บทความโดย บุญรักษา ศรีสว่าง นักเคมี และ ภญ.สุอาภา พลอยเลื่อมแสง |
หนึ่งในกระแสที่คนแชร์บนเฟซบุ๊กซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็น่าจะมีเรื่องของการเตือนให้ผู้หญิงระวังรถแท็กซี่ที่ใส่หน้ากากปิดจมูกให้ดี เพราะอาจจะโดนอดีตยาสลบที่มีชื่อว่า “คลอโรฟอร์ม” รมระหว่างโดยสารรถ หรือถ้าไม่ใช่เรื่องระวังแท็กซี่ก็อาจจะให้ระวังคนทำทีมาเคาะกระจกรถ พอเหยื่อไขกระจกลงเท่านั้นแหละ เจ้านั่นก็จะจัดการสเปรย์คลอโรฟอร์มใส่ใบหน้าของเหยื่อทันที ผลก็คือเกิดอาการสลืมสลือ มึนงง หรือหมดสติไป ก่อนจะรู้ตัวอีกทีก็เสียทั้งตัวเสียทั้งทรัพย์ ไปจนกระทั่งเสียอวัยวะภายในจากแก๊งค้าอวัยวะมนุษย์กันทีเดียว
คำถามคือมันเป็นไปได้หรือ ที่คลอโรฟอร์มจะทำได้ถึงขนาดนั้น?
เรื่องนี้เคยมี ดร.วิทยาศาสตร์คนดังทางเฟซบุ๊กประเภทกูรูทุกเรื่องตั้งแต่ความดีของพืช GMO (นอกเหนือจากการให้ทุนไปเที่ยวดูงาน) ยันเรื่องของถ่านหินสะอ๊าดสะอาด (หนูประชดนะคะ) แกเคยออกมาบอกแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ในเรื่องของคลอโรฟอร์มที่ทำให้คนสลบมาแล้ว...แต่เนื่องจากชักไม่แน่ใจในความเป็นกูรูทุกเรื่องของแก ก็เลยจะต้องมานำเสนอความจริงเกี่ยวกับคลอโรฟอร์มอีกด้านกันดูซิว่ามันทำได้อย่างที่คิดไหม
คลอโรฟอร์มเป็นสารในกลุ่มพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs: Volatile Organic Compounds) ในชีวิตจริงไม่อิงนิยาย เราคงเลี่ยงที่จะไม่พบปะสารกลุ่มนี้ได้ลำบาก เพราะพวกมันมากับการเผาไหม้ในบรรยากาศ เวลาที่โรงงานอุตสาหกรรมในบ้านเราเกิดระเบิดหรือบ่อขยะไฟใหม้ เราจะเห็นหน่วยงานรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษออกมาทำการตรวจอากาศที่เกิดเหตุว่าเจอสาร VOCs ปริมาณที่เป็นอันตรายต่อประชาชนในละแวกนั้นหรือไม่ แน่นอนว่าคลอโรฟอร์มเป็นหนึ่งในสาร VOCs ที่ถูกตรวจวัด
โดยทั่วไป เราจะพบคลอโรฟอร์มในอากาศรอบๆ ตัวเราที่ความเข้มข้น 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมควบคุมมลพิษบ้านเรากำหนดปริมาณคลอโรฟอร์มในชั้นบรรยากาศทั่วไปในช่วงเวลา 1 ปีไว้ที่ 0.43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร [อ้างอิง: ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 30 (พ.ศ.2550)] แต่ในชีวิตจริง เรายังเจอะเจอกับคลอโรฟอร์มได้ทั้งในน้ำดื่ม หรือน้ำเสียจากบ้านเรือน แหล่งน้ำธรรมชาติ สระว่ายน้ำ เป็นต้น โอ้พระเจ้าจ๊อด!!!
