป็นต้น ส่วนภาครัฐ นี่เป็นโจทย์ที่จะต้องนำไปคิดกันต่อ พม. อาจจะเป็นหน่วยงานนำร่องเพื่อไปสานต่อในภาคราชการและภาคการเมือง
เมื่อครั้งที่จัดตั้ง “CSR Club” เพื่อเป็นแกนประสานขยายฐานรูปธรรมการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งเป้าผนึกกำลังตามแนวคิด 3G-CSR (CSR 3rd Generation) หวังสร้างผลกระทบเชิงบวกในการรับมือปัญหาสังคม
ภาครัฐเพื่อสังคม ต้องปรับกระบวนการ
เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของภาครัฐ เท่าที่เห็นเป็นรูปธรรมจากสื่อ อย่างกรุงเทพมหานครที่ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ “โตแล้วไม่โกง” พยายามรณรงค์เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคประชาชนขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมเห็นอาจจะไม่ได้เข้าใจในเชิงลึก เพราะไม่ได้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนว่าประกอบด้วยใคร เป็นระบบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาครัฐจะต้องเกิดขึ้นจากข้าราชการและนักการเมืองที่มีความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชน
โดยบทบาทหน้าที่ของภาครัฐคือบริการประชาชน ดังนั้น งานที่ภาครัฐทำคือรับผิดชอบต่อสังคมในมิติของการบริการ เพราะภาครัฐถูกตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งในเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาของสังคม เพียงแต่ภาครัฐต้องเข้าใจความรับผิดชอบของตนเองที่จะให้บริการประชาชนว่าคืออะไร ต้องทำอย่างไร
วัฒนา ได้ยกตัวอย่างที่เห็นชัด คือ บัตรประชาชน แต่เดิมวิธีการ และกระบวนการที่จะต้องบริการประชาชนใช้เวลานานมาก ฉะนั้นหน้าที่ความรับผิดชอบของเขาคือทำอย่างไรให้ประชาชนสะดวก ด้วยความรวดเร็ว ประสิทธิภาพ จึงต้องพิจารณาว่าจะต้องปรับกระบวนการอย่างไรที่จะทำให้เร็วขึ้น ปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนสามารถทำบัตรประชาชนได้ภายใน 15 นาที เช่นเดียวกับการทำพาสปอร์ต เมื่อก่อนต้องเข้าต่อแถวรอนาน เพราะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ โดยใช้ระบบเอกชนเข้ามาดำเนินการ หรือการทำวีซ่า หลายสถานทูตก็ใช้เอกชนทำ และไปตั้งอยู่ในศูนย์การค้าซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการสะดวก นี่คือความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่ของ CSR-in-process ที่ทำให้เกิดคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรม
“สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ใครเป็นผู้นำ ถ้าเป็นคนภาครัฐเขาอาจจะคิดแบบราชการเดิมๆ ซึ่งจะไม่ได้ผล ในการจัดแผน CSR ระดับชาติ อาจารย์ทองทิพภา ให้คนข้างนอกมาร่วมออกแบบ แต่ก็ไม่รู้ว่า พม. จะมีพลังมากเพียงใดที่จะไปบังคับให้หน่วยงานอื่นทำ และถ้าตั้งคณะกรรมการCSR แห่งชาติได้แล้วจะคุมได้จริงหรือ ถ้าเป็นจริงทุกอย่างกระทรวงที่มีผลการบริการต่อประชาชนคือภาคสังคม อย่างสาธารณสุข ถ้าเขาคิดในแง่บริการเขาไม่จำเป็นต้องมานั่งรอพิธีการที่มากมาย มันสามารถจะแก้ไขโดยตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไปได้”
เขากล่าวถึงสังคมไทยที่อยากจะเห็นในเวลานี้ คือสังคมที่สงบสุข มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สามารถอยู่ด้วยกันได้โดยสันติ “ ผมนึกถึงว่าประเทศไทยประกอบด้วยภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ก็อยากให้ถามตนเองกันก่อน ภาคธุรกิจก็ต้องถามว่าเราทำธุรกิจเพื่ออะไร เป็นข้าราชการเราเข้ามารับราชการเพื่ออะไร หรือคนเป็นนักการเมืองเข้ามาทำงานการเมืองเพื่ออะไร มีความรับผิดชอบต่ออาชีพต่อหน้าที่อะไรบ้าง ส่วนในฐานะเป็นประชาชนคนไทย ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง และมองให้กว้างกว่านี้ ทุกคนเป็นมนุษย์ก็ต้องมองอย่างมนุษย์ที่ไม่ใช่แค่คนไทย จะต้องรับผิดชอบต่อโลก นี่เหมือนเป็นการจุดประกายให้ทุกคนกลับมาคิดว่า เราอยู่ในฐานะอะไร มีหน้าที่อะไร และควรรับผิดชอบกันอย่างไรบ้าง”
