มะเร็งที่พบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีมีหลายชนิด แต่มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีไทย คือ มะเร็งรังไข่ เพราะโดยธรรมชาติแล้วสามารถตรวจพบได้ช้า ไม่มีวิธีคัดกรองเหมือนมะเร็งปากมดลูก
ถ้าเป็นขึ้นมาแล้วมักลุกลามไปบริเวณอื่นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือด และเยื่อบุในช่องท้อง ถ้าสามารถตรวจพบได้ในระยะแรก มีโอกาสหายภายใน 5 ปีหลังจากตรวจพบ มากกว่า 90% แต่ถ้าตรวจพบในระยะปลายแล้ว โอกาสหายมีน้อยกว่า 25%
• สาเหตุการเกิดมะเร็งในรังไข่
มะเร็งรังไข่ที่พบมากที่สุดเกิน 90% ของมะเร็งรังไข่ คือ มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ มักพบในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรืออายุ 55 ปีขึ้นไป จากผลการตรวจพบว่า ไม่มีสาเหตุบ่งชี้แน่ชัดของโรค แต่สันนิษฐานได้ว่ามักเกิดจาก
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรมสำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม เป็นต้น
- การที่รังไข่ทำงานโดยไม่ได้พักผ่อน ทำให้เนื้อเยื่อรังไข่เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง โดยเชื่อว่า การหยุดพักรังไข่จากการตั้งครรภ์ การให้นมบุตร และการรับประทานยาคุมกำเนิด ทำให้รังไข่มีโอกาสพักการตกไข่ ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานหรือมีลูกนั้น จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีลูก
- มีการใช้สารทาลค์ (Talc) ที่อยู่ในแป้งกันการเปียกชื้น ทาบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศ
- สูดดมสารแอสเบสทอล (Asbestos) หรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในการทำฉนวนความร้อนเข้าสู่ร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- เป็นมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งลำไส้เล็ก
- ผู้หญิงอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป
• อาการของมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่มักไม่แสดงอาการในระยะแรก เพราะก้อนมะเร็งเล็กเกินไป ลักษณะอาการที่พบบ่อย คือ
- ปวดท้องน้อย แต่พอทนได้ ถ้ามีอาการปวดอย่างรุนแรงอาจมีการบิดหรือแตกของก้อนมะเร็ง
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
- ท้องโตขึ้น แน่นท้อง
- ปัสสาวะลำบาก
- เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมาผิดปกติ มาบ้างไม่มาบ้าง
- อิ่มง่าย เบื่ออาหาร
- เมื่อมะเร็งกระจายตัวไปตามอวัยวะอื่นแล้ว จะทำให้น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม หายใจขัด
• การตรวจวินิจฉัยโรค
ไม่มีวิธีตรวจมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้นที่ให้ผลชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการตรวจภายใน การเจาะเลือด อัลตราซาวนด์ หรือการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ ยกเว้นการตรวจด้วยเครื่อง PET/CTหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งรังไข่ การตรวจวินิจฉัยมีดังนี้คือ
- การตรวจร่างกายภายนอก เพื่อคลำหาก้อนเนื้อบริเวณหน้าท้อง ลักษณะเป็นก้อนเนื้อแข็งบริเวณอุ้งเชิงกราน ส่วนการตรวจภายในเพื่อคลำก้อนบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก และรังไข่ จะทำได้เร็วขึ้นกว่าภายนอก
- การตรวจภายในด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ หาก้อนเนื้องอกที่มีการแตกแยกออก เป็นก้อนแข็ง ตะปุ่มตะป่ำ และมักมีน้ำปนกับก้อนเนื้อในช่องท้อง
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI (คลื่นไฟฟ้าแม่เหล็ก) เพื่อดูการกระจายตัวของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ลำไส้ ต่อมน้ำเหลือง ตับ เยื่อบุช่องท้อง ฯลฯ
- การตรวจโดยการฉีดสีและการสวนแป้งเข้าทวารหนัก เพื่อดูการทำงานของไตและลำไส้ใหญ่
- การเจาะเลือด ใช้ในกรณีที่ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับสารเคมีที่มะเร็งรังไข่สร้างออกมามีค่าสูงหรือต่ำลง ถ้ามีค่าต่ำลงจนอยู่ในระดับปกติ แสดงว่ามะเร็งรังไข่หายขาด แต่ถ้ามีค่าสูงกว่าปกติ แสดงว่ามะเร็งรังไข่อาจกลับคืนมาหรือลุกลามมากขึ้น สารเคมีที่ตรวจขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งรังไข่ เช่น CA-125, Alpha-fetoprotein (AFP), Lactate dehydrogenase (LDH), Human chorionic gonadotropins (hCG)
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ PET/CT ใช้เพื่อการตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ให้ความละเอียดของภาพสูง ทั้งในด้านสรีระวิทยาและด้านโครงสร้าง มีความแม่นยำสูง สามารถมองเห็นก้อนมะเร็งขนาดเล็กมากๆ ได้ดี
• สตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรค
- ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน มีโอกาสเป็นมากกว่า 2 เท่า
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วกว่า 11 ปี และหมดช้ากว่า 55 ปี
- มีบุตรเมื่ออายุเกิน 30 ปี
- ไม่มีบุตร
- การใช้สารกระตุ้นให้ไข่ตกในภาวะผู้มีบุตรยาก
• สตรีที่มีความเสี่ยงต่ำต่อโรค
- ผู้หญิงที่มีบุตรก่อนอายุ 30 ปี
- ผู้หญิงที่มีบุตรมาก
- มีการทำหมันหญิง
- มีการให้นมบุตรนานกว่า 6 เดือน
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 50 ปี
- เป็นโรครังไข่ไม่ทำงานหรือรังไข่หนา
- รับประทานยาคุมกำเนิดเมื่ออายุ 20-54 ปี อย่างน้อย 2-3 เดือน มี- โอกาสเสี่ยงลดลงถึง 40%
(ข้อมูลจาก รพ.วัฒโนสถ)
• การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งรังไข่
ดูแลการรับประทานอาหารที่ปลอดสารก่อมะเร็ง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาภูมิต้านทานในร่างกายให้ดีอยู่ตลอดเวลา
ผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว โดยเฉพาะมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มต้น
ผู้หญิงที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี หรืออายุเกิน 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจร่างกายและตรวจภายในเป็นประจำทุกปี
(จาก นิตสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)