xs
xsm
sm
md
lg

ติดอันดับ DJSI-CSR....แล้วไง / สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกวันนี้ดูเหมือนผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะต้องปรับหลักคิดและแนวปฏิบัติให้เข้ากับกระแสคาดหวังเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR (Corporate Social Responsibility)
แต่จะมีความเชื่อหรือมีการปรับหลักคิดว่า “กำไรสูงสุด ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย” เพราะต้องคำนึงถึงการสร้างคุณประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในกระบวนการธุรกิจอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่แสดงออกเพื่อหวังผลการประชาสัมพันธ์เท่านั้น
ยิ่งถ้าคิดฝังหัวแนวทุนนิยมยุคเก่า ผู้บริหารก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของเป็นเป้าหมายเดียว จนบางรายถึงกับใช้วิธีการ “สามานย์” ก็ตาม
แต่เพราะหลักคิดของผู้นำธุรกิจใฝ่ดีในโลกทุนนิยมได้ตกผลึกความรู้ว่า การบริหารต้องพัฒนาทั้งระบบการจัดการและสร้างคน อย่างมีนวัตกรรมให้กิจการก้าวหน้าและยั่งยืนไปพร้อมกับการดูแลส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดร.อัญญา ขันธวิทย์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยยืนยันด้วยผลการวิจัยว่า กิจการต้องเริ่มต้นด้วยการใช้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรให้ผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมายหรือเหนือกว่าเป้าหมายนำไปสู่มูลค่าเชิงเศรษฐกิขแก่ผู้ถือหุ้นในระดับสูงและอย่างยั่งยืนได้ กิจการนั้นต้องมีการกำกับดูแลกิจการหรือมี CG ที่ดี (Good Corporate Governance) พร้อมกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR
สอดคล้องกับกระแสสากลที่ต้องการเห็นความยั่งยืน (Sustainability) ของกิจการแทนคำว่าเติบโต (Growth) ซึ่งอาจผันผวนและไม่แน่นอน
ในระดับโลกจึงมีการคัดเลือกบริษัทชั้นนำเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนที่เรียกว่า ESG Index หรือ Sustainability Index ประเมินคุณค่าจากข้อมูลของกิจการที่เปิดเผยในการรายงานต่อสาธารณะ เกี่ยวกับบทบาทที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)
อย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกามีดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ DSSI World (Dow Jones Sustainability World Index) ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 10 ของบริษัทใหญ่ที่สุดจาก 77 ประเทศ (ประมาณ 3,000 บริษัท) โดยคัดที่ได้คะแนะด้านความยั่งยืนสูงสุดจากบทบาทการมี CSR จาก 3 หมวด คือ สิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) บรรษัทภิบาล (G)

หลายปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ได้ผ่านการประเมินจากข้อมูลและการตอบแบบสอบถามได้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI World มี 2 บริษัท คือเครือซิเมนต์ไทย (SCG) และปตท.
แต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ศกนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้แจ้งว่า S&P Dow Jones ผู้จัดทำกลุ่มดัชนีความยั่งยืน Dow jones Sustainability Indices (DJSI) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI เพิ่มอีก 2 บริษัทได้แก่ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) อยู่ในกลุ่ม DJSI World และบมจ.ไทยออยล์ (TOP) เข้าอยู่ในกลุ่ม DJSI Emerging Markets ซึ่งเป็นดัชนีที่เริ่มมีขึ้นในปีนี้สำหรับกลุ่มตลาดเกิดใหม่
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งพยายามส่งเสริมให้มีบริษัทไทยติดอันดับโลกเพิ่มขึ้นก็คงยังลุ้นต่อว่าอีกประมาณ 10 บริษัทที่ได้รับเชิญให้ตอบแบบสอบถามไปให้ DJSI ประเมินเพื่อคัดเลือกจะสมัครใจและเกิดผลแค่ไหน
การมีเครื่องชี้วัดประเมินความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะเป็นข้อมูลเพิ่มความน่าสนใจแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น
ต่อไปถ้าตลาดทุนมีความเชื่อในคุณลักษณะที่ดีของกิจการ เครื่องมือชี้วัดที่มีเช่นนี้ย่อมสามารถส่งผลดีต่อปริมาณและราคาการซื้อขายหุ้นที่โดดเด่นเหล่านี้ได้
ส่วนการมอบรางวัลด้าน CSR แก่บริษัทจดเทะเบียนก็คล้ายการประกวดรายงานด้าน CSR นั่นเอง ซึ่งก็เป็นวิธีการชี้วัดระดับคุณภาพ CSR และอนาคตอันใกล้ ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมจัดทำดัชนี CSR ของบริษัทจดทะเบียนเรียกว่า SETSI ทำนองเดียวกับ DJSI นี่แหละ

