xs
xsm
sm
md
lg

“เล่นฟรีไม่มีในโลก” บทเรียนจาก “คุกกี้รัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศกับเกมชื่อดังที่เป็นสาเหตุให้มีการเรียกเก็บเงินมหาศาลระดับถอยรถป้ายแดงได้ทั้งคัน งานนี้ทาง “ผู้จัดการเกม” ก็ขอนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้สนใจที่อาจจะคุ้นเคยกับเกมบนสมาร์ทโฟนอยู่แล้วหรือไม่รู้จักมันมาก่อนก็ตาม

• ผลกระทบ “คุกกี้รัน” กับบิลหลักแสน

แม้จะเป็นข่าวใหญ่โตราวกับว่าเป็นขนมอบเคลือบยาพิษ แต่เนื้อแท้ของเกม “คุกกี้รัน” ก็ไม่ต่างจากเกมแนวเล่นฟรีขายบริการเสริมอื่นๆ ที่มีอยู่เกลื่อนตลาดนับไม่ถ้วน เป็นสิ่งที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทยมานานและมีแนวโน้มจะอยู่ต่อไป แถมยังจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกตามกระแสตลาดโลก

ปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันนี้จึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเกม ขึ้นกับว่าจะมีช่องทางจ่ายเงินอันใดที่รั่วและค่ายไหนจะเป็นผู้โชคร้าย และครั้งนี้ก็เป็น “คุกกี้รัน” ที่มีการโปรโมตผ่านสื่ออย่างหนักทั้งวิทยุโทรทัศน์จนมีความเสี่ยงจะโดนมากกว่าเจ้าอื่นนั่นเอง

แม้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้เล่นเกมและคนที่มีความรอบรู้เรื่องไอทีระดับหนึ่งต่างก็เข้าใจปัญหาว่าเป็นเพราะธรรมชาตินิสัยของเด็กเองและขั้นตอนของระบบที่ไม่รัดกุมพอซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นมาพร้อมกัน มิใช่เรื่องที่สามารถเกิดขึ้นลับหลังโดยง่ายกับใครก็ได้

ในกระแสอีกด้านหนึ่ง คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที และพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไป อาจรีบมองหาเกมนี้บนโทรศัพท์ของลูกและสั่งลบทิ้งห้ามเล่นโดยทันที เป็นเพราะสื่อต่างๆ ใช้คำว่า “คุกกี้รัน” เป็นตัวเรียกความสนใจกันอย่างเต็มที่ แม้จะมีเกมอื่นๆ ที่กระทำการในลักษณะเดียวกันอีกนับไม่ถ้วนก็ตาม

ผู้ที่เข้าใจระบบ หรือเคย “ลงทุน” ใช้เงินกับเกมไปมากแล้วก็จะสามารถเล่นต่อไปได้อย่างไร้ความกังวล แต่คนที่ยังไม่เคยสัมผัสเกมมาก่อนหรือเด็กที่ถูกห้ามเล่นก็จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของบริษัทผู้ให้บริการที่ต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์ทำตลาดกันใหม่ทั้งหมดจากความเสียหายครั้งนี้
<b>เก่าไปใหม่มา</b>
• วงจรชีวิตของเกมเล่นฟรี

ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ เกมแนวเล่นฟรีก็ถือเป็นตลาดเสี่ยงโชคประเภทหนึ่งของบริษัทเกมต่างๆ เมื่อทำออกมาแล้วฮิตก็จะกอบโกยให้ได้มากที่สุดก่อนจะเข้าสู่ขาลงให้รายใหม่เข้ามาแทนที่ ส่วนเกมที่ไม่ฮิตก็ต้องรับสภาพล้มหายตายจากไปในเวลาอันสั้น

ช่วงเวลาที่คนจะหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาทำอะไรในแต่ละวันถือเป็นพื้นที่จำกัดซึ่งค่ายเกมต้องแย่งชิงกันอย่างเต็มที่

ปัจจัยที่จะทำให้เกมเล่นฟรีฮิตขึ้นมาได้ถือเป็นเรื่องซับซ้อนซึ่งอาจเกิดจากการตั้งใจออกแบบระบบวิธีเล่นต่างๆ การศึกษานิสัยคนเล่นที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ การผลักดันโฆษณาประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญคือ “ดวง” ซึ่งคาดเดาได้ยาก แม้กระทั่งเกมที่ไม่มีอะไรก็สามารถฮิตทะลุโลกขึ้นมาได้แบบข้ามคืนจากการบอกต่อในอินเตอร์เน็ต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ “คุกกี้รัน” สะดุด คือเกมอื่นทั้งจากค่ายเดียวกันเองและค่ายอื่นก็จะพยายามแทรกขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดแทนที่ด้วยวิธีการเดิมๆ นำมาดัดแปลงใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำสำเร็จก่อนและที่สำคัญคือการเก็บข้อผิดพลาดของคู่แข่งมาปรับปรุงอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดซ้ำได้อีก

• ทำไมถึงต้องเล่นฟรี?