ผลกระทบของคลอโรฟอร์ม เมื่อเข้าสู่ร่างกายมากเกินความจำเป็น มีทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบระยะสั้น เช่น สมมติว่าชะตากรรมพลิกผันเราให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่บ่อขยะระเบิดหรือไฟไหม้ เมื่อเกิดการเผาไหม้ ก็ย่อมต้องมีคลอโรฟอร์มกำเนิดขึ้นมาเป็นปริมาณมากในพื้นที่นั้น ถ้าเราสูดดมเข้าไปจะเกิดอาการเวียนหัว มึนงง เป็นลม เนื่องจากคลอโรฟอร์มเข้าไปรบกวนการรับรู้ของระบบประสาทส่วนกลางของเรา ตามมาด้วยอาการระคายเคืองระบบการหายใจ เพราะส่วนหนึ่งของคลอโรฟอร์มจะไปออกฤทธิ์ที่ปอด เมื่อได้รับในปริมาณที่มากทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของระบบหายใจและระบบหัวใจล้มเหลว
สำหรับผลกระทบระยะยาวนั้นจะเกิด เมื่อได้รับคลอโรฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตับ ไต และระบบเลือดทำงานผิดปกติ ตามมาด้วยการเผชิญหน้ากับมะเร็งร้ายได้ ทั้งนี้ ทาง “อีป้า” หรือ EPA (United Stated Environmental Protection Agency: USEPA) และองค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) จัดคลอโรฟอร์มไว้ในกลุ่มของสารที่ก่อมะเร็งในปี ค.ศ.1976
หลายคนเกิดคำถามตามมาว่า แล้วอย่างเอาน้ำประปามาต้มเพื่อดื่มล่ะ จะทำให้เป็นมะเร็งไหม เพราะน้ำประปามีคลอรีนผสมอยู่ เมื่อต้มแล้วจะได้คลอโรฟอร์ม ต้องตอบว่า อืม...คนคิดก็ช่างคิดได้ เพราะโอกาสเป็นไปได้ก็มีอยู่บ้างล่ะ แต่เชื่อหรือไม่ ต้มน้ำประปาจะดีกว่าไม่ต้มเพราะอย่าลืมว่าคลอโรฟอร์มเป็นสารที่ระเหยง่าย จุดเดือดก็หกสิบองศากว่าๆ เท่านั้น แต่น้ำเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ถึงจุดนั้นคลอโรฟอร์มก็หายไปจากน้ำต้มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าให้มีคลอโรฟอร์มในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.100 มิลลิกรัม/ลิตร
ส่วนทางผิวหนัง คลอโรฟอร์มสามารถซึมผ่านผิวหนังไปทำลายน้ำมันธรรมชาติที่เคลือบที่ผิวของเรา จึงอาจจะระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อผิวหนังที่สัมผัสซึ่งต้องรีบล้างออกให้เร็วที่สุด
ฟังดูแม้นจะมีโทษมาก แต่ปัจจุบันคลอโรฟอร์มยังวนเวียนอยู่ในตลาดอุตสาหกรรมทางเคมี เพราะใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารให้ความเย็นที่ใช้ในตู้เย็น และใช้ในห้องปฏิบัติการทางเคมีสำหรับสกัดสารสำคัญเพื่อนำไปวิเคราะห์อีก ประเทศไทยก็ควบคุมการซื้อขายอยู่และจะผิดมากขนาดติดคุก 10 ปี ถ้าผู้ถือครองคลอโรฟอร์มเอาไปเปลี่ยนแปลงสภาพมันเท่านั้น
ปลอดภัยไหมคะ?
No!!
เพราะแม้จะถูกควบคุมทั้งซื้อขายและครอบครอง แต่เนื่องจากปริมาณที่ใช้ได้ผลนั้น เอาเข้าจริงมันก็นิดเดียวเองแค่ 5 มิลลิลิตร ก็ได้เรื่องแล้ว!!
