แบบบ้านได้ออกแบบให้ใช้สอยพื้นที่อย่างเต็มที่ ใช้หลักการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นการอาศัยอยู่กับน้ำแต่ดั้งเดิมมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน “บ้านสะเทินน้ำสะเทินบก” โดย การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่เสร็จสมบูรณ์ และใช้เป็นต้นแบบบนพื้นที่โครงการบ้านเอื้ออาทรอยุธยา (โรจนะ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยทางเลือกในยามเกิดอุทกภัยซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่มีความเสี่ยงสูง
“การเคหะแห่งชาติในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย หาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากเกิดอุทกภัย จึงร่วมกับบริษัท ไซต์ สเปซิฟิค จำกัด ดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีระบบก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำเร็จรูปเมื่อเกิดภัยพิบัติ: กรณีการออกแบบบ้านสะเทินน้ำสะเทินบก หรือ Amphibious House และนำมาซึ่งการก่อสร้างบ้านต้นแบบ ณ โครงการบ้านเอื้ออาทรอยุธยา (โรจนะ) หนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย” บุญจิตร โล่วงศ์วัฒน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการก่อสร้าง การเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงที่มาของการสร้างแบบบ้านสะเทินน้ำสะเทินบก สืบเนื่องจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ความพิเศษของต้นแบบบ้านหลังนี้ วีรยุทธณ์ พิทักษ์ธนางกูร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการก่อสร้าง การเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ต้นแบบบ้านสะเทินน้ำสะเทินบกได้ออกแบบให้โครงสร้างบ้านมีรูปลักษณ์เช่นเดียวกับบ้านทั่วไป มีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง ใช้ระบบการก่อสร้างแบบกึ่งสำเร็จรูป (Prefab Construction) แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วน คือ ก่อสร้างบนพื้นที่จริง ได้แก่ งานตีผัง งานโครงสร้างใต้ดิน งานตอกเสาเข็ม งานขุดดินเพื่อทำฐานรากของบ่อ ฐานรากรับเสาของบ้าน งานกำแพงกันดิน ควบคู่ไปกับการก่อสร้างในโรงงาน ได้แก่ งานผลิตชิ้นส่วนอาคาร ผนัง ประตู หน้าต่าง แล้วจึงเคลื่อนย้ายมาประกอบติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ราคาค่าก่อสร้างบ้านพักอาศัย (ไม่รวมโครงสร้างใต้ดิน) ประมาณ 1.5 - 1.7 ล้านบาท
ทั้งนี้ น้ำหนักรวมของบ้านออกแบบไว้ประมาณ 70 ตัน การลอยตัวของบ้านใช้หลักการทดแทนที่น้ำ โดยใต้ตัวบ้านขุดบ่อลึกประมาณ 2 เมตร และติดตั้งทุ่นลูกบาศก์ขนาด 1.20 x 1.20 x 1.20 เมตร จำนวน 43 ทุ่น มีเสาประคอง 8 ต้น ใต้ฐานบ้านที่มี Platform ขนาด 8 x 12 เมตรรองรับ ส่งผลให้ตัวบ้านสามารถลอยขึ้นตามระดับน้ำเมื่อเกิดอุทกภัยสูงสุดได้ประมาณ 5 เมตร ซึ่งตัวบ้านเมื่อวัดจากระดับพื้นดินจะมีความสูงประมาณ 7 เมตร ระบบต่างๆ มีอายุการใช้งานโดยรวมประมาณ 5 -10 ปี ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คนอาศัยอยู่กับน้ำได้อย่างปลอดภัย
ทางด้าน ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ หัวหน้าสำนักงาน บริษัท ไซต์ สเปซิฟิค จำกัด กล่าวเสริมว่า รูปแบบบ้านสะเทินน้ำสะเทินบกได้ผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรอยุธยา (โรจนะ) เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็น โดยมีแนวคิดก่อสร้างเป็นเอกลักษณ์แบบไทยแต่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน อาทิ มีชานบ้าน ออกแบบครัวให้เปิดโล่ง เปิดช่องตรงกลางชั้น 2 ของบ้านให้โล่ง เพื่อลมสามารถผ่านได้ยามเกิดพายุป้องกันการโคลงเคลงของตัวบ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ได้อย่างสบายและปลอดภัยในยามเกิดอุทกภัย
นอกจากนื้ ในยามเกิดอุทกภัยสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ น้ำ อาหาร และแสงสว่าง บ้านหลังนี้จึงถูกออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและสภาพภูมิอากาศ มีระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) จำนวน 1 แผง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ราว 8 ชั่วโมงต่อการเก็บพลังงานหนึ่งรอบ ทั้งยังได้ติดตั้งระแนงไม้ในหลายจุดรอบตัวบ้านเพื่อกรองแสงแดด รวมถึงมีถังสำรองน้ำซึ่งจุได้ราว 1,000 ลิตร และติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย (Septic Tank) เอาไว้ด้วย