xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดองค์กร CSR : บางจาก สร้างสมดุลมูลค่า-คุณค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บริษัทไทยที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมอย่างสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย”

บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) วางแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่ “Greenery Excellence” ด้วยการสร้างสมดุลระหว่าง“มูลค่า” คือผลประกอบการ และ”คุณค่า” คือการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม

บางจากฯ กำหนดพันธกิจองค์กรต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้ว่า สำหรับผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า และเจ้าหนี้ : องค์กรต้องดำเนินธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม สำหรับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม : องค์กรมีวัฒนธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับพนักงาน : มุ่งพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ
โดยนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยง และหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมมาประยุกต์ใช้ และกำหนดตัวชี้วัดด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเป้าหมายการวัดผลการดำเนินงานขององค์กรตามหลัก Balanced Scorecard นอกจากตัวชี้วัดด้านการเงิน ด้านลูกค้า ด้านกระบวนการ และด้านบุคลากร จึงทำให้บางจากฯ ถ่ายทอดเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติการในสายงานต่างๆ ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บางจากฯ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2528 โดยมุ่งหมายเป็นบริษัทไทยที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมอย่างสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย ด้วยการสร้างมูลค่า หรือกำไรในระดับที่เหมาะสม มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด และนำการบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

กลยุทธ์ CSR In Process
Corporate Social Responsibility หรือ CSR In Process ด้านเศรษฐกิจ วางกลยุทธ์ไว้ว่า “พัฒนาธุรกิจให้เติบโต กระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง” บางจากฯ จึงขยายธุรกิจจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันที่ผลิตจากปิโตรเลียมมาสู่การผลิตและจำหน่ายพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้แล้วดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นพลังงานที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต จึงช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเปลี่ยนมาผลิตและจำหน่ายแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล
รวมทั้ง ลงทุนผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อเป็นพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ นอกจากนี้ ยังขยายมาทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และค้นคว้าทดลองการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายและพลังงานลม
ด้านสิ่งแวดล้อม วางกลยุทธ์ไว้ว่า “มุ่งสู่บริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Company)” ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันใช้พลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างมากจากการกลั่นและแปรรูปน้ำมันดิบให้เป็นน้ำมันสำเร็จรูป จึงตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

โดย 1)ใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้น้ำมันเตาจากเดิมได้ร้อยละ 80 2)ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม (Cogenerator) ประมาณร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตทั้งหมด 3)ดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ 6 โครงการ ประหยัดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 0.9 และ 4)ขยายไปทำธุรกิจพลังงานสะอาด
ด้านสังคม วางกลยุทธ์ไว้ว่า “พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” ด้วย “โครงการปั๊มชุมชนบางจาก” ซึ่งมีเป้าหมายเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง มีรายได้พอเพียง และลดการอพยพออกมาทำงานต่างถิ่น โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวในรูปนิติบุคคล เช่น สหกรณ์เพื่อทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันบางจาก ซึ่งสมาชิกจะได้รับเงินปันผลและได้ใช้น้ำมันคุณภาพดี จากการดำเนินงานมาประมาณ 20 ปีพบว่า ปั๊มน้ำมันชุมชนได้รับผลตอบแทนดี ทำให้สหกรณ์สามารถจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสมาชิก เช่น ทุนการศึกษา การดูแลคนชราและผู้ด้อยโอกาส
นอกจากนี้ ยังมี “โครงการนำสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนมาเป็นของสมนาคุณแก่ผู้ใช้น้ำมันบางจาก” โดยบางจากฯ จะรับซื้อสินค้าเกษตรในช่วงที่ราคาตกต่ำ หรือซื้อสินค้าชุมชนมามอบให้ผู้ใช้น้ำมันเพื่อส่งเสริมให้ได้รู้จัก ทดลองใช้หรือรับประทาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าเกษตรและชุมชน
ยิ่งกว่านั้น ยังดำเนินการแบบ“เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้” โดยใช้หลักธรรมาภิบาลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมาตรฐานสากล ISO 26000 และ UN Global Compact ซึ่งจัดทำเป็นรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืน

ทั้งนี้ มีการให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อขับเคลื่อน CSR ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานผ่าน“วัฒนธรรมการทำงาน” ที่วางไว้ว่า “พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม” และ”วัฒนธรรมพนักงาน” คือ “เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น” โดยส่งเสริมให้พนักงานร่วมคิดและออกไปทำกิจกรรมกับชุมชน
ยกตัวอย่าง “การจัด CSR Workshop” เพื่อระดมความคิดจากพนักงานมาพัฒนาต่อเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ “การกำหนด KPI- CSR” ให้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการทำงาน “การให้ความรู้เกี่ยวกับ Corporate Governance” อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อกระตุ้นและทบทวนให้สามารถนำไปใช้เป็นหลักในการทำงาน โดยนำเสนอในรูปแบบ Edutainment เพื่อให้ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน “การทำกิจกรรม CSR กับชุมชน” เพื่อเป็นเวทีให้พนักงานได้ร่วมกิจกรรมชุมชน เช่น การออกหน่วยตรวจสุขภาพ และการร่วมรณรงค์นำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซล เป็นต้น
วิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ความเหมือนที่แตกต่าง
วิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CSR ของบางจากฯมีจุดที่แตกต่างจากที่อื่นตรงที่บางจากฯ มีความเอาใจใส่กับผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยให้สามารถส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการได้ด้วย ในขณะที่ที่อื่นต้องเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการของบางจากฯ มาจากกลุ่มสหกรณ์ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิก โดยมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนที่ทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน ซึ่งสามารถซื้อน้ำมันได้โตยตรงจากบางจากฯ ที่มีโรงกลั่นเป็นของตนเอง ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการปลอมปน และการเป็นสมาชิกทำให้ได้เงินปันผลจากการซื้ออีกด้วย
สิ่งสำคัญคือการทำ CSR ของบางจากฯ เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจ ทำจริงและต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นหลัก แต่เป็นเพียงตัวเสริม เพราะการทำ CSR แบบบางจากฯ อยู่ที่การใช้ความรู้ความสามารถของคนในองค์กรเป็นหลัก ขณะที่ ส่วนของกิจกรรมเพื่อสังคมเกิดจากความสมัครใจภายในองค์กร ไม่ใช่เมื่อเกิดปัญหาแล้วจึงหาทางออก แต่เป็นการทำตั้งแต่ต้น โดยทำให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด
ยกตัวอย่าง ด้านสิ่งแวดล้อม บางจากฯ ทำตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้วยการเลือกน้ำมันดิบที่จะก่อให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด การจัดทำระบบความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในชีวอนามัย หรือในด้านชุมชน เน้นการทำกิจกรรมกับชุมชนใกล้โรงกลั่นก่อน หรือการให้ทุนการศึกษา ใช้วิธีการให้สถานศึกษาคัดเลือกกันเอง

รวมทั้ง การมีแนวทางที่แตกต่างในการทำ เช่น “โครงการปลูกป่า” ด้วยการให้เด็กนักเรียนรอบโรงกลั่นเพาะต้นกล้า แล้วนำไปปลูก โดยชุมชนเป็นผู้ดูแลให้ต้นไม้เติบโต ทำให้ทั้งเด็กและชุมชนมีส่วนสร้างความสมดุลให้ธรรมชาติ หรือ “โครงการดูนก” เนื่องจากมีนกประจำถิ่นหลายสิบชนิดอาศัยอยู่ที่โรงกลั่น จึงส่งผลให้พนักงานสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และถือเป็นตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมของโรงกลั่นได้โดยธรรมชาติ
หรือ “โครงการอาหารกลางวัน” ทุกคนที่ได้เป็นพนักงานในวันแรกที่เข้าทำงานต้องแจ้งว่ายินดีให้ตัดเงินเดือนเท่าไรเพื่อนำไปสมทบทุนอาหารกลางวันให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม จะมากหรือน้อยหรือไม่ประสงค์จะให้ก็ได้ถ้าไม่ต้องการ ในขณะที่ พนักงานทุกคนมีวันหยุดฟรีหนึ่งวันในวันเกิด ไม่ถือว่าเป็นวันลา เพราะต้องการให้พนักงานไปทำบุญ หรืออยู่กับครอบครัว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น