ย้อนกลับไปยุคศตวรรษที่ 18 ในปี ค.ศ.1847 เซอร์เจมส์ ยัง ซิมซัน (Sir James Young Simpson) คุณหมอชาวสก็อตซึ่งผิดหวังกับอีเธอร์ที่ใช้สลบคนไข้เพื่อบรรเทาความปวดระหว่างให้กำเนิดเด็กน้อย ด้วยว่าอีเธอร์มันเหม็น แถมต้องใช้ในปริมาณที่เยอะ ทำให้ระคายเคืองต่อปอดผู้ดมยาและหมอ แถมอีเธอร์ยังเป็นสารที่ทำให้เกิดการระเบิดได้อีกต่างหากซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของคุณหมอในยุคนั้น เนื่องจากยังคงต้องทำงานภายใต้แสงสว่างจากเทียนไขในห้องที่มีไออุ่นจากเตาผิงนั่นเอง
เย็นวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1847 คุณหมอซิมสันและเพื่อนรุ่นน้องอีก 2 ท่านจึงยอมพลีชีพเป็นหน่วยกล้าตายสูดดมเอาไอของคลอโรฟอร์มเข้าไป ผลคือ ก่อนที่พวกเขาจะหมดสติ พวกเขารู้สึกมีความสุข และพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ด้วยความประทับใจความแรงของคลอโรฟอร์มสุดๆ บวกกับการออกฤทธิ์ที่รวดเร็วทันใจ คุณหมอซิมป์สันจึงเริ่มใช้คลอโรฟอร์มในการทำคลอดทันที เจ้าหนูน้อยคนแรกที่คลอดจากหม่ามี้ที่ได้รับคลอโรฟอร์มจึงได้ชื่อว่า “แอเนิซธีเฌอ” (Anesthesia) แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่าการไร้ความรู้สึก
แม้จะให้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่การใช้คลอโรฟอร์มก็เสี่ยงต่ออันตรายเช่นกัน ในช่วงปี ค.ศ.1848 คลอโรฟอร์มเป็นยาสลบท็อปฮิตขึ้นมา แต่เมื่อมีรายงานว่าเด็กสาววัย 15 ปี ต้องสังเวยชีวิตให้กับคลอโรฟอร์ม มันก็ถูกตั้งคำถามทันทีว่า มันมีพิษต่อระบบหายใจหรือหัวใจหรือไม่ ท่ามกลางความอึมครึม จู่ๆ คลอโรฟอร์มก็กอบกู้ชื่อเสียงของมันกลับมาได้อีกครั้ง เมื่อควีนวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (ค.ศ.1837-1901) ทรงเลือกใช้คลอโรฟอร์มในระหว่างที่พระองค์ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสสุดท้อง “เจ้าชายลีโอโพล” (1853-1884) โดยสันนิษฐานว่า นพ.จอห์น หมอผู้ทำคลอดส่วนพระองค์ใช้วิธีการที่เรียกว่า open-drop method (ดังรูปด้านล่าง) ประมาณว่าหยดคลอโรฟอร์มลงไปบนหน้ากากดมยาสลบที่ครอบอยู่ที่จมูกและปากของเรานั่นเอง โดยไม่ได้มีอุปกรณ์เครื่องดมยามาช่วยในการสูดดมแต่อย่างใด
แต่แล้วเพราะคลอโรฟอร์มดันไปก่อพิษต่อหัวใจและตับ และอื่นๆ อีกสารพัด แม้ความเสี่ยงนี้อาจเกิดแค่คนไข้ 1 ราย จากคนไข้ 3,000 รายก็ตาม ประกอบกับเข้าสู่ยุคใหม่ของยาสลบรุ่นใหม่ๆ ที่ปลอดภัยและให้ประสิทธิภาพดีกว่า ทำให้คลอโรฟอร์มไม่มีพื้นที่ในวงการทางการแพทย์อีกต่อไปและถูกถอดอย่างเป็นทางการเมื่อพบว่ามันเป็นสารก่อมะเร็ง
จากรูปจะเห็นได้ว่า กว่าที่คนจะสลบก็จำเป็นต้องมีตัวช่วยที่เป็นหน้ากากเพื่อให้ยาส่งตรงเข้าไปในทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ครบโดสยา แต่กระนั้น การเอาคลอโรฟอร์มใส่สเปรย์ฉีดใส่หน้าคนเพื่อให้สลบนั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคลอโรฟอร์มแค่ 10 มิลลิลิตร หรืออาจจะแค่เพียง 10 หยดก็เพียงพอที่จะทำให้คนๆ หนึ่งสลบได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะไวต่อคลอโรฟอร์มแค่ไหน บางคนน้อยกว่านี้เพียงแค่ 5 มิลลิลิตร ก็ไปเสียแล้ว แถมยังออกฤทธิ์ได้รวดเร็วเสียด้วย
