แนวคิดอาคารสีเขียวที่เป็นบ้านพักอาศัยในสหรัฐอเมริกา กว่าจะเติบโตจนสามารถแยกตลาดเป็นส่วนของความต้องการบ้านสีเขียวอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นกรณีศึกษาการขยายแนวคิดแบบค่อยๆ เติบโตแต่ต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่อาจจะยังเกิดข้อถกเถียงกันต่อไป คือนิยามของคำว่า “บ้านสีเขียว” หรือ Green home ว่าควรจะมีองค์ประกอบขั้นต่ำมากน้อยแค่ไหนถึงจะเพียงพอจนทำให้เกิดความชัดเจนในสายตาของผู้ซื้อบ้านสีเขียว
จากการศึกษาขององค์กรชื่อ RCLCO (Robert Charles Lesser & Co) พบว่าพฤติกรรมการซื้อบ้านสีเขียวนั้นมีความซับซ้อนและหลากหลาย โดยที่ความเป็นอาคารสีเขียวของบ้านยังเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยองค์ประกอบสำหรับการตัดสินใจซื้อบ้านเท่านั้น
จุดประสงค์ของการศึกษานี้มีด้วยกัน 4 ประการ คือ 1)ต้องการสร้างฐานข้อมูลความพอใจและทางเลือกของผู้ซื้อต่อบ้านสีเขียว 2)สร้างเครื่องมือให้การศึกษาแก่ผู้ซื้อในการปรับตัวสู่นักซื้อแบบกรีนได้อย่างถูกต้อง 3)สามารถรวบรวมประเด็นที่จะทำให้นักการตลาดสามารถนำไปสร้างกิจกรรมการตลาดและรูปแบบบ้านสีเขียวได้ตรงกับความต้องการของตลาด และ 4)ต้องการสร้างเป็นแนวทางเพื่อผู้ซื้อตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
RCLCO ได้สำรวจครัวเรือนทั่วประเทศสหรัฐฯ โดยมุ่งทำความเข้าใจทัศนคติเกี่ยวกับตลาดบ้านสีเขียว โดยใช้การสำรวจผ่านทางช่องทางอินเทอร์เนต จากกลุ่มตัวอย่าง 1,011 ราย ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีสินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นเจ้าของบ้านอยู่แล้วที่มีแนวคิดและทัศนคติในการซื้อบ้านหลังต่อไป
ผลการศึกษาชี้ออกมาชัดเจนว่าคนอเมริกันได้ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นซึ่งมากกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แรงจูงใจของผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของบ้านใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจซื้อบ้านสีเขียวในคราวต่อไป จึงน่าจะทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกิจการรับสร้างบ้านใช้สำหรับการวางจุดขายใน 3 ประเด็น คือ
1. การซื้อบ้านที่จะทำให้รู้สึกว่าผู้ซื้อได้มีส่วนร่วมในการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม
2. การซื้อบ้านที่เป็นทางเลือกในการประหยัดพลังงาน และรายจ่ายค่าไฟฟ้าน้ำประปา
3. การซื้อบ้านที่ช่วยเสริมสร้างประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ที่พักอาศัยในบ้านนี้
ผลการสำรวจนี้ยังพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่สำรวจมีความสนใจจะซื้อบ้านโดยคำนึงแรงจูงใจอย่างน้อย 1 ประเด็นข้างต้นประกอบการตัดสินใจซื้อบ้านในคราวต่อไป
ข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติการซื้อบ้านในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจน ควบคู่กับการพิจารณาเพื่อนบ้านแวดล้อมในย่านพักอาศัย คุณภาพของโรงเรียนใกล้บ้าน และระยะทางจากบ้านไปที่ทำงาน
สำหรับข้อเสนอของ RCLCO คือ บ้านสีเขียวสามารถสร้างบนสภาพแวดล้อมได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด เพราะต้องพิจารณาไลฟ์สไตล์อื่นๆ ของผู้ซื้อประกอบกันด้วย เช่น ช่วยลดการใช้น้ำมันจากการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์และเปลี่ยนเป็นการเดินเท้าได้หรือไม่ เพราะการลดการใช้รถยนต์เท่ากับประหยัดการสิ้นเปลืองน้ำมันและลดการสร้างมลภาวะด้วย
ทั้งนี้ ยังแบ่งกลุ่ม หรือรูปแบบของความต้องการซื้อบ้านสีเขียวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 Forest Green
เป็นกลุ่มที่พิจารณาสภาพแวดล้อม ที่เป็นที่ตั้งและวัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านเป็นสำคัญ และต้องการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทำลายธรรมชาติ
กลุ่มที่ 2Greenback Green
