xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีใครต้องตายหรือเจ็บ!! กลับบ้านปีใหม่ปลอดภัยแน่ เพียงแค่ทำ 5 ข้อนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปีใหม่ทั้งที มีวันหยุดยาว ทุกคนก็อยากจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่กับครอบครัว ไปท่องเที่ยวเดินทาง หรือกลับบ้านต่างจังหวัด ไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้อง แต่ก็น่าเสียดายที่ใครหลายคนไปไม่ถึงจุดหมาย เพียงเพราะความประมาทของผู้ใช้รถใช้ถนน ความบ่งพร่องของเส้นทางและยานพาหนะ จนนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จึงจัดรณรงค์โครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “กลับบ้านปลอดภัย” ให้กำลังใจแก่คนไทยทุกคน เพื่อร่วมกันลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย เดินทางไปเที่ยวไหนก็กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ได้พบหน้าญาติพี่น้องสมดั่งใจหมาย หรือถึงจุดหมายปลายทางที่อยากไปเที่ยวแบบไม่ต้องมีใครบาดเจ็บและสูญเสีย

คำแนะนำเบื้องต้นที่เชื่อว่าหลายคนคงรู้อยู่แล้ว แต่บางทีก็อาจจะเลินเล่อเผลอไป เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลงลืมไปว่า เพียงเสี้ยววินาทีเดียว หรือที่คิดว่า “น้อยนิด” ก็สามารถสร้างความเสียใจไปทั้งชีวิตได้

เสี้ยววินาทีบนถนนเป็นสิ่งมีค่า เพราะอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวินาที บางคนอาจจะคิดว่านิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไรหรอก ยิ่งยุคนี้มีสมาร์ทโฟน ทำให้บางคนต้องรับสาย รับข้อความหรือแช็ทไปด้วยขับรถไปด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า เพียง 2 วินาทีที่ละสายตาไปมองหน้าจอมือถือ ในขณะที่ความเร็วของรถ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถได้เคลื่อนที่ไปได้ถึง 55 เมตร และถ้าเกิดการชนที่ความเร็วขณะนี้แรงปะทะที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับ “ตกตึก 13 ชั้น”

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นกัน แม้เพียงแก้วเดียวที่ดื่มก็ส่งผลต่อการตัดสินใจขณะขับรถ โดยเฉพาะเวลาในการตัดสินใจ (Reaction time) ซึ่งคนปกติจะอยู่ที่ 2-2.5 วินาที สำหรับตัดสินใจเมื่อเห็นคนข้ามถนนไปจนถึงเท้าแตะเบรก แต่คนที่ดื่มจนมีแอลกอฮอล์ 50-100 mg% จะตัดสินใจช้าลงไป 1 วินาที เท่ากับเพิ่ม “ระยะเบรก” ขณะความเร็วรถ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นมาถึง 27.7 เมตร และนั่นคือชีวิตของคนที่เดินข้ามถนนหรือผู้ร่วมทาง โดยปีใหม่ที่ผ่านมาก็มีถึง 73 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รักจากคนที่ดื่มแล้วขับ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ระดับ 50-100 mg% ไม่เพียงแต่ทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า เพราะการตัดสินใจที่ช้าลง สายตาพร่ามัว ทัศนวิสัยในการมองเห็น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนลดลง แต่คนที่ดื่มจะทำให้พฤติกรรมในการป้องกันตัวเอง เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อก ลดลงไปด้วย เรียกว่า “ยิ่งดื่ม ยิ่งไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก” ไม่เพียงเท่านี้ การดื่มสังสรรค์หรือฉลองในคืนก่อนการเดินทาง จะส่งผลต่อการง่วงขับหลับในได้เพิ่มขึ้นด้วย

ง่วงแล้วขับ ไม่เพียงแต่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ แต่การ “อดนอน” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความง่วงซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้าม การนอนเพียง 5-6 ชั่วโมงก่อนเดินทาง จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากหลับในได้ถึง 2-4 เท่า รวมไปถึงระยะเวลาในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากรถติด ทำให้หลายคนขับรถต่อเนื่องติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่พัก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการอ่อนล้าและหลับในได้เช่นเดียวกัน ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วูบหลับไปเพียง 3 วินาที รถจะไถลไปไกลถึง 84 เมตร ที่สำคัญคือข้ามเลนไปชนรถตรงข้ามให้เสียชีวิตไปด้วย ปีใหม่ 2559 ก็มีถึงร้อยละ 5.7 หรือ 28 คน ที่ต้องจบชีวิตเพราะสาเหตุง่วงขับ

จดจำไว้เสมอว่า เราทุกคนจะปลอดภัยในการเดินทาง หากปฏิบัติตนตามนี้

1. ไม่ดื่มสุรา ทั้งก่อนและขณะขับรถโดยเด็ดขาด

2. พักผ่อนให้พอ ไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงในคืนก่อนเดินทาง แวะพักทุกๆ 2 ชั่วโมงและมีเพื่อนช่วยขับถ้าต้องขับรถทางไกลกว่า 400 กิโลเมตร หมั่นสังเกตสัญญาณเตือน “ง่วงขับ” ได้แก่ จำไม่ได้ว่าขับผ่านอะไรมา ตาปรือ หาวบ่อยๆ ให้หยุดพัก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากการหลับในจะไม่ทันเหยียบเบรก และเป็นการชนแบบปะทะรุนแรงข้ามเลนไป ดังนั้น “ถ้าง่วง ต้องไม่ขับ” หรือถ้ามีอาการง่วงในช่วงขับรถเป็นระยะทางไกลๆ ก็ควรหยุดแวะพัก ณ จุดพักระหว่างทาง

