xs
xsm
sm
md
lg

การเคหะฯ เร่งโครงการวิจัย “การบำบัดน้ำเสียจากพลังงานแสงอาทิตย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเร็วๆ นี้ การเคหะแห่งชาติ โดยกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการก่อสร้าง ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการศึกษาวิจัย “โครงการลดการใช้ พลังงานไฟฟ้าในการบำบัดน้ำเสียโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์” ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้า (Progress Report)
ศักดิ์ชัย เสถียรภาพงษ์ นายช่างใหญ่ การเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการเคหะชุมชนและโครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งการอยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมากเพื่อรองรับระบบการจัดการภายในของโครงการที่อยู่อาศัย และเห็นว่าศักยภาพของพลังงานทดแทนโดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการบำบัดน้ำเสีย จึงได้ทำการศึกษาวิจัยระบบการบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปแบบ Photo Eco Tank ขึ้นในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติโครงการใดโครงการหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันระบบการบำบัดน้ำเสียของการเคหะแห่งชาติ เป็นระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge, AS) ซึ่งเป็นระบบเติมอากาศเพื่อลดความสกปรกของน้ำเสียจนได้น้ำทิ้งตามมาตรฐานชุมชน โดยต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง 16 - 24 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเป็นภาระกับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยระบบบำบัดน้ำเสียโดยการประหยัดพลังงานไฟฟ้านี้จะต้องคงประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียและรักษาคุณภาพน้ำทิ้งไว้ได้ตามนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องรอให้ผลการทดลองและวิจัยแล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนจึงจะมาสามารถสรุปได้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการการเคหะแห่งชาติหรือไม่อย่างไร
สำหรับการเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยในการเติมอากาศ โดยอาศัยกระบวนการสังเคราะห์แสงจากสาหร่าย (Algae) และความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อมภายในระบบ ถูกสร้างโดยอาศัยการเกาะตัวของพื้นที่ผิวตัวกลาง (Media) จึงเท่ากับเป็นระบบบำบัดที่สามารถเติมอากาศแบบ Aerobic ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน Algae บางส่วนเป็นกลุ่ม Chromatium มีคุณสมบัติพิเศษในการจำกัดซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดกลิ่นเหม็นในระบบบำบัดและบริเวณใกล้เคียงด้วย
“ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวจะดำเนินการพัฒนาเพิ่มเติมจากถังบำบัดสำเร็จรูปประกอบด้วยส่วนบำบัด 3 ส่วน คือ ส่วนหมักตะกอนไร้อากาศ (Anaerobic) ส่วนเติมอากาศ (Aerobic) และส่วนตกตะกอนในขั้นสุดท้าย นับได้ว่าเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศรูปแบบใหม่ที่ลดการใช้ไฟฟ้าซึ่งสนับสนุนนโยบายการบำบัดน้ำเสียตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมซึ่งเป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน รวมถึงสามารถจัดทำเป็นโครงการตัวอย่างที่เผยแพร่ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้งานวิจัย ประยุกต์ใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ลดมลพิษ และรักษาสภาพแวดล้อม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะและชุมชนอย่างยั่งยืน” นายช่างใหญ่ กล่าว และบอกถึงการดำเนินงานในขั้นต่อไปว่า
ทางทีมวิจัยจะทำการติดตั้งระบบบำบัด Photo Eco Tank เพื่อออกแบบ ติดตั้ง ทดลอง ทดสอบประสิทธิภาพวัดผล เก็บข้อมูลและสรุปผลงานวิจัย ในพื้นที่ที่ตกลงร่วมกันภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมทั้งด้านกายภาพ วิศวกรรม และสังคม ทั้งนี้ เมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นสมบูรณ์จะดำเนินการจัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมจัดทำคู่มือ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติและผู้ดูแลระบบให้เกิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น