แต่ในอินเดีย สำนักข่าว Times of India มีข่าวการปล้นร้านจิวเวลี่อย่างต่อเนื่องจากแก๊งโจรท้องถิ่น (zeher khurani) โดยใช้สเปร์ย์ฉีดที่ใส่คลอโรฟอร์มไว้ รายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียบอกว่า สเปรย์ยาสลบคลอโรฟอร์มนี้ถูกใช้เพื่อก่อคดีอย่างต่อเนื่อง วิธีง่ายๆ ก็คือฉีดมันที่หน้าจนเหยื่อมึนแล้วแก๊งทั้งหมดก็บุกเข้าไปยกเค้ากันทั้งร้าน สเปรย์ยาสลบนี้ยังใช้กันอย่างแพร่หลายในขบวนรถไฟที่เหยื่อมักโดนรมจนสลบไสลและถูกรูดทรัพย์ไปในที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกอีกว่ายาสลบที่ใช้มอมเหยื่อนั้นยังมีอีกหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ให้จิบจากขวดน้ำที่ผสมยา ไปจนกระทั่งสเปรย์เข้าที่หน้า
ข่าวจากอินเดีย แปลว่าในทางปฏิบัติ “สเปรย์คลอโรฟอร์ม” นี้ใช้ได้จริงๆ
แต่เหตุการณ์เช่นนี้มันอาจจะอุกอาจไปหน่อยในประเทศไทยเรา เพราะอยู่ดี ๆ เอาสเปรย์มาฉีดใส่หน้าเราในที่สาธารณะต่อหน้าธารกำนันทั้งหลาย พลเมืองดีถ้าเห็นเข้าคงช่วยกันรุมกระทืบเป็นแน่
แต่ลองจินตนาการถึงบริเวณลานจอดรถสาธารณะหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไปที่เปลี่ยวๆ อาจจะน่ากลัว เพราะคนร้ายอาจจะรอโอกาสให้เราเปิดประตูรถแล้วฉีดสเปร์ยใส่เพื่อให้เราสลบ ไม่เช่นนั้นก็เอาแน่นอนไว้ก่อนด้วยการหยดคลอโรฟอร์มลงในผ้าแล้วปฏิบัติการโปะเข้าที่จมูกเรา ให้เวลาคลอโรฟอร์มออกฤทธิ์นิดหน่อย แล้วปลดทรัพย์ แต่บางรายอาจจะโชคร้ายโดนทำร้ายร่างกายด้วย ก็ยังพบเห็นเป็นข่าวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์กันอยู่เสมอๆ เราประชาชนก็คงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา และระมัดระวังตัวเองให้ดีด้วย ไม่พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงจะเกิดเหตุ
ในเมืองไทยนั้น อาชญากรรมที่ก่อตัวจากคลอโรฟอร์มยังถือว่าน้อย ถ้าเทียบกับในอูกันด้า คลอโรฟอร์มเป็นสารยอดฮิตในการใช้ก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะอาชญากรรมทางเพศ นักเคมีจากโรงพยาบาล Mulago กล่าวว่า ด้วยปริมาณแค่ 10 มิลลิลิตรเมื่อผสมน้ำดื่มก็ทำให้สลบแล้ว และก่อให้เกิดคดีข่มขืนมากมายหลายๆ เคส เคสแรกที่ทำให้คลอโรฟอร์มดังในเชิงนี้ จบลงด้วยการที่เหยื่อแขวนคอตายเพราะถูกหลอกให้ดื่มน้ำที่ผสมคลอโรฟอร์มก่อนจะโดนเรียงคิวข่มขืนจากชาย 4 คนตลอดทั้งคืน แม้ว่าตำรวจจะจับคนร้ายได้ แต่คนในหมู่บ้านกลับแอนตี้เหยื่อจนทำให้เธอฆ่าตัวตายดังกล่าว
การมอมยาและข่มขืนนั้นมีมากขนาดถึงขนาดที่ทางรัฐบาลต้องเตือนให้ระวังการเช่าบ้านหรือห้องอยู่คนเดียวสำหรับเพศหญิงกันเลย แถมคลอโรฟอร์มก็เป็นสารสำคัญที่อาชญากรใช้แล้วประสบความสำเร็จในการทำชั่วอย่างที่สุด
แล้วกรณีในรถแท็กซี่ล่ะ?
