xs
xsm
sm
md
lg

คริสตจักรแนะให้ชาวคริสต์ในฟิลิปปินส์เลี่ยงกฎหมายคุมกำเนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - คริสตจักรคาทอลิกในประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกมากระตุ้นให้ชาวคริสต์ที่ทำงานด้านสาธารณสุข ให้ออกมาปฏิเสธกฎหมายฉบับใหม่ที่เกี่ยวกับการควบคุมกำเนิด จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันนี้ (10 ก.ค.)

เหตุครั้งนี้นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของคริสตจักรที่มีอำนาจมากในฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีชาวคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เพื่อต่อต้านกฎหมายที่กำหนดให้รัฐแจกถุงยางและยาคุมกำเนิดฟรี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้

มาร์วิน เมเยียร์ เลขานุการของที่ประชุมคณะบาทหลวงคาทอลิกในฟิลิปปินส์ บอกกับเอเอฟพีว่า “แนวทางการอภิบาล” ของคณะบาทหลวงในสัปดาห์นี้ ได้อธิบายถึงวิธีที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐสามารถปฏิเสธยาคุมกำเนิดได้อย่างถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ รวมถึงตามหลักทางศาสนา

แนวทางดังกล่าวระบุว่า ตามหลักศีลธรรม ชาวคาทอลิกไม่ควรทำงานในหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด แต่ถ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในหน่วยงานลักษณะนั้นแล้วแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวคาทอลิกควรตระหนักว่า จะต้องไม่ถูกบังคับให้สนับสนุน จำหน่ายหรือแจกจ่ายอุปกรณ์คุมกำเนิดเหล่านี้ เพราะมันขัดต่อหลักศาสนาและผิดศีลธรรม

คริสตจักรถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากในฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีประชากรทั้งหมดกว่า 100 ล้านคน เป็นชาวคาทอลิกสูงถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การทำแท้งและการหย่าร้างยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามในประเทศนี้

กฎหมายคุมกำเนิดที่มีการถกเถียงกันอย่างมากฉบับนี้ ในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติโดยศาลสูงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้การรณรงค์ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของคริสตจักร ที่อยากให้รัฐหยุดแทรกแซงการวางแผนครอบครัวต้องจบลง แถมกฏหมายฉบับนี้ยังทำให้มีการเรียนเกี่ยวกับเรื่องเพศในโรงเรียนได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้คัดค้านได้ด้วยเหตุผลด้านศีลธรรมและหลักศาสนา โดยผู้ที่ปฏิเสธจะทำตามกฏหมายที่ขัดต่อศีลธรรม จะต้องให้ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูล แต่ทางคริสตจักรไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขนี้

บาทหลวงเมเยียร์ ระบุว่า คณะบาทหลวงได้จัดตั้งการสัมมนาภายใต้เขตการดูแล เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐได้ทราบถึงข้อสัญญาของกฏหมายฉบับนี้ โดยทางคริสตจักรทราบดีว่าเรื่องนี้ได้ถูกบัญญัติให้เป็นกฎหมายแล้ว แต่มันก็สำคัญมากที่ประชาชนจะต้องรู้ถึงสิทธิของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ยังไม่มีการออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น