xs
xsm
sm
md
lg

"ครีมกันแดด" วิธีเลือกและใช้ให้ดีต่อผิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าร้อน กับแสงแดดแรงๆ อย่างช่วงนี้ นอกจากจะทำร้ายผิวบางๆ ให้หมองคล้ำแล้ว ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าเวลาส่วนใหญ่เราจะอยู่ในอาคาร หรือที่ร่ม แต่บ่อยครั้งแสงแดดก็ยังจะเล็ดลอดเข้ามาได้โดยไม่รู้ตัวเลย ครีมกันแดดกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้

ครีมกันแดด มีกี่แบบ แล้วทำงานอย่างไรกันบ้าง หลายๆ คนอาจเคยนึกสงสัย วันนี้ มาทำความเข้าใจกับเรื่องของครีมกันแดดกันสักหน่อย

ครีมกันแดดแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือ Chemical Sunscreen และ Physical Sunscreen

เรามาเริ่มต้นกันที่ Chemical Sunscreen กันก่อน
ครีมกันแดดประเภท Chemical Sunscreen ใช้คุณสมบัติในการดูดกลืนรังสี UV เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด ก่อนที่สารเคมีสะสลายตัวไปเอง Chemical Sunscreen มีทั้งแบบที่ละลายในน้ำมันและละลายในน้ำ ทำหน้าที่ช่วยให้สามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวได้ทั้งในชั้นหนังกำพร้า และในชั้นหนังแท้

ครีมกันแดดชนิด Chemical Sunscreen ที่มีค่า SPF สูงๆ จะมีสารกันแดดรวมกันหลายๆ ชนิด เพื่อให้การดูดกลืนรังสี UV ที่มีช่วงความถี่ของคลื่นต่างๆ กัน ครอบคลุมได้มากขึ้น และช่วยให้สามารถดูดกลืนรังสี UV ไว้ได้มากขึ้น กระนั้น การใช้ครีมกันแดดชนิดเคมีที่มีค่า SPF สูง เกินความจำเป็นอาจทำให้มีการสะสมสารกันแดดไว้ในผิวมาก ทำให้ผิวเกิดอนุมูลอิสระ และเกิดความร้อนภายในผิวชั้นใน อาจทำให้ผิวเสื่อมสภาพเร็วโดยไม่จำเป็นได้

การเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีสารกันแดดชนิด Chemical Sunscreen ควรปฎิบัติดังนี้

1.ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที
2.ควรทาครีมกันแดดซ้ำ ทุก 2 ชั่วโมง
3.ควรระมัดระวังในการใช้ครีมกันแดดชนิดนี้ เนื่องจากอาจมีผลทำให้เกิดปฎิกริยา Oxidation ที่ผิว ทำให้เกิดความร้อนที่ผิวมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น

ครีมกันแดดอีกประเภท คือ ครีมกันแดดประเภท Physical Sunscreen ที่ทำหน้าที่ปกป้องผิวโดยการสะท้อนรังสี ด้วยสารกันแดดในกลุ่มแร่ธาตุ โดยสารที่นิยมใช้ได้แก่ ไทเทเนียมไดออกไซด์ และซิงค์ออกไซด์

ความแตกต่างในคุณสมบัติของครีมกันแดดในกลุ่มนี้ อยู่ที่ขนาดของอนุภาค ความละเอียด ชนิดของผลึก

ความสามารถในการกระจายตัว ความเสถียร ความสามารถในการเกาะติดผิว โดยขนาดของอนุภาคที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง 100-10 นาโนเมตร จึงจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องทั้งยูวีเอ ยูวีบี และกระจายได้ทั่วถึงโดยไม่ทำให้เกิดสีขาววอกเวลาใช้

ครีมกันแดด ชนิด Physical Sunscreen มีข้อดีคือ ไม่ทำให้ผิวเกิดความร้อน จึงอ่อนโยนและก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่าครีมกันแดดชนิด Chemical Sunscreen เพราะแร่ธาตุที่ใช้ เป็นของแข็งที่ไม่ซึมซาบเข้าสู่ผิวชั้นลึก ทำหน้าที่เพียงสะท้องแสง UV เท่านั้น และแม้ว่าอนุภาคมีขนาดเล็กกว่า 40 นาโนเมตร ก็จะสะสมในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ไม่ซึมสู่ผิวชั้นหนังแท้เหมือนครีมกันแดดชนิดเคมี

โดยขนาดอนุภาคของสารกันแดด จะมีผลในการสะท้อนรังสี ที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกัน คือ

ขนาดอนุภาค 40 - 80 นาโนเมตร
จะสะท้อนรังสีทั้ง UVB, UVA และ V Ray ได้ดี มักใช้ในครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15-30 เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปที่ออกแดดสลับกับอยู่ในร่ม การต้องโดนแสงไฟตลอดเวลา หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ทั้งยังมีคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากริ้วรอยได้ดีอีกด้วย

ขนาดอนุภาค 10-40 นาโนเมตร
จะสะท้อนรังสี UVB ได้ดีกว่า ทำให้ได้ค่า SPF ที่สูงได้ถึง 40 ขึ้นไป แต่ไม่สะท้อนรังสี UVA และ V ray จึงเหมาะกับการใช้เวลาออกแดดแรง ๆ นานๆ ทว่าจะไม่เหมาะกับการปกป้องผิวจากแสงแดดในที่ร่ม

ครีมกันแดดชนิด Physical Sunscreen นี้ สามารถทาก่อนออกแดดได้ทันที และไม่จำเป็นต้องทาซ้ำบ่อยๆ ที่สำคัญไม่ซึมเข้าสู่ผิวชั้นลึก จึงไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสมที่ผิว หรืออาการระคายเคืองจากสารเคมีอีกด้วย

นอกจากคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงแดดแล้ว ครีมกันแดดที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด อาจมีส่วนผสมของสารที่ช่วยบำรุงผิว เติมความชุ่มชื้น หรือช่วยลดริ้วรอย เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือก การเลือกซื้อก็ต้องพิจารณาที่คุณภาพ และมาตรฐานของแต่ละยี่ห้อ
______________________________
ข้อมูลจาก ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อก http://lifecenterthailand.wordpress.com

กำลังโหลดความคิดเห็น