เป็นกลุ่มที่พิจารณาผลประโยชน์ทางการเงิน หรือการประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ
กลุ่มที่ 3Healthy Green
เป็นกลุ่มที่พิจารณาประโยชน์ด้านสุขภาพ อนามัย ของสมาชิกในครอบครัวจากการที่อยู่ในบ้านสีเขียว
RCLCO เชื่อว่ากลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินค่าซื้อบ้านสีเขียวในราคาพรีเมียม หากทำให้สุขภาพอนามัยดีขึ้นได้จริง แม้ว่าขณะนี้สัดส่วนของผู้ซื้อในกลุ่มที่ 3 ยังมีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มผู้ซื้อกลุ่มที่ 2 ที่ใส่ใจรายจ่ายที่ประหยัดได้ก็ตาม
ส่วนของกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มแรก Forest Green มีลักษณะคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของ Healthy Green คือ เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงและยินดีจ่ายบนราคาที่มีพรีเมียม
บ้านสีเขียวตามผลการสำรวจของ RCLCO ยังคงเป็นบ้านขนาดเล็ก หลังหนึ่งราคาไม่แพงมากนัก และอยู่ใกล้กับตัวเมืองและเขตเมืองมากกว่าบ้านในเขตชนบท และต้องการชีชีวิตโดยพึ่งพารถยนต์ที่สิ้นเปลืองพลังงานลดลง
การศึกษาแนวทางการโฆษณาและกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดของธุรกิจบ้านสีเขียว ได้พบว่า ยังเน้นเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือน และประหยัดพลังงานเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คาดหวังว่าผู้ซื้อกลุ่มนี้จะต้องจ่ายเงินซื้อบ้านด้วยราคาพรีเมียมแต่อย่างใด
เพราะผู้ซื้อเป็นกลุ่มรายได้ปานกลางและคนที่มีอายุมาก รายได้มีแนวโน้มถดถอยลง จึงต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในการซื้อบ้านสีเขียว ในรูปแบบของการประหยัดค่าใช้จ่ายและคืนทุนในส่วนที่จ่ายสูงกว่าบ้านที่ไม่ได้สร้างด้วยแนวคิดแบบกรีน โดยต้องการคืนทุนในระหว่าง 5-8 ปี
การสำรวจของ RCLCO นี้ เป็นการสำรวจจากครัวเรือนทั่วสหรัฐฯ โดยมุ่งที่จะทำความเข้าใจในทัศนคติเกี่ยวกับตลาดบ้านสีเขียว
โดยสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับบ้านสีเขียวนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ว่า แนวคิดบ้านสีเขียวเป็นแนวคิดหลักอย่างหนึ่งของการเลือกซื้อบ้าน หลังจากที่คำว่ากรีนเป็นข่าวสำคัญตามนิตยสาร หนังสือพิมพ์ และแม้แต่ในงานแจกรางวัลออสการ์มานาน
กระนั้นก็ตาม การตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังน้อยกว่าการนึกถึงตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหรือรายจ่ายของตนเอง และผู้ที่คิดจะซื้อบ้านใหม่กว่า 70% ยังมีความเชื่อว่าลำพังการซื้อบ้านของตนเองเพียงหลังเดียว ไม่อาจจะมีผลให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ มีเพียง 20% เท่านั้นที่เชื่อว่าการมีบ้านสีเขียวมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและเยียวยาโลกได้
อย่างไรก็ตาม ผู้มีบ้านทุกคนมีความตั้งใจว่าอยากจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำได้ เพื่อช่วยลดปัญหาที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทัศนคติที่น่าสนใจของกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้
56% ยังไม่เชื่อว่าบ้านสีเขียวของตนสามารถประหยัดพลังงานได้
75.4% ยังไม่เชื่อว่าต้องการให้บ้านสีเขียวของตนมีองค์ประกอบที่จะช่วยธรรมชาติ แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น
71.3% ยังไม่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และให้มีความเป็นกรีนในบ้านของตน
82.8% ยังไม่เชื่อว่าบ้านสีเขียวเหมาะสมกับโลกในอนาคต
75% ผู้ซื้อยินดีจะจ่ายเงินค่าบ้านเพิ่มขึ้น หากมีส่วนคืนกลับมาในรูปของการประหยัดรายจ่ายให้กับตน
52% ผู้ซื้อยินดีจะจ่ายเงินค่าบ้านเพิ่มขึ้น หากสามารถสร้างสุขภาพให้ดีขึ้น
46% ผู้ซื้อยินดีจะจ่ายเงินค่าบ้านเพิ่มขึ้น หากเป็นเรื่องที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
41% ผู้ซื้อระบุว่ายินดีจ่ายค่าบ้านเพิ่ม แม้ว่าจะไม่ได้ประหยัดรายจ่าย หากมีสุขภาพดีขึ้นมาทดแทน