xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับป้องกัน "กระดูกพรุน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Osteoporosis หรือ โรคกระดูกพรุน คือโรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลง กระดูกเสื่อม เปราะ บาง ผิดรูปและแตกหักได้ง่าย กระดูกจะไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติซึ่งอาจส่งผลทำให้พิการ ในอดีตมักพับในคนกำลังเข้าสู่วัยทองเป็นส่วนมาก ทว่าปัจจุบันอายุไม่มากต่ำกว่าเลขหลัก 5 ก็สามารถพบและเป็นกันได้เนื่องจากมักไม่ค่อยแสดงผลในระยะแรกๆ ทำให้หลายคนละเลยกว่าจะรู้ตัวก็เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูก ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูกเพราะมีปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก
วันนี้เราจึงหยิบนำอาหารแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือเติมเต็มสิ่งที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ป้องกันให้ห่างไกลโรคกระดูกพรุนที่จะเข้ามารบกวนชีวิตของทุกๆ คน

1500 มล.ต่อวันแคลเซียมที่ขาดไม่ได้

ไม่ใช่แค่เด็กน้อยที่ต้องการแคลเซียมในการเจริญเติบโต ในวัยผู้ใหญ่เองที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ก็ควรรับประทานแคลเซียมให้ได้มากถึง 1200 - 1500 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องด้วยแคลเซียมร้อยละ 99 จะอยู่ในกระดูก ส่วนที่เหลือจะกระจายอยู่ตามของเหลวต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งหน้าที่ของแคลเซียมคือทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง กล้ามเนื้อและประสาททำงานเป็นปกติ การกระตุ้นการแข็งตัวของเลือดหลังการบาดเจ็บ การควบคุมการทำงานของเอ็นไซม์และการเต้นของหัวใจ
 
ซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมเต็มขั้นที่จะทำให้เราได้รับสารอาหารแคลเซียมมากเพียงพอนอกจาก นม ก็ได้แก่ ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก ผักใบเขียว โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา

แมกนีเซียมต้องถึง

เพราะหน้าที่ของแมกนีเซียม คือช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ผลิตพลังงาน สร้างโปรตีนและช่วยการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้แมกนีเซียมเป็นส่วนช่วยตัวรองลงมาที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการเผาผลาญของแคลเซียมและวิตามินซี โดยในร่างกายมนุษย์จะมีแมกนีเซียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21 กรัม หรือ 21,000 มิลลิกรัม
 
ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ธัญพืช แป้ง ถั่วต่างๆ รวมไปถึงอาหารทะเลจำพวกหอย ส่วนผลไม้ได้แก่กล้วย ทั้งนี้อาหารโภชนาการเหล่านี้ยังควรจัดหาประเภทที่มีสารอาหารทองแดง แมงกานีส สังกะสี เพิ่มเสริมเข้าไปอีกด้วย เพราะช่วยในการทำงานของเอ็นไซม์ในกลไกการสร้างกระดูกและช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
วิตามินดีห้ามลืม

นอกจากมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่างๆในร่างกาย เช่น ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone) วิตามินดียังมีหน้าที่ที่สำคัญยิ่งยวดต่อร่างกายอย่างช่วยการดูดซึมแคลเซียม ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกบางซึ่งมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก กล่าวได้ว่าหากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอร่างกายก็จะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมซึ่งเป็นธาตุที่สำคัญต่อกระดูกได้อันเป็นที่มาของกรณีการเกิดโรคกระดูกพรุน

โดยแหล่งสารอาหารของวิตามินดีได้แก่ แสงแดดตอนเช้า ปลาที่มีไขมันสูงประเภทปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ไข่ และ นมที่มีการเติมวิตามินดี

ทั้งนี้นั้นจากคุณประโยชน์ 3 ประการของสรรพคุณค่าอาหารที่จะช่วยเสริมและสร้างความแข็งแกร่งจากมวลกระดูกสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การออกกำลังกาย โดย รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อและวิทยาศาสตร์การกีฬาและอดีตศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและนายกสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ความรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนไว้ในเว็บไซต์ med.mahidol.ac.th เน้นย้ำในข้อการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ควรใส่ใจและห้ามละเลยคือ ควรจะออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันอย่างน้อย 20 นาที เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยในเรื่องของการเติบโตและแข็งแกร่งของกระดูกซึ่งจะทำให้การดูดซึมแคลเซี่ยมเป็นไปได้ด้วยดีและเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกทำให้กระดูกแข็งแรงไม่แตกหักได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟที่จะรบกวนสมดุลแคลเซียมในร่างกาย รบกวนกระบวนการผลิตวิตามินดีสิ่งสำคัญต่อกระดูกเพราะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย



กำลังโหลดความคิดเห็น