xs
xsm
sm
md
lg

สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี “โรคไมเกรน(Migraine)”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคไมเกรน (Migraine) คือ โรคที่เกิดจากการบีบตัว และคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัวหรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย

โรคไมเกรน (Migraine) นี้ รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัย GALEN คือ ราวสองพันปีมาแล้ว คำว่า ไมเกรน (Migraine) นี้มาจากคำสองคำคือ HEMI + CRANIUM คำ HEMI แปลว่า ครึ่งว่า ครึ่งซีก ส่วน CRANIUM แปลว่า ศีรษะหรือหัว เมื่อคำสองคำมาผสมกีนเป็น HEMICRANIUM แต่ยาวเกินไป จึงตัด “HE” ส่วนหน้าออก และ “IUM” ส่วนหลังทิ้ง จึงเหลือ “MICRAN” ในภาษาลาติน ภาษาอังกฤษมาแปลงใหม่เป็น MIGRANE ในภาษาไทยมีคำแปลว่า “โรคตะกัง” แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้กันแต่อย่างใด จึงมักเรียกทับศัพท์กันว่า “โรคไมเกรน (MIGRAINE)”

โรคไมเกรน (MIGRAINE) มีอาการอย่างไร?

โรคไมเกรน (MIGRAINE) ความจริงไม่น่าจะจัดว่าเป็นโรคแต่อย่างใด เพราะเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีอยู่มากมายในสมองจะมีกานบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มากจึงไม่ปวดหัว ในผู้ปวดไมเกรน (MIGRAINE) จะไม่พบพยาธิใดๆ ในหลอดเลือดแดงของสมองจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการแต่อย่างใด

อาการของโรคไมเกรน (MIGRAINE) ประกอบด้วยลักษณะต่างๆดังนี้

1.ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือเป็นสลับข้างกันได้
2.ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ๊บๆ นานครั้งหรึอเกิน20นาที (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรง อาจปวดนานเป็นวันๆ หรือสัปดาห์ก็ได้ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆ สลับกับปวดตุ๊บๆ ในสมองก็ได้
3. อาการปวดศีรษะมักรุนแรง และส่วนมากจะมีการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้
4.อาการนำจะเป็นอาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำมาก่อน

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้โรคไมเกรน (MIGRAINE) เป็นมากขึ้น?

เป็นที่ทราบกันดีว่าตัวกระตุ้นหรือทำให้เกิดอาการของโรคไมเกรน(MIGRAINE) มากขึ้นได้แก่
1. ภาวะเครียด
2. การอดนอน
3. การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
4. ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
5. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
6. อาหารบางชนิดเช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไมเกรน (MIGRAINE) จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภาวะต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยทุกคนต้องสังเกตตัวเองว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นการเกิดไมเกรน (MIGRAINE) ในตนเอง เพื่อจะหลีกเลี่ยงและแก้ไข ได้ตรงจุด

โรคไมเกรน(MIGRAINE) รักษาอย่างไร?

การปวดศีรษะจากโรคไมเกรน (MIGRAINE) นี้ มักรักษาไม่หายด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอลธรรมดา ยาที่ได้ผลดีคือ ยาแก้ปวดแอสไพริน ขนาด 2 เม็ด ในขณะปวด แต่ข้อระวัง ห้ามรับประทานแอสไพรินในขณะท้องว่าง และผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้มากๆ และอาจทำให้ถึงแก่กรรมได้ ในผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่าจะมีโรคกระเพาะหรือไม่ ให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะ อาหารหรือนมร่วมด้วย ก็จะป้องกันการระคายเคืองของแอสไพรินต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้

จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคไมเกรน(MIGRAINE) ได้อย่างไร?

ในผู้ป่วยโรคไมเกรน (MIGRAINE) ที่นานๆเป็นครั้ง เช่น ปีละ 2-3 หน ไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกัน แต่อย่างใด แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไมเกรน ที่เกิดอาการปวดศีรษะบ่อยๆ เช่น เกือบทุกสัปดาห์หรือทุกวัน จำเป็นต้องได้รับการป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมให้เกิดดังกล่าวแล้ว ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยส่งเสริมดังกล่าวอาจจำเป็นต้องให้ยาป้องกันซึ่งแบ่งได้หลายชนิด เช่น

ก. ERGOT ALKALOIDS เป็นยาป้องกันมิให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว
ข. BATA BLOCKER
ค. CALCIUM CHANNEL BLOCKER
ง. ANTIDEPRESSANT เป็นต้น
จ. SEROTONIN ANTAGONIST เป็นต้น
ฉ. BOTULINUM TOXIN PROPHYLACTIC INJECTION

ยาในกลุ่มดังกล่าว เป็นยากลุ่มอันตรายและมีผลข้างเคียงทุกชนิด จำเป็นต้องให้แพทย์ เป็นผู้สั่งให้และรับประทานตามกำหนด ในช่วงเวลาจำกัด การซื้อใช้เองอาจเกิดผลร้ายได้

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์

ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี1
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : โทร. 0-2421-3870 (เวลา 08.00-22.00น.)
HOT LINE 1645 กด 1 หรือ 0-2487-2000 ต่อ 7470-1
เปิดบริการทุกวัน
Email : th@thonburihospital.com
thonburihospital.com


(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น