3. สำหรับผู้โดยสารด้วยรถยนต์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับและผู้โดยสาร ส่วนสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ก็ต้องสวมหมวกกันน็อก เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรงและเสียชีวิตจะเกิดกับคนที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้ทะลุออกนอกตัวรถหรือพุ่งไปชนคนอื่นๆ ในรถ ต้องไม่ลืมว่าแรงปะทะที่เกิดขึ้น แม้ความเร็วจะเพียง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็เทียบเท่าความแรงจากการตกตึก 5 ชั้น นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เสียชีวิตได้

หลีกเลี่ยงการโดยสารในกระบะหลังของรถปิกอัพ เพราะเมื่อเกิดเหตุผู้โดยสารจะถูกเหวี่ยงออกไปนอกตัวรถและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่อยู่ในรถถึง 6 เท่า

4. ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องใช้ ก็ควรหยุดรถในจุดที่ ปลอดภัย

5. ขับรถด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด นั่นคือ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตนอกเมือง ในเขตเมืองใช้ความเร็วตามป้ายกำหนดและเขตชุมชนไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยปีใหม่ที่ผ่านมา มีคนเดินถนนถูกชนเสียชีวิตถึง 34 คนหรือคิดเป็น 9% ของคนตายในปีใหม่

ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งขับเร็ว ยิ่งมองเห็นด้านข้างลดลง ยิ่งทำให้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น ความเร็วในเขตชุมชนที่เกิน 50 กม./ชม. เช่น ขับรถ 60 กม./ชม. จะต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถถึง 37 เมตร และถ้าชนคนเดินถนนด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. โอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 85 นั่นคือยิ่งขับรถเร็ว ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุและรุนแรงมากขึ้น

สุดท้าย ให้นึกถึงหน้าคนที่เรารัก แล้วตระหนักในข้อปฏิบัติเหล่านี้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รับรองได้ว่าเราจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยแน่นอน

ข้อมูลปีใหม่ที่ผ่านมา จากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คงช่วยย้ำและกระตุ้นเตือนสติของเรามากขึ้นว่าเพียง 7 วัน (29 ธันวาคม 2558 ถึง 4 มกราคม 2559) มีอุบัติเหตุมากถึง 3,379 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีที่ผ่านมา 382 ครั้ง มีคนเสียชีวิตถึง 380 คน เพิ่มขึ้น 11.4% โดยมีสาเหตุการเสียชีวิตจาก ขับเร็ว ร้อยละ 26.84 ดื่มขับ ร้อยละ 14.96

แต่ความสูญเสีย ไม่ใช่ค่าสถิติตัวเลขจำนวนหรือร้อยละ เพียง 1 ชีวิตที่จากไปหรือพิการ นั่นหมายถึงทั้งหมดหรือ 100% ของครอบครัวที่รับผลกระทบ เฉกเช่นเรื่องราวของ “วันชัย สีสุข” ที่พิการท่อนล่าง เพราะดื่มแล้วขับ ผู้เป็นพ่อของคุณวันชัยเล่าว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว วันนั้นลูกชายเงินเดือนออกจึงไปกินเหล้ากับเถ้าแก่ กินเบียร์ไป 5-6 ขวด ผสมเหล้า ตอนกลับบ้านกับเพื่อนสองคน ควบคุมรถไม่ได้ รถจึงเสียหลัก แหกโค้งไปชนต้นไม้

ทุกวันนี้พ่อเป็นคนดูแล ต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อม และเจ็บปวดกับการเห็นแผลกดทับ ลูกชายเคยพูดถึงเรื่องราววันนั้นว่า “เสียใจ” ส่วนพ่อก็ปลอบลูกว่า “ไม่เป็นไร มันเกิดขึ้นแล้ว หนูต้องทำใจให้ได้” คำว่าทำใจให้ได้ ทำให้ลูกชายพยายามลุกขึ้นจากเตียงให้ได้ ซึ่งก็ลุกนั่งได้อย่างยากลำบาก

“ค่าใช้จ่ายเดือนหนึ่งของลูกก็หลายพันบาท เหนื่อยก็ท้อไม่ได้ เพราะลูกเรา แต่ผมก็อยากจะฝากบอกคนที่ชอบเที่ยว ชอบกินเหล้าครับว่า อย่าเป็นอย่างลูกชายผม ดื่มมาแล้วก็อย่าขับ ให้คนไม่ดื่มขับให้ หรือให้คนที่บ้านไปรับจะดีกว่า”

เรื่องราวของลูกชายยังย้อนกลับมาให้คนเป็นพ่อคิดได้ เพราะทุกวันนี้เขาเลิกดื่มเหล้าไปเลย

“ผมไม่อยากพิการเหมือนลูก ทุกวันนี้เราก็แย่พออยู่แล้ว ถ้าผมเป็นอะไรไปจะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่”

ได้ยินเรื่องราวตัวอย่างนี้แล้ว น่าจะเป็นสิ่งเตือนสติให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงข้อปฏิบัติที่พึงปฏิบัติตามที่ได้แนะนำมา และในช่วงปีใหม่นี้ คงไม่มีของขวัญชิ้นใดอีกแล้วที่จะล้ำค่าไปกว่าการที่เราทุกคนได้ “กลับบ้านปลอดภัย” อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว

กำลังโหลดความคิดเห็น