TIPMSE (ทิปเอ็มเซ่) เปิดฉากปี 57 จับมือ มูลนิธิ 3R พร้อมด้วย เทศบาลนครอุดรธานี เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และ ชุมชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานี นำร่องผุดแหล่งเรียนรู้เครือข่ายสังคมรีไซเคิล และ ร้านศูนย์บาทแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ เทศบาลนครอุดรธานี พร้อมผลักดันสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้ของภาค นับเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งที่ 5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เนื่องจากเทศบาลนครอุดรธานี เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ 47.70 ตารางกิโลเมตร มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์จำนวน 134,133 คน ไม่รวมประชากรแฝงซึ่งมีมากกว่าหนึ่งแสนคน ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยตามา ซึ่งเทศบาลนครอุดรธานี ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดการขยะในชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 โดยปัจจุบันมุ่งผลักดันให้เกิดเป็น ’ชุมชนปลอดขยะ’ และตั้งเป้าหมายให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการปฎิบัติ และติดตามผล
ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้เกิดการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในปี 2556 เทศบาลอุดรธานี จึงได้จัดทำโครงการประกวดชุมชนปลอดขยะในพื้นที่เทศบาล ซึ่งมีชุมชนที่ส่งเข้าประกวดจำนวน 60 ชุมชน โดยแบ่งกลุ่มชุมชนที่เข้าประกวดเป็นขนาด S, M และ L โดยชุมชนที่ชนะประกวดจะมีจุดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป ซึ่งในเทศบาลนครอุดรธานีมีชุมชนกว่า 101 ชุมชน แต่ละชุมชนล้วนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน จึงทำให้รูปแบบที่เกิดขึ้นเหมาะสมที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าไปศึกษาดูงานเพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้ได้
ในการเข้าไปศึกษาดูงานภายในแหล่งเรียนรู้เครือข่ายสังคมรีไซเติล เทศบาลนครอุดรธานี สามารถเดินตามเส้นทาง Green Routing ซึ่งประกอบด้วยฐานการเรียนรู้รวม 7 สถานี ดังนี้
1. ชุมชนโนนอุทุมพร เป็นชุมชนนำร่องแห่งแรกในการแก้ปัญหาขยะของเทศบาบลอุดะานี ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจการใช้วัสดุรีไซเคิลลดค่าครองชีพในรูปแบบของร้าน 0 บาท และอื่นอีกมากมาย จึงทำให้เทศบาลฯ ยกระดับให้ชุมชนแห่งนี้เป็นต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นๆ ในการดำเนินการจัดการขยะต่อไป
2. ชุมชนพิชัยรักษ์ มีจุดเด่นคือ การเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยจัดตั้บศูนย์รับซื้อและรับบริจาคในร้านค้าโรงเรียน รวมถึงการส่งเสริมการปลูกผักริมรั้วในชุมชน
3. ชุมชนดอนอุดม 3 มีจุดเด่นคือ การเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยการทำน้ำหมักชีวิภาพและปุ๋ยหมัก การจัดตลาดนัด 0 บาท (เดือนละ 1 ครั้ง) รวมถึงการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
4. ชุมชนศรีสุข มีความโดดเด่นในการอยู่ร่วมกันของหลายเชื้อชาติ ทั้ง ญวน ลาว แขก และไทย ทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่สามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันได้
5. ชุมชนโพธิสมภรณ์ / คลองเจริญ 2 มีจุดเด่นในการจัดการขยะด้วยหลักการ 3R คือ การลดการใช้ การใช้ซ้ำ แลฃะการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว และเป็นชุมชนพี่เลี้ยงให้กับชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับอีก 4 ชุมชน
6. ชุมชนดอนอุดม 2 มีจุดเด่นคือ การจัดการวัสดุรีไซเคิล ด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือนและกิจกรรมร้าน 0 บาท และกิจกรรม ฌาปนกิจ 0 บาท คือ เอาวัสดุรีไซเคิลมาเป็นค่าฌาปนกิจ
7. ชุมชนศรีชมชื่น 2 มีจุดเด่นคือการส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน การนำขยะอินทรีย์กลับมาฝช้ประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ยหมัก และต่อยอดโดยการนำมาใช้กับการปบูกผักไร้ดิน
สำหรับการเดินทางมาเยี่ยมชมชุมชนนำร่องแห่งแรกในการแก้ปัญหาขยะของเทศบาลนครอุดรในครั้งนี้ ทำให้ได้พบปะพูดคุยกับ คุณแม่วรรณา บุญเหลา อายุ 67 ปี หนึ่งในประชากรของชุมชนคลองเจริญ 2 ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ...
