xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "ยาฝังคุมกำเนิด" ตัวช่วยของคนที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง อยู่ในระดับต้นๆของประเทศเลยก็ว่าได้ กับเรื่องการคุมกำเนิดสำหรับคนที่ไม่พร้อมมีบุตร ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่นที่ต้องการคุมกำเนิด เกิดจากความคึกคะนองเรื่องเพศ อยากรู้อยากลอง ส่งผลให้สถิติการตั้งครรภ์มีมากในกลุ่มนี้ และยังมีอายุน้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เมื่อพลาดมาแล้ว ถึงจะหาทางแก้ไข บางคนเลือกแก้ปัญญาด้วยตัวเอง หรือแก้ปัญหาไปในทางที่ผิด ไม่ยอมปรึกษาคนในครอบครัวหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางออก แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าคุมกำเนิดได้ดีที่สุด?

ยาฝังคุมกำเนิด หรือยาคุมกำเนิดแบบผัง (Contraceptive implant หรือ Implantable contraception) เป็นอีกวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว อีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดของการคุมกำเนิด โดยการฝังฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ที่ถูกบรรจุลงในแท่งพลาสติกเล็กๆ ฝังลงไปใต้ท้องแขนในข้างที่ไม่ถนัด โดยจะอาศัยเข็มใหญ่เป็นตัวเปิดแผลให้แท่งฮอร์โมนชนิดนี้เข้าไปได้ แล้วจึงถอนเข็มออกถือเป็นการปิดแผล เมื่อตัวยาผ่านเข้าสู่ร่างกาย ยาจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ของเพศหญิง ทำให้ไม่มีการตกไข่ จึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ หลายคนอาจตั้งคำถามต่อว่าแล้วคนที่ทำหมัน ฉีดยาคุม ทานยาคุม สวมถุงยางอนามัย ไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่ดีที่สุดหรือ? คำตอบคือ ยังไม่ใช่

ข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิด

1.มีความสะดวกสบาย และยังสามารถขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อได้รับการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จาก จะสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับตัวยาแต่ละชนิด เมื่อครบกำหนด ถ้าต้องการคุมกำเนิดต่อก็สามารถให้แพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญ หรือผ่านการอบรมมาแล้ว) ฝังยาชุดใหม่ได้เลย หากไม่ต้องการคุมกำเนิดแล้วก็มาสามารถถอดยาฝังได้ตามโรงพยาบาลเช่นเดิม

2.ลดการลืมกินยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดทุกวัน หรือการฉีดยาคลาดเคลื่อนไม่ตรงกำหนด

3.ไม่มีผลข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเป็นฝ้า

4.เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในบรรดาวิธีคุมกำเนิดทั้งหลาย โคยมีอัตราการล้มเหลว 1 ใน 2000 คนเท่านั้น

ข้อเสียของการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝัง สำหรับบางคนอาจมีผลข้างเคียงจากยา เช่น

1.ในระยะ 2-3 เดือนแรก ประจำเดือนจะมาผิดปกติ มาแบบกะปริบกะปรอย ซึ่งพบได้มากที่สุด

2.ไม่มีประจำเดือน หรือขาดประจำเดือน

3.อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

4.มีอาการปวดแขนบริเวณที่มีการฝังแท่งยาคุม

5.แผลที่ฝังยาคุมอาจจะอักเสบ หรือมีรอยแผลเป็น

6.อารมณ์แปรปรวน

7.มีอาการปวด หรือเจ็บบริเวณเต้านม หรือหายใจลำบาก แน่นหน้าอก (อาการของคนแพ้ยา)

8.มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือท้องนอกมดลูกได้ (หากมีการตั้งครรภ์ขึ้น)

9.อาจเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

ใครที่ควรฝังยาคุมกำเนิด?

1.ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด หรือผู้ที่ลืมรับประทานยาบ่อยๆ ครั้ง
2.ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลา 3-5 ปี

ใครคือผู้ที่ไม่ควรใช้ยาฝังคุมกำเนิด

1.ผู้ที่เป็นโรคตับ เพราะผลข้างเคียงของยา อาจทำให้ตับเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นได้
2.ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ยาฝังคุมกำเนิดอาจจะไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเกิดการลุกลามแพร่กระจาย
3.ผู้ที่มีเลือดออกง่าย ตามอวัยวะต่างๆ แบบไม่ทราบสาเหตุ เพราะยาจะกระตุ้นให้เลือดออกมากขึ้น หรือผู้ที่เลือดออกแล้วหยุดยาก ยาคุมจะไปรบกวนการทำงานของเกร็ดเลือดให้ทำงานได้ไม่ดี
4.ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์ หรือไม่ ทางที่ดีคือควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน

เวลาที่เหมาะสมในการฝังยาคุมกำเนิด ควรได้รับการฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรกหลังมีประจำเดือน หรือภายหลังการแท้งบุตรไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังคลอดบุตรไม่เกิน 4-6 สัปดาห์
ข้อมูลจาก หาหมอ.com

กำลังโหลดความคิดเห็น