MGR Online - ชมรมเหยื่อเมาแล้วขับ นำครอบครัว “น้องอิงฟ้า” ร้องกระทรวงยุติธรรมบังคับใช้กฎหมายคนเมาแล้วขับจริงจัง พร้อมเอาผิดร้านขายแอลกอฮอล์และคนนั่งมาด้วย
วันนี้ (10 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเมาแล้วขับ กรุงเทพฯ นำครอบครัว ด.ญ.ภัคจิรา ทับงาม หรือน้องอิงฟ้า อายุ 4 ปี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนเมาขับรถชนจนเสียชีวิต และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้อกงันนักดื่มหน้าใหม่กว่า 40 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะเรื่องเมาแล้วขับเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งข้อเสนอและจุดยืนของภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลจราจร
นายเจษฎากล่าวว่า ในนามของครอบครัวผู้สูญเสียจากฆาตกรเมาแล้วขับต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต โดยภาคีเครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนต่อกระทรวงยุติธรรม ดังนี้ 1. ขอสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก รวมทั้งปัญหาดื่มแล้วขับและให้กำลังใจเดินหน้าสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นจริงโดยเร็ว 2. กรณีเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เครือข่ายขอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้การเมาแล้วขับเป็นการกระทำผิดมีเจตนาเล็งเห็นผลทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มิใช่เป็นเพียงแค่ความผิดโดยประมาท และสนับสนุนให้เอาผิดกับผู้ที่นั่งมาในรถด้วย ทั้งนี้ขอให้ยกเว้นรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงเอาผิดต่อร้านอาหาร ผับบาร์ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ประเภทนั่งดื่มที่ร้าน) เพราะถือว่าเป็นการขายให้ผู้ที่มึนเมาครองสติไม่ได้ ตามความผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลจราจรเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งนับวันยากต่อการรับมือและทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายเจษฎากล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมกับครอบครัวน้องอิงฟ้าต่อปัญหาเมาแล้วขับซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความสูญเสียต่อผู้บริสุทธิ์ ครอบครัวและประเทศชาติ เป็นการเจ็บตายที่ไม่ควรเกิดขึ้นหรือควรเกิดขึ้นน้อยที่สุด สาเหตุเพราะเสรีภาพในการดื่มที่ไม่รับผิดชอบ การขายและดื่มที่ละเมิดกฎหมาย ตลอดจนความอ่อนแอของกฎหมายที่บังคับใช้ และหลายรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการเด็ดขาดในการป้องกันแก้ไขปัญหา เป็นเพียงการตื่นตัวเฉพาะช่วงเทศกาลวันสำคัญเท่านั้น สุดท้ายสังคมไทยก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากโศกนาฏกรรมจากคนเมาแล้วขับได้
“ลำพังการรณรงค์สร้างจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่สามารถหยุดความสูญเสียได้ ส่งผลให้สถิติการเมาแล้วขับเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากการรวบรวมสถิติพบว่าแต่ละเดือนจะมีอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเกิดขึ้น 72 ราย ขณะที่แต่ละเดือนจะมีผู้พิการจากการเมาแล้วขับ 23 คน และแต่ละเดือนมีผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ 187 ราย นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังได้รวบรวมสมาชิกเหยื่อจากโรงพยาบาลต่างๆกว่า 8,200 ราย ซึ่งพวกเขาเดือดร้อน ทั้งการรักษาพยาบาล ค่าเดินทาง การใช้ชีวิต ลำพังเงินเบี้ยพิการไม่เพียงพอ” นายเจษฎากล่าว
ด้านนายสนั่น ศิริชนม์ คุณตาของน้องอิงฟ้า เปิดเผยว่า เหตุการณ์สูญเสียดังกล่าวไม่มีอะไรมาทดแทนได้และไม่น่าจะเกิดกับเด็กผู้หญิงอายุยังน้อย เมื่อเกิดแล้วคู่กรณีไม่รับผิดชอบ รวมทั้งบริษัทประกันภัยด้วยที่หลีกเลี่ยงลดค่าใช้จ่ายการสูญเสียในครั้งนี้ โดยขอเรียกร้องให้ดูแลเยียวยาตามสมควรที่ได้รับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมช่วยพิจารณาหลักการดำเนินการต่อผู้ต้องหา และบริษัท ประกันภัยกรณีเมาแล้วขับควบคู่กันไปเพื่อความยุติธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
ส่วนทางนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ภาพรวมอุบัติเหตุจราจรทางบกสร้างความสูญเสียมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้คนเสียชีวิตโดยประมาณ 26,000 คนต่อปี และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกที่มีอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้พบว่ามากกว่า 35-40 เปอร์เซ็นต์นั้นสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง และมีแนวโน้มเกิดสูงขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น กรณีน้องอิงฟ้า ปัญหาคือไม่มีมาตรการทางนโยบายใดที่เพียงพอในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กระทั่งล่าสุดรัฐบาลมีการพูดถึงแนวทางแก้ไข เครือข่ายฯ จึงได้แต่หวังว่าจะมีกฎระเบียบและมาตรการที่ชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาการดื่มแล้วขับและอยากวิงวอนให้ประชาชนที่พบเห็นการทำผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายจราจร และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีมาตรการระบุชัดห้ามขายให้คนเมาขาดสติ รวมถึงการละเลยไม่บังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ช่วยกันร้องเรียนและตีแผ่ทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อทำให้กลไกต่างๆ ทำงาน
ขณะที่นายธวัชชัยเปิดเผยว่า ในต่างประเทศกรณีเมาแล้วขับถือว่าเป็นการพยายามฆ่า และมีการนำระบบมีคะแนนการขับรถมาใช้และตัดแต้มหากกระทำผิดจราจรซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยยังมีการพิจารณาโทษแตกต่างกันไปทำให้ต้องศึกษาความชัดเจนและมาพูดคุยกัน ส่วนการจัดตั้งศาลจราจรต้องพิจารณาข้อกฎหมายอีกหลายประเด็น ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมพร้อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมผลักดันกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง