xs
xsm
sm
md
lg

ปูนลำปาง โชว์แบบอย่าง “โรงงานสีเขียว” ฉลองเอสซีจี 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หรือปูนลำปาง จัดกิจกรรม “เปิดบ้านปูนลำปาง สร้างสรรค์สิ่งดี เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าเยี่ยมชมนวัตกรรมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Manufacturing ซึ่งนับว่าเป็นแบบอย่างของอุตสาหกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคมได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน เนื่องในโอกาสครบรอบเอสซีจี 100 ปี
สุธี สุธนรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หรือปูนลำปาง ให้การต้อนรับ ธานินทร์  สุภาแสน  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อร่วมฉลองครบรอบเอสซีจี 100 ปี ในงาน “เปิดบ้านปูนลำปาง สร้างสรรค์สิ่งดี เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ความมุ่งมั่นของปูนลำปางมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างแบบอย่างการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการทำเหมืองหินปูนสมัยใหม่ หรือ Semi-open Cut Mining ซึ่งเป็นการทำเหมืองจากด้านในภูเขา โดยเจาะเป็นบ่อลึกลงไปแล้วรักษาแนวขอบภูเขาไว้เป็นแนวกำแพงธรรมชาติ เพื่อป้องกันเสียงจากการทำงาน ฝุ่น ความสั่นสะเทือน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
รวมถึงช่วยรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ เพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการทำเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน รวมถึงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงทุนระบบ Waste-Heat Power Generation (WHG) โดยนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า สามารถทดแทนปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานได้มากถึง 30% และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
สุธี สุธนรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด
สุธี สุธนรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เล่าว่า “ทุกวันนี้อุตสาหกรรมต่างให้ความสำคัญกับการจัดการและการดูแลกระบวนการผลิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลชุมชนรอบโรงงาน และตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วย
ปูนลำปาง จึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนอกจากจะสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแล้ว เรายังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืนอีกด้วย”
โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต”
หนึ่งในความมุ่งมั่นของปูนลำปางจึงแสดงถึงความจริงจังจริงใจในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนนั่นก็คือ โครงการการบริหารจัดการน้ำ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน และน้ำเสีย
นอกจากจะเป็นตัวอย่างดีๆ ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังมุ่งสร้างความสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมอย่างพอเพียงและยั่งยืน
วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของเอสซีจีอธิบายการทำงานของปูนลำปาง
โครงการนี้ได้ส่งเสริมให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมอนุรักษ์น้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ คืนความสมดุลสู่ธรรมชาติ และต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยปูนลำปางได้ดำเนินการตามแนวทางของเอสซีจี โดยน้อมนำแนวคิดด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เพื่อร่วมแก้ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน น้ำเสีย คืนคุณภาพชีวิตที่ดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างฝายชะลอน้ำในชุมชนของตนเอง ตามหลักการ “สร้างฝายในใจคน” ซึ่งนอกจากสร้างฝายชะลอน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
จากการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ปูนลำปางยังมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการร่วมกัน และพัฒนาสู่ชุมชนต้นแบบที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นได้ พัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ล่าสุด ได้มีการจัดตั้ง “โรงสีข้าวกล้องเพื่อชุมชนตำบลบ้านสา” ดำเนินการสีข้าวกล้องเพื่อบริโภคและจำหน่าย โดยเกิดจากแนวคิดส่งเสริมให้ชุมชนดูแลสุขภาพโดยการรับประทานข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นการส่งต่อแนวทางการบริหารจัดการสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนจากชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่ได้ก่อตั้ง “วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม บ.สามขา” ดำเนินการก่อตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าของประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ และ เอสซีจี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา
การสร้างฝายชะลอน้ำในโครงการ
“วันนี้ปูนลำปางได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างแบบอย่างอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อรวมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข” สุธี กล่าวในที่สุด
ผู้นำชุมชนเล่าถึงประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากการสร้างฝายชะลอน้ำ
เอสซีจี พร้อมเติบโตร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่ต้องสร้างรายได้และผลกำไรตอบแทนผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมเปรียบเหมือนเพื่อนบ้านที่อุตสาหกรรมต้องดูแลด้วยความจริงใจ โดยสิ่งที่สังคมต้องการนั้นไม่ใช่แค่การทำโครงการที่ไม่มีความต่อเนื่องหรือเพียงแค่การบริจาค แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและชุมชนอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือต้องอาศัยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2456 ถึงปัจจุบัน เอสซีจี หนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก 1 ในอุดมการณ์ 4 ของเอสซีจีที่ว่า “ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม” โดยเห็นได้จากรางวัลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้รับจากหลากหลายสถาบัน รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนถึงวันนี้ เอสซีจีดำเนินธุรกิจมาครบ 100 ปี กำลังก้าวสู่ศตวรรษต่อไปอย่างมั่นคง และแน่นอนว่าบริษัทฯ ยังคงประกาศเจตนารมณ์ที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น