xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก "โรคโมยาโมย่า" ควันบุหรี่ที่คุกคามสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีของ ด.ช. กฤตใน เลาหปราสาท หรือ น้องซีดี วัย 12 ปี นักแสดงเด็ก ที่มีผลงานต่างๆ เช่น ‘ตุ๊กแกรักแป้งมาก’ และละครเรื่อง เทวดาฟันน้ำนม ทางช่อง 7 สี กำลังป่วยเป็น “โรคโมยาโมย่า” และเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งทางคุณแม่ของน้องซีดีนั้น ได้โพสต์ข้อความ ขอรับบริจาคเลือดผ่านทางสังคมออนไลน์ จนผู้คนในสังคมออนไลน์ ได้ส่งกำลังใจให้กำลังใจกับครอบครัวน้องซีดีกันอย่างล้นหลาม

ในขณะเดียวกัน โรคโมยาโมย่า ถือได้ว่า เป็นโรคที่ไม่พบบ่อยนัก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็เพียงหนึ่งในล้าน และยังถือได้ว่า คนทั่วไปยังไม่ทราบถึงรายละเอียดถึงโรคดังกล่าวนี้มากนัก ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่า ว่ามันเป็นยังไง

“โรคโมยาโมย่า” คืออะไร

โรคนี้เกิดขึ้นจากการอุดตันของหลอดเลือดสมองบริเวณ Circle of Willis หรือ หลอดเลือดสมองที่อยู่ในส่วนใต้สมอง ซึ่งคำว่าโมยาโมย่า เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “กลุ่มควันบุหรี่” เนื่องจากโรคนี้ มีการอุดตันในสมอง และลักษณะของหลอดเลือดข้างเคียงมีจำนวนมากและขนาดเล็ก จึงมีความคล้ายกับกลุ่มควันบุหรี่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งโรคนี้มีการพบน้อยมากในประเทศไทย แต่พบได้มากในประเทศญี่ปุ่น เฉลี่ย 3 คน ต่อประชากร 100,000 คน และพบได้ในผู้หญิง ทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ ในช่วงอายุ 5 ปี และ 40 ปี ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน โรคดังต่อไปนี้ ก็สามารถทำให้เกิดโรคโมยาโมยาได้ อาทิเช่น กลุ่มโรคอาการดาวน์, โรคเนื้องอกทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง), ผู้ป่วยที่เคยฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง, โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ และ โรคปานแดงบริเวณใบหน้า

ลักษณะอาการของ “โรคโมยาโมย่า”

สำหรับอาการโรคนี้ จะมีการหนาตัวของกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือดสมอง และทำให้ค่อยๆมีการตีบของหลอดเลือด จึงทำให้ขาดหลอดเลือดขนาดเล็กๆ มาช่วยเลี้ยงสมองมากขึ้น ซึ่งหากปริมาณเลือดเลี้ยงสมองยังไม่เพียงพอ ก็จะเกิดสภาวะขาดเลือด ขณะเดียวกัน ถ้าหลอดเลือดเกิดการตีบ ก็อาจจะเกิดโป่งพองของผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวการณ์แตก และส่งผลให้มีเลือดออกในสมองได้

นอกจากนี้ จากสภาวะของอาการ อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ มีปัญหาความจำลดลง มีอาการชัก มีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกาย และปวดศีรษะ

การรักษา - วิธีการดูแลตนเอง

ด้านการรักษาของโรคนี้ มี 3 วิธี คือ

-ผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดสมองระหว่างหลอดเลือดที่ปกติ กับ หลอเลือดสมองที่อุตตัน เพื่อเป็นทางผ่านของเลือด
-การใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด ซึ่งจะต้องใช้ยานี้ตลอดชีวิต
-การทำกายภาพบำบัด ซึ่งต้องทำตลอดชีวิตเช่นกัน

ส่วนการดูแลตนเอง หากเป็นโรคดังกล่าว มีดังนี้

-ทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
-ไม่ควรซื้อยาต่างๆ หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทานเอง เพราะอาจจะตีกันระหว่างยาได้
-ทำกายภาพบำบัดตามผู้เชี่ยวชาญ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
-ระมัดระวังในการหกล้ม กระแทก หรืออุบัติเหตุตรงบริเวณศีรษะให้มากๆ เพราะอาจจะมีการเลือดออกทางสมองได้
-พบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และเมื่อมีอาการกำเริบ สามารถไปโรงพยาบาลก่อนนัด

กำลังโหลดความคิดเห็น