xs
xsm
sm
md
lg

TIPMSE ชี้คนไทยขาดใส่ใจ “คัดแยกขยะ” แนะศึกษา “วิถีสังคมรีไซเคิล 4 ภาค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากพูดถึง “การรีไซเคิล” ประชาชนส่วนมากเข้าใจ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่ตระหนัก ไม่ได้ใส่ใจ “การคัดแยกขยะ” ตั้งแต่ต้นทาง วัสดุรีไซเคิล จึงไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการได้มากนัก
ร้าน 0 บาท ที่ชุมชนควนโดนใน
เป็นเวลากว่า 7 ปี ที่สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) องค์กรที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิผลสูง คือการนำวัสดุที่ถูกทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยการสนับสนุนขององค์กรภาคเอกชน 20 แห่ง โดยสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ในเบื้องต้นเท่านั้น คือการสร้างโมเดลต้นแบบของการจัดการขยะในภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา กลุ่มอาชีพซาเล้ง เป็นต้น
ยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา
“ในปีนี้เราพยายามส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิล 4 ภาค ซึ่ง ล่าสุด ได้เปิดแหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิล แห่งที่ 4 ในภาคใต้ ที่ชุมชนควนโดนใน เทศบาลตำบลควนโดน จังหวัดสตูล สำหรับใช้เป็นต้นแบบ แล้วนำกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้” ยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าว

แหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิล ณ ชุมชนควนโดนใน
เกิดจากจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลควนโดน ชุมชนควนโดนใน และ TIPMSE ถ้าใครมาที่นี่จะได้เรียนรู้เรื่องการรีไซเคิลอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความรู้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร รวมถึงได้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ชุมชนมีความเข้มแข็งในการร่วมมือกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตนเอง
ตั้งแต่ปี 2549 ทางเทศบาลตำบลควนโดน ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน โดยให้ทางชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การวางแผน ปฏิบัติ และติดตามผล โดยมีเป้าหมายในการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งนี้ มี 3 ภาคีเข้ามามีส่วนร่วม คือ ภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลตำบลควนโดน สำนักงานทรัพยากรฯ สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด ภาคประชาชน ได้แก่ ชุมชน อสม. และอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน โดยในปีนี้ TIPMSE เข้ามานำเสนอแนวคิดเพื่อผลักดันจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิลแห่งแรกของภาคใต้
ปุ๋ยอินทรีย์ ผลผลิตจากการเปลี่ยนขยะ
ทั้งนี้ ภายในแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ มี 3 ฐานหลัก คือ
ฐานแรก การจัดการขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) ประกอบด้วย 7 ฐานย่อย ได้แก่ ธนาคารวัสดุรีไซเคิล แก๊สชีวภาพครัวเรือน แก๊สชีวภาพชุมชน แก๊สชีวภาพในกลุ่มอาชีพ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักอินทรีย์ และขยะอันตรายชุมชน ฐานแห่งนี้ผู้ไปศึกษาจะได้รู้การจัดการขยะประเภทต่างๆ ทั้งขยะอินทรีย์ วัสดุรีไซเคิล และขยะอันตราย รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำขยะอินทรีย์มาหมัก ทำปุ๋ย ไบโอแก๊ส ปุ่ยน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น
ฐานที่ 2 ธุรกิจชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Zero Baht) ประกอบด้วย 4 ฐานย่อย ได้แก่ ร้าน 0 บาท (ร้านค้าร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก) ร้านค้าขยะรีไซเคิลแลกค่าธรรมเนียม ร้านค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม และกาแฟโบราณ ที่ฐานนี้แสดงให้เห็นต้นแบบของธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ฐานที่ 3 เรียนรู้วิถีชุมชนแบบพอเพียง (Zero Eco-Tour) ประกอบด้วย 6 ฐานย่อย ได้แก่ ห้องเรียนสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิลและมุมเรียนรู้ ที่ทำการชุมชนควนโดนใน ระบบประชาสัมพันธ์ชุมชน ผักสวนครัว ผักปลอดสารพิษ ศูนย์ไอซีทีชุมชน และสวนสมุนไพรชุมชน ที่ฐานนี้จะเห็นถึงแนวทางหลากหลายที่มุ่งสร้างแบบอย่างให้แก่คนในชุมชนและนอกชุมชนได้นำความรู้กลับไปประยุกต์ใช้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้อำนวยการ TIPMSE ย้ำว่า “การรีไซเคิลนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตนเอง องค์กร และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยกันลดวิกฤตจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากการรีไซเคิลมีการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบการผลิต มีการลดใช้พลังงานในกระบวนการผลิต อย่างการผลิตแก้ว หากต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติก็ต้องนำทราย สารเคมี แร่อื่นๆ มาหลอมรวมกันใหม่เพื่อให้เป็นน้ำแก้ว แต่หากใช้เศษแก้วแทนจะใช้อุณหภูมิสำหรับผลิตต่ำกว่า ส่วนวิธีการกำจัดขยะโดยการฝังกลบ หรือเผา ถ้ามีการรีไซเคิลมากขึ้นก็จะช่วยลดขยะ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการก่อก๊าซเรือนกระจกด้วย”

การรีไซเคิลไทยไปถึงไหน ?
ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าประเทศไทยมีขยะรวมทั้งประเทศกว่า 15.3 ล้านตัน ขณะที่ได้สำรวจพบว่าคน 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1 กิโลกรัม ประกอบด้วยวัสดุรีไซเคิลประมาณ 0.4 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 2 บาท และขยะอินทรีย์ 0.5 กิโลกรัม ซึ่งหากนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ก็จะได้เงิน 2 บาท กล่าวได้ว่าในแต่ละวัน คนทิ้งขยะซึ่งเท่ากับทิ้งเงินไป 4 บาท
ส่วนด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลนั้นไม่แตกต่างจากในต่างประเทศ บ้านเรามีเทคโนโลยีที่สามารถรีไซเคิลได้หลายประเภท แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ กระบวนการเก็บรวมรวมวัสดุรีไซเคิลที่เกิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงประชาชน ยังถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ หากจะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศในแถบยุโรป อเมริกา หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ในเอเชีย ก็มีญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัญหาหลักอยู่ที่ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนไม่ค่อยให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้วัสดุรีไซเคิลที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น