จังหวะเหมาะที่ผมได้อ่านบทความเสนอผลการวิจัยของดร.อาณัติ ลีมัคเดช ในวารสารบริหารธุรกิจของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่มใหม่ ฉบับ 134 เรื่อง “การส่งสัญญาณด้วยรางวัลรับผิดชอบต่อสังคม : กรณีศึกษาของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”
งานวิจัยนี้ตั้งคำถาม 2 ประเด็น คือ 1.กิจกรรม CSR ที่บริษัทจดทะเบียนทำอยู่นั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ 2.กรณีมีปัญหาความเห็นขัดแย้งระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัทจดทะเบียน กรณีเช่นนี้ สามารถใช้การเข้าร่วมประกวดรางวัล CSR เพื่อสื่อสัญญาณว่าบริษัทมีธรรมาภิบาลได้หรือไม่
ผลการวิจัยพบว่า บริษัทที่มีปัญหาตัวแทนสามารถใช้การเข้าร่วมประกวด CSR ส่งสัญญาณว่าบริษัทมีธรรมาภิบาลเพิ่อลดปัญหาระหว่างตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ โดยพบว่าราคาและปริมาณซื้อขายหุ้นของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนบริษัทที่ไม่มีปัญหาตัวแทนแต่เข้าร่วมประกวด CSR และได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้าย ผลการศึกษาไม่พบว่าราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการศึกษานี้สามารถใช้เป็นแนวทางแก่ผู้กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ได้ว่า กิจกรรม CSR นั้นไม่ได้บ่งชี้ระดับธรรมาภิบาลของบริษัทเสมอไป จึงควรให้ความสำคัญกับกิจกรรม CSR ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบริษัทและสร้างมูลค่าควบคู่กับประเด็นด้านสังคมพร้อมกันไปด้วย
ส่วนบริษัทที่บริหารโดยครอบครัว ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นก็ยังคงสามารถใช้การดำเนินกิจกรรม CSR เป็นเครื่องมือส่งสัญญาณเพื่อให้นักลงทุนเห็นความแตกต่างจากบริษัทครอบครัวอื่นๆ ได้ว่าเป็นบริษัทที่ดีและไม่ได้มีการยักย้ายถ่ายเทความมั่งคั่งจากผู้ถือหุ้นที่มิใช่ผู้บริหารหรือครอบครัว สู่ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและครอบครัว
ในประเด็นนี้อาจพิจารณาได้ว่า บริษัทต้องการส่งสัญญาณสะท้อนธรรมาภิบาลของบริษัท เพื่อลดปัญหาข้อมูลที่มองไม่ตรงกันระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นรายย่อย เนื่องจากการเข้าร่วมประกวดรางวัล CSR เป็นความสมัครใจและมีต้นทุนในการจัดทำข้อมูล และรายงานตลอดจนความเสี่ยงในการเปิดเผยข้อมูลธุรกิจแก่คู่แข่ง การส่งสัญญาณด้วยวิธีนี้จึงน่าเชื่อถือ
ผลลัพธ์ของการจัดระดับดัชนีและการมอบรางวัลจึงมีความหมาย นักลงทุนจึงให้ความสนใจกับบริษัทกลุ่มนี้ที่ใช้ CSR และทำให้สภาพคล่องการซื้อขายหุ้นของบริษัทสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น

ข้อคิด...
จากผลการศึกษาของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ข้างต้นได้ให้ข้อคิดว่า “การที่กิจการประชาสัมพันธ์บทบาทการดำเนินกิจการม CSR นั้น มิได้บ่งชี้ระดับธรรมาภิลาลของบริษัทเสมอไป”
ขณะที่ระบบการประเมินและชี้วัดจากการจัดทำดัชนีหลักทรัพย์เพื่อความยั่งยืน หรือการประกวดบริษัทจดทะเบียนยอดเยี่ยมด้าน CSR ก็ล้วนเป็นผลจากข้อมูลรายงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Report) หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) รวมทั้งการประเมินจากการตอบแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ผู้บริหารในสายงานที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนการประกาศผลยกย่องดังกล่าวย่อมเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อกิจการที่ติดอันดับความมีมาตรฐานสากล มีผลต่อความน่าเชื่อถือของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งสมควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่วงการ
แต่เมื่อมีกรณีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเชิงลบด้านใดใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และบรรษัทภิบาล (G) ดังเช่นบริษัทในเครือกลุ่มปตท.ที่เผชิญกับปัญหาเหตุการณ์ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ตามการรับรู้ของสังคมที่ท้าทายต่อภาพลักษณ์เชิงบวกจากการยกย่องดังกล่าว นี่ย่อมเป็นสิ่งที่องค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ของประเทศที่มีความพร้อมทั้งคน เงินและระบบการบริหารจัดการ ที่จะแสดงความมุ่งมั่น จริงใจ ต้องตรวจทานจุดยืนและแนวปฏิบัติตามหลักการ CSR ที่แท้จริง และดำเนินการสื่อสาร CSR เพื่อยืนยันภาพลักษณ์องค์กรที่ดีมี CSR และธรรมาภิบาล เพื่อให้ภาพในความคาดหวังของสังคมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น