วัฒนา โอภานนท์อมตะ
“ทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือหลักคิดให้ได้”
ผมยกตัวอย่างบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เพราะวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทมีสองข้อมาพร้อมกัน
1.ดูแลความมั่นคงทางด้านปิโตรเลียม ตั้งแต่เมื่อ 28 ปีก่อน ในความหมายของวลีนี้ คืออย่าให้น้ำมันขาดแคลนในประเทศ
2.มีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย นี่เป็นข้อความที่บันทึกในการก่อตั้งบริษัท
มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้บริหารทุกคนเมื่อเข้ามาจะต้องวางกระบวนการกติกาเพื่อตอบโจทย์ทั้งสองข้อนี้ ฉะนั้นถามว่ากระบวนการบริหารอะไรที่ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนา มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่คุณโสภณ สุภาพงษ์ ผู้จัดการใหญ่คนแรกต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ในการที่จะบริหารตัวบางจากให้ได้ผลลัพธ์ทั้งสองอย่าง คือ น้ำมันก็อย่าขาดแคลน และมีส่วนร่วมที่ทำให้สังคมไทยดีขึ้นด้วย ในมิติที่บางจากทำได้ แต่คุณโสภณนำโจทย์มาตีว่าการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยที่เราทำธุรกิจไปด้วยได้เงินไปด้วยโดยไม่ทำให้น้ำมันขาดแคลนในประเทศด้วย แล้วสังคมนี่จะดีขึ้นได้อย่างไร
ฉะนั้น ถามว่าในภาครัฐต้องกลับถามตัวเองตรงจุดนี้ไหม ถ้ากระบวนทัศน์เปลี่ยน แล้วข้าราชการพร้อมที่จะทำตามนโยบาย ก็ถามว่านโยบายคืออะไร ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในจุดเริ่มต้น ผลงานที่เป็นคุณภาพความรับผิดชอบต่อสังคมก็ไม่เปลี่ยนในทางที่ดี
การดำเนินแนวทางที่มุ่งผลลัพธ์ 3 มิติ (Triple bottom line) สามารถครอบคลุมบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
แนวคิดเรื่องความยั่งยืน เราเชื่อเหมือนกันว่าการสร้างความสมดุลของ 3 ด้าน คือ การสร้างคุณค่าที่ดีด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดผลลัพธ์ 3 มิติดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนทั้ง 3 ด้าน
เมื่อพูดถึงความสมดุลในกระบวนการจัดการของภาคธุรกิจเพื่อให้สมดุลจะทำอย่างไร การจัดการภาครัฐที่จะทำให้เกิดความสมดุล ในส่วนที่รับผิดชอบทำคืออะไร ภาคการเมืองในการที่จะสร้างความสมดุลของสามเรื่องนี้ไปพร้อมๆกันในความรับผิดชอบของเขาต้องทำอะไร นักการเมืองก็ต้องคิดเช่นกัน
คำถามคือทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือหลักคิดให้ได้ ต้องกลับมาถามจุดเริ่มต้น ว่าตั้งบริษัทเพื่อมาทำธุรกิจ เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาผ่านกระบวนการบางอย่างจนได้ผลิตภัณฑ์ ได้บริการและประชาชนก็เป็นผู้บริโภค ถามว่าแล้วกระบวนการในธุรกิจและเราทำธุรกิจไปเพื่ออะไร เพื่อเงินหรือเพื่อสังคมที่เราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หรือเราทำธุรกิจเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น
ผมคุยกับรองประธาน CSR Club เป็นระดับบริหารความยั่งยืนอยู่ที่ซีพีเอฟ ผมก็บอกเขาว่าเครือซีพีจะเป็นที่รักของประชาชนมากเลย ถ้าบอกว่า การทำธุรกิจของซีพีเอฟกำลังมุ่งไปสู่เรื่องคุณภาพ สุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น ฉะนั้นนวัตกรรมอาหารที่ซีพีเอฟออกมา คือเพื่อส่งเสริมให้สุขภาพของประชาชนคนไทยดีขึ้น
ทั้งที่ในแง่ของกระบวนการทำธุรกิจจะคิดอีกแบบหนึ่ง ภายใต้หลักว่าการทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่ภาพที่ออกมาจากบทบาทจุดยืนที่ตระหนักในคุณค่าต่อสังคมเป็นวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจที่ดี อย่างนี้มันคนละเรื่องกับการคำนึงถึงตัวเลขผลประกอบการ
กำลังโหลดความคิดเห็น