การอยู่สองต่อสองกับคนร้ายบนแท็กซี่แอร์เย็นฉ่ำ มีกลิ่นเหมือนเบาะหนังใหม่ๆ แถมพี่แท็กซี่ก็มีสุขอนามัยดีใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูก ขณะที่เราไม่มี รับแอร์ไปเต็มๆจนง่วงนอน ให้จำไว้ว่ากลิ่นเบาะหนังใหม่ๆ โทนนั้นแหละ คือกลิ่นคลอโรฟอร์มและผองเพื่อนกลุ่ม VOCs ถ้ารู้สึกว่ามันชักเยอะไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะโดนมอมยา เพราะแม้นจะอยู่ในระบบปิดที่รับคลอโรฟอร์มเหมือนกัน แต่เราเองก็อาจจะสลบก่อนเพราะปริมาณสารที่เข้าตัวของเรามากกว่า เนื่องจากเราไม่มีหน้ากากปิดจมูก เพราะฉะนั้น ควรระวังและสังเกตตัวเองหลังขึ้นแท็กซี่ลักษณะที่ว่าก่อนก็แล้วกัน หากได้กลิ่นแปลกๆ เหมือนเบาะหนังใหม่ๆ แรงๆ ผิดปกติ ก็อาจจะเปิดกระจก หรือรีบใช้อุบายในการลงจากรถให้ได้เร็วที่สุด
นอกจากจะมีพวกหัวหมอ นำเอาคลอโรฟอร์มมาใช้ในทางหาประโยชน์ให้กับตัวเองแล้ว ก็มีอีกคนอีกจำพวกหนึ่งที่เอาคลอโรฟอร์มมาใช้ในการทำอัตวินิบาตกรรม ว่ากันภาษาชาวบ้านก็คือ “ฆ่าตัวตาย” นั่นเอง (หนักกว่านั้นก็ใช้ลอบฆ่าฝ่ายตรงข้ามซะเลย)
ว่ากันว่า หนึ่งในวิธีการดังกล่าวก็คือ การทำให้ตัวเองขาดอาการหายใจโดยใช้ถุงพลาสติกครอบหัว ใช้แต่ถุงพลาสติกครอบหัวจนกว่าจะตายก็อาจจะทรมานทุรนทุราย เลยทำให้มันซับซ้อนเสียหน่อยด้วยการโปะให้ตัวเองสลบด้วยคลอโรฟอร์มเสียเลย ขณะเคลิ้มๆ ก็เอาถุงครอบหัวก็จะได้ตายสมใจนึก ที่สำคัญ ผลการผ่าชันสูตรศพก็ไม่พบสารประกอบอะไรในปอดนอกจากเป็นเรื่องร่างกายหยุดทำงานเพราะขาดอากาศ หลักฐานเดียวที่มีคือข้างๆ ตัวของผู้ตายมีขวดคลอโรฟอร์มอยู่ด้วยเสมอ
ปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย คลอโรฟอร์มเป็นสารควบคุม จะซื้อจะขายต้องมีใบบอกและคุมปริมาณที่แน่นอน มิใช่ขายให้ตาสีตาสาทั่วไป แต่กระนั้น ในยุคที่อินเตอร์เนตเฟื่องฟูและสามารถสั่งยาพิษได้จากโลกกว้างใบนี้ด้วยปลายนิ้ว
คงไม่ใช่เรื่องน่าไว้วางใจว่า เราปลอดภัย 100 เปอร์เซนต์จากสเปรย์คลอโรฟอร์มนะคะ
เอกสารอ้างอิง 1.“Volatile Organic Compounds by Gas Chromatography/Mass Spectrometry (GC/MS)”, U.S. Environmental Protection Agency, Office of Solid Waste, SW-846 Method 8260B, revision 2,December 1996. 2.“Compendium of Methods for the Determination of Toxic Organic Compounds in Ambient Air”, U.S. Environmental Protection Agency, Office of Research and Development, Compendium Method TO-15, January 1999. 3.“Chloroform” Concise International Chemical Assessment Document 58 Geneva, World Health Organization, 2004. 4.ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 30 (พ.ศ.2550) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 143ง วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 5. Kennedy SK and Longnecker DE. History and principles of anesthesisoloy. In: Brunton LL, Parker KL, eds. Goodman & Gilman’s Manual of Pharmacology and Therapeutics, 11th ed. NY: McGraw-Hill Companies; 2008: 349-356. 6.Zorro AR. Asphyxial suicide by inhalation of chloroform inside a plastic bag: case report. J Forensic Legal Med 2014; 21: 1-4. |