xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์ผ่านยุทธศาสตร์ CSR ระดับชาติ หวังภาคการเมือง ภาครัฐ ธุรกิจ ปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปวีณา หงสกุล รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันไปร่วมการประชุมการประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ CSR ระดับชาติ
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ CSR ระดับชาติ ผ่านการประชาพิจารณ์ รมว.ปวีณา หงสกุล เตรียมผลักดันเข้า ครม. คาดว่าจะประกาศใช้ต้นปี 2557 ซึ่งจะมีทั้งการส่งเสริมและมาตรการจูงใจ และการยกระดับ CSR ให้ได้มาตรฐานสากลในการปฏิบัติที่ผนึกอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนในอาเซียน
รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ ประธาน CSR เศรษฐกิจพอเพียง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR ) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 และที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบให้ ให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้มอบหมายให้ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) รวมทั้งจัดประชาพิจารณ์ เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม มีความสมบูรณ์ เหมาะสม สามารถใช้เป็นเครื่องมือและกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของชาติ
รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ
การจัดทำประชาพิจารณ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนศกนี้ ปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปเป็นประธาน มีการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าประชุมประมาณ 200 คนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ร่างยุทธศาสตร์ฯ ที่ได้จัดทำขึ้น มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่จะนำไปปฏิบัติให้มากที่สุด เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นแนวทาง ในการปรับปรุงให้ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ และมีภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นอย่างคึกคัก ผู้แทนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนภาคเอกชนและผู้บริหารหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด ผู้แทนจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก องค์กรอิสระ มูลนิธิต่างๆ และสื่อมวลชน
ปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเมื่อผนวกกับการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วทำให้เป็นผลดีต่อประเทศชาติเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มาก และการที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ หรือเพื่อสร้างให้ชุมชนและกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น การช่วยให้สตรีมีความเข้มแข็ง การช่วยยกระดับการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย การสร้างอาชีพ การเสริมสร้างทักษะและความสามารถในด้านต่างๆ การสร้างความเท่าเทียมให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาส และการดูแลสิ่งแวดล้อมจะเท่ากับเป็นการช่วยรัฐในการพัฒนาประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
รศ.ทองทิพภา ชี้แจงว่า ผลที่ได้รับจากการประชาพิจารณ์ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดเป็นที่น่าพอใจยิ่ง ผู้ที่ร่วมประชุมเห็นด้วยในระดับมากที่สุดและเห็นด้วยมาก ทำให้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของ CSR ที่ได้จัดทำขึ้นผ่านการรับรองจากการประชาพิจารณ์ด้วยดี ณ ขณะนี้กำลังสรุปผลส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องจาก รมว.มีความชื่นชมและประทับใจมากที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) การรวมพลังการปฏิบัติจากทุกภาคส่วนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
(CSR) จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ และการแก้ปัญหาต่างๆของสังคมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับ เด็ก สตรี ความยากจน ฯลฯ จึงยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจะนำเสนอยุทธศาสตร์CSR ดังกล่าวต่อคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว คาดว่า เมื่อผ่านการพิจารณาจากครม. และประกาศใช้ได้ในต้นปี 2557
นอกจากนั้น กระทรวงพม.จะส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติจริงด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 14 พย.56 รมว.ปวีณา เชิญแกนนำภาคธุรกิจและ รศ.ทองทิพภา เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน
หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและนำแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)ไปปฏิบัติในกระบวนการทำงาน หรือ CSR-in-process ตามมาตรฐานสากล และมีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัฒนธรรมประเพณีไทยภูมิปัญญาไทยประกอบจะทำให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
จะช่วยสร้างความเป็นเอกลักษณ์/อัตลักษณ์ของไทยในเวทีอาเซียนและเวทีโลก โดยผู้บริหารสามารถกำหนด CSR-in-processให้เป็นกลยุทธ์องค์กร ที่มุ่งเน้นในเรื่องการสร้างความสมดุล มั่นคง ยั่งยืนที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทุกมิติ ทุกระดับ ทำให้องค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมรับการเข้าสู่ประชาสังคมอาเซียน ในปี 2558

ยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR)
เป้าหมายหลัก : เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
๑.ด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน
๒.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการพัฒนาสังคมให้มีความความสมดุล เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้
๓.ด้านการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
๔.ด้านการส่งเสริมบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในเวทีภูมิภาค
เป้าหมายต่อประเด็น ในพิมพ์เขียวการจัดตั้งประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint)
•เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเรื่อง CSR ไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
•พัฒนานโยบายสาธารณะที่เป็นตัวแบบด้าน CSR หรือเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับใช้อ้างอิงในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอาจอ้างถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ISO ๒๖๐๐๐ : แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม
•ผสานภาคเอกชนให้ร่วมสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรรายสาขาของอาเซียนและมูลนิธิอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
•สนับสนุนให้เกิดการรับและนำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากลมาใช้
•เพิ่มการรับรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในอาเซียนไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกิจกรรมเชิงพาณิชย์กับชุมชนในถิ่นที่ตั้ง โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นฐาน

ประเด็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR)

๑.การสร้างวัฒนธรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
๒.การสร้างเอกภาพในการบริหารยุทธศาสตร์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
๓.การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ
๔.การรวมพลังเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงของมนุษย์
๕.การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ระหว่างประเทศ


ยุทธศาสตร์ที่ 1: การสร้างวัฒนธรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
เป้าประสงค์
ประชาชนตระหนักรับรู้ และมีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างเป็นรูปธรรม
กลยุทธ์
๑.สร้างวัฒนธรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ประชาชนทั่วไป ด้วยการเสริมสร้างค่านิยมด้านการมีคุณธรรม ให้มีพฤติกรรมที่ครอบคลุมเรื่องความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การมีจิตอาสาทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม/เพื่อผู้อื่น และมีโครงการชื่นชมยกย่องคนดีด้วยการสื่อสารและรณรงค์สาธารณะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
๒.สร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานสากลภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมดุลและความยั่งยืนขององค์กร เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนในระบบการศึกษา หรือการอบรม สัมมนา วิจัย หรือศึกษาดูงานจากธุรกิจต้นแบบทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
๓.ปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจากภายใน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนทั้งในระดับองค์กรและระดับปัจเจกชน
๔.ส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีการปฏิบัติงานรวมทั้งการดำรงชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้ความพอเพียง เพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ จะได้สร้างประโยชน์สุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นทั้งคนเก่งและคนดี มีคุณธรรม/จริยธรรมและธรรมาภิบาล
๕.ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ เช่น ผ่าน “กองทุนตั้งตัวได้”
๖.ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เยาว์วัย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ยุทธศาสตร์การสร้างเอกภาพในการบริหารยุทธศาสตร์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
เป้าประสงค์
องค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีมาตรฐานและกลไกในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่เป็นสากลและเป็นระบบ
กลยุทธ์
๑.ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานรากในการสร้างเอกภาพของการพัฒนาสังคมและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ให้มีความสมดุล เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
๒.ส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ และมาตรฐานสากลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มาใช้ในการดำเนินงาน ส่งเสริมเครือข่ายความรับผิดชอบของธุรกิจเพื่อสังคม ติดตามและประเมินผลกระทบต่อสังคมจากนโยบายและมาตรการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ รวมทั้งการจัดทำระบบข้อมูลและจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในประเทศไทย
๓.สนับสนุนให้เกิดการรับและนำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากลมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชน และกำหนดให้มีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น
๔.ให้การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2009-2015 (ASCC Blueprint) ภายใต้ความร่วมมือด้านสิทธิและความยุติธรรมทางสังคมในการส่งเสริมความรับผิดชอบของธุรกิจเพื่อสังคมและในด้านต่างๆ
๕.ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและกองทุนอื่นที่เกี่ยวข้องให้นำเงินกองทุนมาใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมให้มีกองทุนของภาคธุรกิจในการส่งเสริมการดำเนินงานดังกล่าว รวมทั้งมีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคม
๖.สนับสนุนวิธีการและระบบมาตรฐานเฉพาะ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ การปฏิบัติภาครัฐที่เป็นธรรม เป็นต้น
๗.ส่งเสริมสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานสากลด้วยมาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางภาษี รวมทั้งด้านการลงทุนสาธารณะที่เชื่อมโยงกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ
เป้าประสงค์
ภาคธุรกิจเจริญเติบโตอย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ จะได้สร้างประโยชน์สุขและความสุขให้แก่องค์กรธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชาติ
กลยุทธ์
๑.ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการนำแนวทางมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในระดับประเทศ และระดับสากลมาใช้ในการดำเนินงาน อาทิ มอก./ISO ๒๖๐๐๐ รวมทั้งข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ UN Global Compact เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม
๒.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในทุกสาขาและทุกขนาด เกิดกระบวนการพัฒนาและยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในกระบวนการและนอกกระบวนการดำเนินงาน
๓.สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้เทคโนโลยีป้องกันและลดมลพิษ หรือเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำหรือปลอดมลพิษ (Zero Waste) การใช้พลังงานสะอาดในการผลิตหรือผลิตผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) หรือเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
๔. ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน สวัสดิการสังคม และเคารพสิทธิมนุษยชนอย่าง เป็นรูปธรรม
๕.พัฒนาศักยภาพด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น มีการเปรียบเทียบ (Benchmarking) บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อให้เป็นพลังผลักดันให้เกิดการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานสากล
๖.กำหนดมาตรการจูงใจภาคภาคธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ได้แก่
-แรงจูงใจทางภาษี ตัวอย่างเช่น ลดภาษีสำหรับการลงทุนที่เป็น ความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ การปรับปรุงที่ทำงานเพื่อพนักงาน การลงทุนเพื่อลดมลพิษ การนับเวลาปฏิบัติงานด้านจิตอาสา (Time Bank) เพื่อการประเมินผลงานในองค์กรและการลดภาษีของภาครัฐ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เป็นต้น
-แรงจูงใจด้านเกียรติยศ/ความภาคภูมิใจ เช่น จัดประกวดให้รางวัลทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล สื่อสารให้สาธารณะได้รับทราบรายชื่อบริษัท/บุคคลที่เป็นต้นแบบ สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้มีการปฏิบัติในวงกว้าง เป็นต้น
๗.ส่งเสริมการจัดทำแนวทางการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างเป็นรูปธรรม
๘.สนับสนุนให้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนแก่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาคบังคับ และส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีการประเมินตนเองภาคสมัครใจ โดยใช้คู่มือตรวจสุขภาพธุรกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Check list)
๙.ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการจ้างงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กิจการขนาดย่อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานและการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพชุมชนในด้านต่าง ๆ
๑๐. รวบรวมเชิดชูต้นแบบการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่ดี เพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การรวมพลังเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงของมนุษย์
เป้าประสงค์
ภาคีเครือข่ายความร่วมมือมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความมั่นคงของมนุษย์อย่างสร้างสรรค์
กลยุทธ์
๑.พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านความรับผิดชอบเพื่อสังคม โดยการส่งเสริมให้มีเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด
๒.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีความรับผิดชอบต่อสังคม จะมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ เพื่อให้มีความสมดุล เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ และมีการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์
๓.สนับสนุนให้เครือข่ายความร่วมมือดำเนินการตามมาตรฐานสากลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
๔.ส่งเสริมองค์กรต่างๆ อาทิ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรธุรกิจและองค์กรเอกชนอื่นๆ ในการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วยความรับผิดชอบของธุรกิจเพื่อสังคม
๕.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีบทบาทในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชน
๖.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในโครงการที่มีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคม สร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสังคม
๗.มีกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อาทิ สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย สนับสนุนให้เกิดตัววัดและตัวชี้วัดเพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบที่มีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ระหว่างประเทศ
เป้าประสงค์
ภาคธุรกิจมีกลไกและเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิบัติความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีอาเซียน และเวทีสากล
กลยุทธ์
๑.พัฒนานโยบายสาธารณะที่เป็นตัวแบบด้าน CSR หรือเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับใช้อ้างอิงในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน
๒.ผสานภาคเอกชนให้ร่วมสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรรายสาขาของอาเซียนและมูลนิธิอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
๓.เพิ่มการรับรู้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในอาเซียนไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกิจกรรมเชิงพาณิชย์กับชุมชนในถิ่นที่ตั้ง
๔.สร้างกลไกความร่วมมือด้านความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างประเทศทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีอาเซียน
๕.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจด้วยความตระหนักถึงจริยธรรมและศีลธรรมในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๖.ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่สากลได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
๗.ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ริเริ่มสร้างสรรค์ในการปฏิบัติความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงรุก
กำลังโหลดความคิดเห็น