xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันห่างไกลโรค “NCDs”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บางคนในปัจจุบัน อาจจะใช้ชีวิตแบบปกติตามที่แต่ละคนใช้ ซึ่งดูเผิน ๆ นั้น อาจจะไม่มีอะไรให้กังวลใจ แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ชีวิตปกตินั้น บางทีก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายของตนเองก็เป็นได้ โดยเฉพาะในกรณีของโรค NCDs ที่อาจจะแฝงมาได้อย่างไม่รู้ตัว

โรค NCDs คืออะไร

โรค NCDs หรือเรียกแบบเต็มก็คือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หมายความว่า โรคนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้

กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วย

- โรคเบาหวาน

- โรคความดันโลหิตสูง

- โรคไขมันในเลือดสูง

- โรคอ้วน ลงพุง

- โรคหัวใจและหลอดเลือด

- โรคถุงลมโป่งพอง

- โรคมะเร็ง

พฤติกรรมที่เสี่ยงโรค NCDs

-การรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด มันจัด เค็มจัด อาหารปิ้งย่าง

-การสูบบุหรี่ หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

-ไม่ออกกำลังกาย

-นอนดึก

-การเกิดภาวะความเครียด

วิธีห่างไกลจากโรคกลุ่ม NCDs

อาหารที่รับประทาน ไม่ควรเป็นอาหารที่หวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารรสเค็ม เครื่องดื่มก็เช่นกัน น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มที่หวานมัน เช่น กาแฟปั่น กาแฟเย็น ชาเย็น ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้นำมาซึ่งโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อแต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม

ในขณะเดียวกัน ก็ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานผักมาก ๆ ผลไม้สด ที่ไม่หวานจัดในปริมาณที่พอดี เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน และช่วยการขับถ่าย ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งโรคมะเร็งด้วย

ควรให้เวลาในการทำกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที ประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดี และพักผ่อนให้เพียงพอ

ที่สำคัญต้องงดบุหรี่อย่างเด็ดขาด ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอก็จะมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs ได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น