หากจะพูดถึงเกมทั้งหลายทั้งปวง มุมมองของผู้ปกครองหรือคนที่มีอายุพอสมควรอาจอยู่ในรูปแบบของตลับ แผ่นซีดี หรือนั่งเล่นกันบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าให้จ่ายเงินซื้อทีเดียวแล้วก็จบไป แต่เมื่อเกมมีวิวัฒนาการขึ้นมาก็จะได้ยินบุตรหลานบอกว่าต้อง “เติมเงิน” เพื่อเล่น กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายตามมาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

แนวคิดดังกล่าวมีจุดเริ่มมาจากเกมออนไลน์กว่าสิบปีมาแล้ว เมื่อการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น บรรดาผู้พัฒนาเกมก็สรรหาวิธีจูงใจคนเล่นด้วยสารพัดวิธีจนไปจบที่การแข่ง “ราคา” ถอยสุดซอยจากการขายลงกล่อง คิดเงินรายเดือน จนถึงกับให้เล่นฟรีแล้วหาทางทำเงินจากบริการเสริมอย่างอื่นแทน

บริการนี้คือ “ชัยชนะ” ที่ให้ผู้เล่นใช้เงินจริงซื้ออย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการชนะโจทย์ของเกมที่ทางบริษัทตั้งขึ้นมาหรือชนะคนอื่นที่เล่นด้วยกัน ทั้งหมดนี้เกิดจาก “ของวิเศษ” ที่ทางผู้พัฒนาเสกขึ้นมาจากความว่างเปล่าเพียงแค่กดปรับเปลี่ยนตัวเลข และเมื่อ “เกมจบ” ก็จะเหลือเพียงความว่างเปล่าไม่ต่างจากตอนที่มันเกิดขึ้นมา

การขายชัยชนะเช่นนี้เป็นการเล่นกับหลักจิตวิทยาของมนุษย์ซึ่งผู้สร้างเกมต้องรู้จักใช้ลูกล่อลูกชนไม่ขายกันอย่างประเจิดประเจ้อทีเดียวจบ แหย่เข้าไปในจังหวะที่คนรู้สึกว่าอยากได้มากที่สุด มีการทำแคมเปญลดแลกแจกแถมสะสมแต้มไม่ต่างจากสินค้าที่จับต้องได้จริง และที่สำคัญคือต้องรู้จัก “เลี้ยงไข้” คนเล่นที่ไม่ยอมเสียเงินเอาไว้ด้วย เพราะการจะทำให้คนอยากเอาชนะก็จำเป็นต้องมีคู่แข่งเอาไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ

แนวคิดพื้นฐานนี้ได้แพร่กระจายจากเกมบนคอมพิวเตอร์ไปสู่ยุคของสมาร์ทโฟน ซึ่งต้นทุนการสร้างเกมที่ถูกลงก็ยิ่งทำให้การแข่งขันดุเดือด มีการพัฒนาลูกเล่นวิธีการใหม่ๆ หรือลอกเลียนแบบจากค่ายที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นตลาดแบบใครดีใครได้จนบางครั้งก็หลงลืมคำว่าจริยธรรมไป
<b>ยื่นเอกสาร...อนุมัติ...หน้ามืดเลย</b>
• ทางออกของผู้ให้บริการและผู้เล่น

ในต่างประเทศ ทั้งผู้สร้างเกม คนกลางผู้รับฝากขายและผู้เก็บเงินต่างก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องขึ้นคำเตือนอย่างไร อ่านข้อตกลงยอมรับเงื่อนไขขนาดไหน รวมถึงการแสดงหลักฐานยืนยันตัวตนระดับหนึ่งจึงจะควักเงินสดออกจากกระเป๋าได้ และบางประเทศก็ต้องเพิ่มกติกาเฉพาะเข้าไปให้เหมาะกับสภาพสังคมของตนเองอีก

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็มีความเป็น “ศรีธนญชัย” แอบขยิบตาข้างหนึ่งเพื่อหวังผลประโยชน์จากความผิดพลาดของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย

กระแสสังคมที่เกิดขึ้นกับ “คุกกี้รัน” ได้แบ่งเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ โทษว่าเป็นความผิดของเด็กที่คิดโกงหรือผู้ปกครองที่ไม่รู้จักดูแล กับอีกฝ่ายที่มองว่าระบบมีช่องว่างให้ทำการใช้จ่ายเงินได้โดยง่ายและไม่มีการปกป้องจำกัดวงเงินของลูกค้า

สุดท้ายแล้ว บทเรียนที่ฝ่ายผู้ให้บริการได้รับคือระบบการหักเงินที่ควรจะมีความรัดกุมตรวจสอบหลักฐานกันมากขึ้น ป้องกันกรณีเลวร้ายที่สุดเมื่ออีกฝ่ายผู้ถือโทรศัพท์อาจเป็นเด็กไม่รู้เดียงสา คนชราหูตาฝ้าฟาง คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโจรผู้ร้าย มิใช่การเอาความสะดวกสบายเป็นที่ตั้งอย่างที่ผ่านมา

สำหรับผู้เล่น สิ่งที่จะปกต้องตนเองจากตนเองได้คือความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีใครมาจับมือบังคับให้กด เมื่อยอมรับข้อตกลงไปแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ต้องสอนลูกหลานให้รู้จักระมัดระวังสิ่งต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาในเกม

เพราะกลเม็ดคำโฆษณายั่วยวนเหล่านี้ บางครั้งก็ไม่ต่างจากมิจฉาชีพที่พบในชีวิตจริงเลย

*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*


กำลังโหลดความคิดเห็น