xs
xsm
sm
md
lg

“โรคขี้เต็มท้อง” ดื่มน้ำน้อย-กลั้นอุจจาระ-ท้องผูกบ่อย ต้องระวัง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่ “ตุ๊กตา จมาพร” หรือ “ตุ๊กตา The Voice” ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ว่าตนเองนั้นป่วยเป็นโรค “ขี้เต็มท้อง” พร้อมเล่าอาการที่เป็นเบื้องต้นให้ฟังนั้น ซึ่งเราจะพาไปดูข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวกัน


“ขี้เต็มท้อง” หรือ “ภาวะอุจจาระอุดตัน” เป็นภาวะอุจจาระอุดตัน คือ ภาวะที่อุจจาระแห้งและอุดตันบริเวณลำไส้ตรง จนไม่สามารถผ่านออกมาได้จนเกิดจากการที่มีปัญหาท้องผูกรุนแรง หรือ ท้องผูกเป็นเวลานาน


ใครบ้างที่เสี่ยง?

จริง ๆ แล้วภาวะดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยที่มีปัญหาในเรื่องของการขับถ่าย โดยปัจจัยเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน” มีดังนี้

1. ดื่มน้ำไม่เพียงพอ มีส่วนทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง

2. รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป เช่น ผู้ที่ไม่รับประทานผักผลไม้ หรือผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินไป

3. ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่าย

4. กลั้นอุจจาระบ่อย ๆ ไม่ขับถ่ายเป็นเวลา

5. มีอาการท้องผูกบ่อยๆ

6. มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ทำให้ไม่สามารถขยับร่างกายได้มากเท่าคนปกติ

7. มีความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง

8. รับประทานยาที่ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นระยะเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NARCOTICS, ยาลดกรด, ยากลุ่มธาตุเหล็กหรืออยากลุ่ม CALCIUM CHANNEL BLOCKERS ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง

9. มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ไทรอยด์ หรือ โรคซึมเศร้า ที่อาจส่งผลจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตการทานอาหาร เป็นต้น



อาการ “ภาวะอุจจาระอุดตัน” มีดังนี้

- ปวดท้องแบบบีบๆ

- ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง

- คลื่นไส้ อาเจียน

- เบ่งอุจจาระอย่างแรงเกือบทุกครั้งที่ถ่าย

- อุจจาระเป็นก้อนเล็ก และแข็ง อาจจะบาดจนรู้สึกเจ็บทวารหนัก

- มีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด อุจจาระไม่หมดท้อง

- มีเลือดออกจากปากทวารหนัก หลังอุจจาระ

-บางครั้งอาจรู้สึกว่ามีอุจจาระ หรือปัสสาวะเล็ด

- รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างมากดในส่วนของกระเพาะปัสสาวะ

- ปวดหลังส่วนล่าง


การรักษา

การรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การสวนทวารหนัก เหน็บยา หรือ ให้ยาต่าง ๆ หากมีอาการหนักอาจจะมีการผ่าตัดเพื่อนำอุจจาระออกมาจากลำไส้ ซึ่งการผ่าตัดยังพบได้น้อยมาก


วิธีป้องกัน “ภาวะอุจจาระอุดตัน” หลัก ๆ เลยต้องปรับพฤติกรรม ดังนี้ 

1. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง

2. รับประทานผักผลไม้และอาหารที่มีกากใย และลดการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน

3. ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา

4. อย่ากลั้นอุจจาระ ให้รีบหาที่ขับถ่ายทันทีเมื่อปวด

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น