โรคไวรัสตับอักเสบ
ตับ เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้อง อยู่บริเวณชายโครงด้านขวามาถึงลิ้นปี่ หนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม มีหน้าที่สำคัญในการสร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหาร กรองและกำจัดสารพิษ เป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก วิตามินและเกลือแร่ สร้างสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด เป็นแหล่งสะสมพลังงานโดยเก็บในรูปของน้ำตาล และสร้างสารที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน
ไวรัสตับอักเสบคือไวรัสที่ชอบทำอันตรายต่อเฉพาะตับเป็นหลัก โดยที่รู้จักกันดีในปัจุบันคือไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และ อี ที่สำคัญในบ้านเราเรียงตามลำดับคือ บี ซี และ เอ โดยคาดว่าอย่างน้อยประชากรร้อยละ 5 เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง และร้อยละ 1 เป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
การติดต่อ
ไวรัสตับอักเสบ เอ และอีจะติดต่อส่วนใหญ่จากการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม อาจอยู่ในอาหารอยู่แล้วหรือเป็นเพราะผู้ขายอาหารที่ป่วยเป็นไวรัสดังกล่าวนำมาแพร่ ส่วนไวรัสตับอักเสบ บีและซี การติดต่อหลักทางเลือด เพศสัมพันธ์ การสักตามร่างกาย เจาะหูหรืออวัยวะต่างๆการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน สำหรับไวรัส บี อาจติดจากมารดาสู่ทารก แต่ปัจจุบันมีน้อยมากเพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส บี ให้กับทารกเกิดใหม่ทุกราย
อาการ
• ตับอักเสบเฉียบพลัน
อาการของตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสทุกชนิดเหมือนกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกแน่นบริเวณชายโครงขวาจากการที่ตับโต ปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลือง เมื่ออาการของโรคเต็มที่จะค่อยๆดีขึ้นเข้าสู่ระยะฟื้นตัวและหายพร้อมกับมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น สำหรับไวรัสตับอักเสบ เอ และอี จะหายขาดพร้อมมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นแต่สำหรับไวรัสตับอักเสบ บี ร้อยละ 5-10 และไวรัสตับอักเสบ ซี กว่าร้อยละ 80 เป็นเรื้อรัง
• ตับอักเสบเรื้อรัง
ทั้งไวรัส บีและซี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการของโรค มักไม่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีอาการตัวตาเหลือง การตรวจร่างกายอาจเป็นปกติ การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยดูการอักเสบของตับจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติในการทำงานของตับได้ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่มีอาการและเซลล์ตับได้รับการทำลายมากๆ จะทำให้กลายป็นโรคตับแข็งในที่สุด
• ตับแข็งและมะเร็งตับ
ในระยะแรกจะไม่มีอาการ อาจมีเพียงอ่อนเพลียกว่าปกติ หากมีอาการมาก จะมีอาการจากการทำงานของตับเสื่อมลง โดยผู้ป่วยส่วนมากที่มาพบแพทย์จะมาเพราะอาการแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด เท้าบวม ท้องบวม หรืออาจเป็นมะเร็งตับ
การวินิจฉัยโรค
ตรวจการทำงานของตับ โดยหาเอ็นไซม์ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์ตับที่อักเสบ ได้แก่ SGOT (AST) และ SGPT (ALT) ระดับปกติของเอ็นไซม์สองตัวนี้จะต่ำกว่า 40 หากสูงผิดปกติจะบ่งบอกถึงการอักเสบของตับ แพทย์จะตรวจ หลักฐานการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากเลือด (viral markets) และอาจตรวจทางรังสีวิทยา เช่น ตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasound) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อาจช่วยในการประเมินว่ามีตับแข็งหรือก้อนผิดปกติในตับหรือไม่แต่ไม่ไวพอในการประเมินโรคตับ
การรักษา
ผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน จะค่อยๆ ทุเลาขึ้นเองเมื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารให้เพียงพอ ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่าการดื่มน้ำหวานในปริมาณมากๆ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะน้ำตาลจะไปเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในตับ และอาจทำให้ตับโตจุกแน่นกว่าปกติ
ส่วนมากผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบเรื้อรังจะไม่แสดงอาการ แพทย์จะประเมินว่าสมควรให้การรักษาหรือไม่ ในปัจจุบันสามารถรักษาและควบคุมโรคได้ดี
ผู้ป่วยควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ออกกำลังกายและหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือ การรับประทานยาคุมกำเนิดจะไม่ส่งผลกระทบต่ออาการของโรค และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี สามารถตั้งครรภ์ได้
การป้องกัน
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ และ บี ที่มีประสิทธิภาพดีมากและปลอดภัย
ใครควรได้รับการตรวจหาไวรัสตับอักเสบ
ผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ หรือมีอาการตับอักเสบ
ผู้ที่มีประวัติโรคตับ
ก่อนการแต่งงาน
ผู้ป่วยไตวายหรือจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทานหรือยาเคมีบำบัด
นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี
อายุรกรรมโรคทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลธนบุรี
อายุรกรรมโรคทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลธนบุรี
ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี1
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
HOT LINE 1645 กด 1 หรือ 0-2487-2000 ต่อ 7470-1 เปิดบริการทุกวัน
thonburihospital.com
INSTAGRAM: @thonburi_hospital
www.facebook.com/thonburihospitalclub
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)