xs
xsm
sm
md
lg

อาหารที่ต้องทาน เพื่อสุขภาพทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Pharmchompoo

บทความหลายตอนที่แล้ว เคยพูดถึงปัญหาการปลอมปนยาแผนปัจจุบันลงในอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งถือได้ว่าเป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะการปลอมปนยาที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งถือเป็นยายอดฮิตที่นิยมนำมาปลอมปนลงไป ในบทความตอนนี้จะแบ่งปันเกี่ยวกับบทบาทของโภชนาการที่ดีที่มีต่อสุขภาพทางเพศ

You Are What You Eat กินดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยไปนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เราต้องใส่ใจ พิถีพิถันกับการกินมากขึ้น เพราะอะไรต่าง ๆ ล้วนถูกเจือปนมาในอาหาร ของกินได้อย่างง่ายดาย การกินอาหารซ้ำๆ กินอาหารไม่ถูกสัดส่วน กินอาหารขยะมากเกินไป เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังหลายชนิดตามมารวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพทางเพศ

สุขภาพทางเพศของเพศชายนั้น โดยทั่วไปจะขึ้นกับฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า เทสโทสเตอโรนเป็นหลัก ซึ่งทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น บทบาทการเสริมสร้างลักษณะทางเพศชาย ให้มีมัดกล้ามเนื้อที่ดูสง่างาม ความหนาของสายเสียงทำให้เสียงดูทุ้ม ห้าว ทำให้มีขนและหนวดเครา หรือทำให้มีการเจริญและพัฒนาของอวัยวะเพศ ความต้องการทางเพศ ซึ่งเทสโทสเตอโรนนี้ต้องอาศัยการสังเคราะห์ขึ้นจากในร่างกาย โดยใช้วิตามินหรือเกลือแร่บางอย่างร่วมด้วยช่วยกันในการสังเคราะห์และการปล่อยออกมา ในผู้ที่สูงอายุมักจะมีการลดระดับลงของเทสโทสเตอโรนอยู่แล้ว แต่ในคนวัยหนุ่มที่อาจจะมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี กินอาหารไม่ถูกสัดส่วน ขาดวิตามินและเกลือแร่บางอย่าง ก็อาจจะส่งผลให้เทสโทสเตอโรนลดระดับลงและส่งผลต่อสุขภาพทางเพศได้

มีการศึกษาในต่างประเทศที่ทำการทดลองให้นักกีฬาได้รับแร่ธาตุสังกะสีและแมกนีเซียมเพิ่ม (30 mg zinc monomethionine aspartate, 450 mg magnesium aspartate, และ 10.5 mg of vitamin B-6) พบว่าสามารถระดับเทสโทสเตอโรนในนักกีฬาได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินเสริม และพบว่า ระดับเทสโทสเตอโรนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถ้าได้รับวิตามินเสริมร่วมกับการออกกำลังกาย (แสดงว่ากินวิตามินอย่างเดียวแล้วนั่ง ๆ นอน ๆ ยังไงก็ไม่ได้ผลแน่) (Maggio M et al. The Interplay between Magnesium and Testosterone in Modulating Physical Function in Men.Int J Endoclinol 2014; Article ID 525249, 9 pageshttp://dx.doi.org/10.1155/2014/525249)


มีการศึกษาหลายชิ้นและองค์ความรู้ที่ยืนยันว่า มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดทำงานร่วมกันในการสร้างฮอร์โมนเพศชายและช่วยในเรื่องของสุขภาพทางเพศให้ดีขึ้นได้ เช่น วิตามินอี, สังกะสี, แมกนีเซียม, วิตามินบี 6 ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีถึงบทบาทที่สำคัญของแร่ธาตสังกะสีว่านอกจากในเรื่องฮอร์โมนเพศชายแล้วยังช่วยในเรื่องของการหายของแผล การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการเจริญเติบโต และแบ่งเซลล์ เป็น co-factor ในกระบวนการทำลายสารพิษบางชนิด ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการบริโภคสังกะสีในขนาดสูงไม่เป็นผลดี เพราะสังกะสีที่ขนาดสูงจะรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน สำหรับวิตามินบี 6 นั้นช่วยในเรื่องของการนำโปรตีนไปใช้ในร่างกาย โดยปกติคนเรามักไม่ขาดวิตามินบี 6 ยกเว้นผู้ที่กินยารักษาวัณโรคไอโซไนอาซิด

อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ ข้าวกล้อง รำข้าวสาลี ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน หอยนางรมก็เป็นอาหารที่รู้กันดีว่ามีสังกะสีสูงแต่โปรดระวังเรื่องความสะอาดและปริมาณคอเลสเตอรอล !!!! (ศูนย์สุขภาพและโภชนาการไทยhttp://www.nutritionthailand.com/item/11-mineral/item/342-zinc.html)

อาหารที่มีวิตามินอีสูง ได้แก่ นม ไข่ ถั่ว ปลา มะเขือเทศ น้ำมันพืช จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต (http://www.thailovehealth.com/nutrient/health-3698.html)

อาหารที่มีวิตามินบี 6 สูง ได้แก่ บริเวอร์ยีสต์ รำข้าว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง วอลนัต กะหล่ำปลี กากน้ำตาล แคนตาลูป ไข่ ตับ ปลา (www.medthai.com/วิตามินบี6)

อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง คืออาหารกลุ่มผักใบเขียวทั้งหลาย ผลไม้ปลือกแข็ง ธัญพืช (http://www.knowledge2u.com/อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง/)

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังบางชนิด โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทำงานของไตบกพร่อง หรือผู้ที่มีความปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ หรือผู้ที่กินยากันเลือดแข็งตัวบางชนิด เช่น วาร์ฟาริน ก่อนการใช้แร่ธาตุเสริม หรือกินอาหารแบบใดแบบหนึ่งมากขึ้น ควรต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนทุกครั้ง


ประการสำคัญถัดมาคือ ผู้ที่จะมีสุขภาพทางเพศที่ดีจำเป็นต้องมีสุขภาพทางกายที่แข็งแรง เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลได้ปกติ ไม่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเหล่านี้มักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกิจกรรมทางเพศ และมักมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศตามมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มีโรคเหล่านี้ทุกรายจะต้องมีปัญหาด้านเพศ เพียงแต่การควบคุมอาการของโรคจะช่วยให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพทางเพศตามมาได้
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น