มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับ "จีเอ็มโอ คลาวด์" และ "ทรู ดิจิตอล พลัส" จัดงาน Photon CGM GameJam 2013 เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปได้เข้ามาพัฒนาเกมในช่วงเวลาที่จำกัด เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดในการทำเกม โดยมีการใช้ Photon Cloud ในการพัฒนาเกม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคมที่ผ่านมา
ภายในงาน Photon CGM GameJam 2013 นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทำเกมในช่วงเวลาที่จำกัด ยังมีการอบรมให้ความรู้โดยตัวแทนจากบริษัทเกมทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น อาทิ GMO Cloud , Square Enix , Index ,True Digital Plus , Adways ซึ่งหลังจากการอบรมให้ความรู้เสร็จสิ้นก็จะตั้งเงื่อนไขในการทำเกมแก่ผู้เข้าร่วมงาน เพื่อให้ทำเกมภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
นายเอกพงษ์ นพวงศ์ อาจารย์ประจำ สาขาวิชา คอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคายานี่ของฟินแลนด์ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2001 ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา จนกระทั่งได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงการจัดงานเกมแจมในยุโรป ทำให้เกิดแนวคิดว่าจะจัดงานเกมแจมในไทยบ้าง
"ครั้งแรกที่จัดงาน ตอนแรกผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนมาร่วมงานกันรึเปล่า ปรากฏว่ามีคนสมัครเข้ามาเยอะมากจนเราต้องรีบปิดรับสมัคร ก็ได้ผู้เข้าร่วมงาน 180 คนมากินนอนกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมมือกันสร้างเกมออกมาได้ 20 กว่าเกม แต่ละเกมก็มีความน่าสนใจ เราก็จัดมา 3 ครั้ง" นายเอกพงษ์ กล่าว
นายเอกพงษ์ ระบุอีกว่า นักศึกษาที่มาเข้าร่วมงานเกมแจมก็ได้รับประโยชน์ตรงที่มีโอกาสได้พบกับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกม ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนจะไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้ จนกว่าจะมีการไปสมัครงานด้วยตัวเอง แต่พอมีการจัดงานลักษณะนี้ ก็ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสได้มาพบเจอกับนักศึกษาเหล่านี้ก่อน ได้มาเห็นฝีมือจริงๆ ได้รู้ว่าในเวลา 48 ชั่วโมงสามารถทำผลงานได้แค่ไหน
"หลายบริษัทเขาก็มาช็อปปิ้งตัวนักศึกษาไปจากงานนี้ นักศึกษาก็ได้เจอรุ่นพี่ที่อยู่ในสายงานต่างๆ ทั้งอาร์ตติส โปรแกรมมิ่ง ฯลฯ ได้รู้ว่าสายงานนั้นมันเป็นอย่างที่เขาคิดไหม เป็นอย่างที่เขาต้องการไหม ก็ได้ประโยชน์วินๆ กันทั้งสองฝ่าย" นายเอกพงษ์ กล่าว
นายยาสึอะกิ ทานากะ ประธานบริษัท จีเอ็มโอ คลาวด์ (ประเทศไทย) อธิบายว่า Photon Cloud ซึ่งนำมาใช้ในงานเกมแจมครั้งนี้ จะช่วยให้การพัฒนาเกมที่เน้นการเล่นแบบมัลติเพลยเยอร์สามารถทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากไม่ต้องมาทำงานในส่วนของระบบเน็ตเวิร์ค สามารถโฟกัสไปที่การทำเกมเพียงอย่างเดียวได้ โดยการให้บริการ Photon Cloud จะมีการแบ่งออกเป็นแพ็คเกจราคาต่างๆ
นายยาสึอะกิ ทานากะ ระบุว่า ในเบื้องต้นผู้ที่สนใจสามารถใช้งาน Photon Cloud ได้ฟรี ซึ่งจะรองรับจำนวนผู้เล่นได้ 20 CCU (จำนวนผู้ที่เข้าเล่นเกมในช่วงเวลาเดียวกัน) แต่ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้เล่นเพิ่มขึ้นได้ถึง 10,000 CCU โดยจะมีราคาแตกต่างกันไปในแต่ละแพ็คเกจ รองรับเกมเอนจินได้หลากหลาย ที่ใช้ในการพัฒนาเกมบนแพล็ตฟอร์มต่างๆ ทั้งโมบายเกม พีซีเกม เกมบนเว็บเบราเซอร์และโซเชียลเน็ตเวิร์ค รวมถึงเกมบนเครื่องคอนโซล
นายลาโภ ดีรูป ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด ระบุว่า งานเกมแจมครั้งนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การแจม คือเหมือนกับมาสนุกร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยจุดประกายแนวคิดในการทำเกมที่นำสมัยได้ ตรงจุดนี้มองประสิทธิผลในแง่ของแนวความคิดใหม่ๆ ที่อาจจะนำไปต่อยอดได้ ส่วนผลงานเกมที่เกิดจากงานครั้งนี้ เจ้าของก็สามารถนำไปขายหรือเปิดให้บริการได้
"งานเกมแจมเป็นงานที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเจ้าภาพหลักจัดขึ้นเป็นประจำ ทางทรูได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดครั้งแรกคืองานยูนิตี้เกมแจมเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นก็เป็นกลอบัลเกมแจมช่วงต้นปีนี้ ตามมาด้วยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งหลังจากนี้ไปความร่วมมือในส่วนนี้น่าจะมีให้เห็นกันทุกปี เพราะทรูเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนนักพัฒนาเกมชาวไทย" นายลาโภ กล่าว