“เมื่อก่อนเราต้องนำขวดน้ำ หรือขยะมูลฝอยของที่บ้านไปขายยังร้านซึ่งอยู่ไกลจากชุมชนฯ ที่เราอยู่ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องไปไหนไกลแล้ว แค่เดินมาที่ร้านศูนย์บาทในชุมชนคลองเจริญ 2 ก็สามารถนำสินค้ามาขายได้ โดยนำขยะมาชั่งน้ำหนักตามราคามาตรฐานของสินค้าที่ถูกกำหนดไว้โดยร้านรับซื้อของเก่า จังหวัดอุดรธานี และเรายังสามารถนำคูปองเงินที่ได้มาแลกซื้อสินค้าได้อีกต่อหนึ่งด้วย
อย่างวันนี้ตนนำขวดน้ำพาสติกมาขายที่ร้านศูนย์บาทได้คูปองเงินมาจำนวน 15 บาท จึงนำมาแลกซื้อผักคะน้าราคาถุงละ 5 บาทได้ 3 ถุง ทำให้ตนมีผักที่จะนำไปทำกับข้าวสำหรับรับประทานกันในมื้อเย็นนี้แล้ว (เธอพูดพร้อมยื่นถุงผักคะน้าออกมาให้ดูด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ) ก่อนเล่าต่อว่า...และในชุมชนของเราก็ยังมีโครงการ ‘คลองสวยน้ำใส’ ซึ่งได้จัดทำขึ้นจากแนวคิดของ พันตำรวจโท จำรัส อ่อนผิว ซึ่งเป็น ประธานของชุมชนคลองเจริญ 2 อีกด้วย”
สำหรับในส่วนของ TIPMSE วีระ อัครพุทธิพร รองประธานกรรมการบริหาร สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) เปิดเผยว่า...
“ปัจจุบัน TIPMSE ได้ดำเนินการเปิดแหล่งเรียนรู้เครือข่ายสังคมรีไซเคิลและร้านศูนย์บาทได้ครบทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว โดยล่าสุดได้เปิดตัวแหล่งเรียนรู้แห่งที่ 5 ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี ที่ได้มีการจัดทำในรูปแบบของแหล่งเรียนรู้เส้นทางสีเขียว (Green Routing) โดยเริ่มจากชุมชนที่มีความพร้อมทั้งหมด 7 ฐานก่อน ท่ามกลางกระแสการต้อนรับที่อบอุ่นอย่างมากจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ จ.อุดรธานี โดยปัจจุบันเทศบาลนครอุดรธานีมีปริมาณขยะเฉลี่ยที่ 180-200 ตันต่อวัน"
ทั้งนี้ TIPMSE ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการขยายผลในเชิงรุกมาสู่การสร้างต้นแบบแหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิล (TIPMSE Learning Center) โดยการยกระดับเครือข่ายสู่การเป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะ และวัสดุรีไซเคิล ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานและเรียนรู้ให้กับเครือข่ายใหม่ที่ให้ความสนใจ รวมถึงจะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงกิจกรรมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ชุมชน เทศบาล สถานประกอบการ โรงเรียน วัด เป็นต้น ปัจจุบันการดำเนินการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ สามารถดำเนินการในพื้นที่ 3 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง รวม 2 แห่ง คือ ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ กทม. และชุมชนเคหะดินแดง กทม. ภาคเหนือ ที่ชุมชนบ้านวังฆ้อง จ.น่าน และ ภาคใต้ ที่เทศบาลตำบลควนโดน ชุมชนควนโดน ใน จ.สตูล ซึ่งเหลือในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแห่งสุดท้าย ดังนั้น สถาบันฯ จึงเร่งที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ครบใน 4 ภาค เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ...การสร้างต้นแบบ สู่การขยายผล ให้เกิดสังคม รีไซเคิลไปทั่วประเทศไทย โดยล่าสุดได้ดำเนินการเปิดเป็นผลสำเร็จที่ จ. อุดรธานีแห่งนี้