•เปิดกรอบรายงานแห่งความยั่งยืน ฉบับใหม่ (G4)
•ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการกำกับดูแลกิจการ
•เน้นจริยธรรม-ความสุจริต-ต่อต้านทุจริต
•ตามติดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
•องค์กรที่เริ่มทำรายงานตามแนว GRI ฉบับ G3.1 ให้ใช้ได้ถึงปี 2558
สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาตามรอยการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน ในหัวข้อ “GRI Global Conference Debrief on Sustainability and Reporting” ถอดรหัสการสร้างองค์กรยั่งยืน ด้วยกรอบการรายงานสากลฉบับใหม่ ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา GRI ได้ยกระดับกรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนเป็นฉบับ G4 และได้ใช้เวทีประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศแนวทางการรายงานฉบับ G4 อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,600 คน จาก 80 กว่าประเทศทั่วโลก
“รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในการเสวนา
ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ
จากการสำรวจข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน พบว่า สามารถให้ผลตอบแทนอยู่เหนือกลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนีอย่าง MSCI World และ S&P 500 ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
หัวใจของการรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI มิได้อยู่ที่การจัดทำเพื่อให้ได้เล่มรายงานเป็นผลลัพธ์หลัก แต่เป็นการใช้กระบวนการของการจัดทำรายงานมาสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรในบริบทของความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ที่ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน แต่ยังรวมถึงลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นบริบทขององค์กรที่ดำเนินกิจการอยู่ในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
สาระสำคัญของการเสวนาดังกล่าว คือ การแนะนำแนวทางการรายงานของ GRI ฉบับ G4 ซึ่งได้มีการปรับปรุงจากฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงถูกใช้อ้างอิงโดยบริษัทในประเทศไทยที่ได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนหรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ GRI ด้วย
ประเด็นใหม่ที่มีในฉบับ G4 คือ การปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อการกำกับดูแล จริยธรรมและความสุจริต ห่วงโซ่อุปทาน การต่อต้านทุจริต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบสามัญของการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่โดยให้ความสำคัญในระดับประเด็น (Aspects)
อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกรื้อและปรับโฉมโดยสิ้นเชิง คือ การเปิดเผยระดับของการรายงาน ที่แต่เดิมกำหนดเหมือนเกรด A, B, C ทำให้เกิดความสับสนว่า เป็นการบ่งบอกถึงคุณภาพของการรายงาน หรือผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน แทนที่จะเป็นปริมาณหรือระดับของการเปิดเผยข้อมูลในรายงานตามแนวทาง GRI โดยในฉบับ G4 นี้ จะใช้การระบุว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ (‘in accordance’ criteria) แนวทางการรายงานของ GRI ในแบบหลัก (Core) หรือแบบรวม (Comprehensive) แทนวิธีการเดิม
ความแตกต่างระหว่างหลักเกณฑ์ทั้งสองแบบ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลทั่วไปในแบบรวม จะเพิ่มรายละเอียดของกลยุทธ์และการวิเคราะห์ การกำกับดูแล จริยธรรมและความสุจริต มากกว่าในแบบหลัก ส่วนการเปิดเผยข้อมูลจำเพาะ ทั้งสองแบบกำหนดให้เปิดเผยแนวการบริหารจัดการเฉพาะประเด็นที่มีสาระสำคัญเท่านั้น
ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลตามตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ในแบบหลัก ให้เปิดเผยอย่างน้อย 1 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นซึ่งถูกระบุว่ามีสาระสำคัญ ส่วนในแบบรวม ต้องรายงานครบทุกตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นซึ่งถูกระบุว่ามีสาระสำคัญดังกล่าว
ส่วนการรับประกันแบบรายงานจากภายนอก (External Assurance) เพื่อเพิ่มเครื่องหมาย ‘ + ’ ต่อหลังเกรดตามแนวทางการรายงานในฉบับ G3 หรือ G3.1 นั้น ในฉบับ G4 นี้ ได้ยกเลิกไปพร้อมกับการให้เกรดเช่นกัน แต่ในตารางดัชนีข้อมูล (Content Index) ได้เพิ่มสดมภ์ (Column) เพื่อให้ระบุว่าข้อมูลที่เปิดเผยส่วนใดบ้าง ได้รับการประกันจากภายนอก
แนวทางการรายงาน ฉบับ G4 ได้ตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ของกระบวนการรายงานและเปิดเผยข้อมูล โดยใช้เกณฑ์ “Report on what really matters and where it matters” ที่เปิดทางให้องค์กรสามารถใช้การรายงานดังกล่าว พัฒนารูปแบบรายงานในรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ อาทิ รายงานแบบเบ็ดเสร็จ ตามกรอบแนวทาง Integrated Reporting ของ IIRC ให้แก่นักลงทุนที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนและการสร้างมูลค่าในระยะยาว
สำหรับองค์กรที่เพิ่งศึกษาหรือริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทาง GRI ฉบับ G3.1 องค์กรนั้นยังสามารถดำเนินการตามกรอบการรายงานฉบับ G3.1 ไปได้อีกสองรอบการรายงาน (จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2558) หลังจากนั้น GRI จึงจะยกเลิกแนวทางการรายงานฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน
ในงานเสวนา ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาและเครื่องมือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่องความยั่งยืนและการจัดทำรายงานในระดับโลก แนวโน้มของ External Assurance และการปรับปรุงกระบวนการรายงานด้วย GRI Taxonomy โดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่และกิจกรรมคู่ขนาน ทั้งใน Plenary Meeting ใน Master Class Training และในช่วง Regional Presentation เพื่อรวบรวมเนื้อหาและข้อมูลสำคัญๆ จากเวทีประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม นำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้
พัฒนาการแนวคิดการรายงานความยั่งยืน (GRI)
ในวงการโทรคมนาคม การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยในปัจจุบัน อยู่ภายใต้ระบบ 3G ที่ย่อมาจาก "3rd Generation" หรือเป็นยุคที่ 3 ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ย้อนกลับไปในอดีต เครือข่าย 1G ถือกำเนิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2522 เมื่อ NTT Docomo ได้เปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เชิงพานิชย์ครั้งแรกของโลกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้สัญญาณแบบแอนะล็อก ถัดมาในปี พ.ศ. 2534 ระบบเครือข่ายโทรศัพท์ 2G แบบดิจิทัล GSM ซึ่งมาพร้อมกับการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ นอกเหนือจากเสียง ก็ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศฟินแลนด์
จากนั้นอีกไม่นาน (พ.ศ. 2544) เครือข่ายยุค 3G ที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูง ก็เกิดขึ้น แต่ได้มายกระดับใช้กันอย่างแพร่หลายจริงๆ ก็ในปี พ.ศ. 2551 และในปัจจุบันได้มีการพูดถึงเครือข่าย 4G ที่เป็นเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงชนิดพิเศษ สามารถรับส่งข้อมูลได้ในอัตราความเร็วที่สูงถึง 100 Mbps ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ให้บริการรายหนึ่ง ก็ชิงเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
ความคล้ายคลึงในการลำดับตัวเลขยุคของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานที่พัฒนาขึ้นโดย “องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) หรือ Global Reporting Initiative ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย Ceres ได้นำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเรียกว่า ฉบับ G1
ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ.2545 GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ นครโจฮันเนสเบอร์ก และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งยกร่างโดยผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐได้มีส่วนร่วม
กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 จนมาล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา GRI ได้ยกระดับกรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนเป็นฉบับ G4