หลังจากเกิดเหตุอันน่าสลดของสังคมไทยที่เป็นผลพวงมาจาก “เกม” จนเป็นข่าวใหญ่โตพาดใหญ่เกือบทุกหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ส่วนตัวเท่าที่จำความได้น่าจะเป็นข่าวฆาตกรรมในประเทศไทยคดีแรกที่ผู้ต้องหาอายุ 18 ปียอมรับอย่างชัดเจนว่า ตัวเองเลียนแบบพฤติกรรมมาจากเกม “แกรนด์ เตฟต์ ออโต้” (Grand Theft Auto) หรือ GTA เกมโจรขโมยรถที่มีเนื้อหารุนแรงและมีปัญหามาแล้วทั่วโลก
จากเหตุการณ์เยาวชนไทยวัย 18 ปี ชั้น ม.6 ลวงโชเฟอร์แท็กซี่วัย 50 ปีมาฆ่าชิงทรัพย์ แล้วสารภาพหมดเปลือกว่าต้องการเงิน โดยมองว่าคงจะทำได้ง่ายๆเหมือนกับในเกม GTA ที่ตัวเองชื่นชอบ ถึงขนาดวางแผนตระเตรียมสถานที่ก่อเหตุและหาซื้ออาวุธมีดเอาไว้ก่อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คดีนี้ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและไม่น่าจะเกิดได้ในสังคมไทยที่เคยมีรากฐานทางสังคมที่ดีกว่าทางตะวันตก และสิ่งที่ช่วยเร่งปรากฏการณ์นี้ให้บังเกิดขึ้นในสังคมไทยคงจะมีด้วยกันหลายปัจจัย
สิ่งที่บ่มเพาะพฤติกรรมเหล่านี้น่าจะมาจากพื้นฐานครอบครัวและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากคำให้การของเด็กที่ยืนยันว่า เขาไม่ได้ติดยาเสพติด ไม่เล่นการพนัน แค่เห็นในเกมทำได้แล้วอยากลองทำบ้าง ประกอบกับทางบ้านให้เงินมาใช้สอยไม่เพียงพอ และรู้สึกเบื่อหน่ายกับผู้เป็นพ่อที่ชอบดื่มสุราจนเมามาย และมาตบตีทำร้ายแม่ของเขา เมื่อเราลองวิเคราะห์จากต้นเหตุแล้ว ในช่วงระหว่างที่เขากำลังเป็นทุกข์อยู่นั้น บังเอิญมีตัวเร่งที่ตอบสนองและระบายความเครียดตรงจุดนั้นได้ ซึ่งเขาพบเห็นและได้ทดลองทำอยู่เป็นประจำจากเนื้อหาของ GTA เกมสุดดิบของค่ายร็อกสตาร์ จึงไม่แปลกที่หนทางดับทุกข์จะลงเอยแบบนี้
เกม GTA เป็นผลงานการพัฒนาของทีม “ร็อกสตาร์ เกมส์“ ค่ายเกมที่นิยมพัฒนาเกมรุนแรงมาหลายซีรีส์และสร้างมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเกมตระกูล GTA เป็นหัวหอกหลักในโกยเงินเข้าบริษัทแม่ “เทค-ทู” ที่ในตอนนี้กำลังถูกผู้พัฒนาเกมยักษ์ใหญ่ของโลก “EA” เจรจาขอซื้อกิจการมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชื่อมั่นในความเก่งกาจของทีมร็อกสตาร์ โดยผลงานภาคล่าสุด GTA ภาค4 ที่วางขายไปเมื่อ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา แค่สัปดาห์แรกก็สามารถทำลายสถิติสื่อบันเทิงโลกลงอย่างราบคาบ ขายไปได้ทั่วโลกราวๆ 6 ล้านชุด ทำเงินได้สูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท แม้แต่วันแรกที่เปิดขายก็ทำได้ 3.6 ล้านชุด คิดเป็นเงินราว 310 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,900 ล้านบาท จนกินเนสบุ๊คต้องจดบันทึกเป็นสถิติไว้เลยทีเดียว
GTA ถูกพัฒนาออกมาแล้ว 4 ภาคหลักๆ ภาคแรกออกบนเครื่องเพลย์สเตชันรุ่นแรก (PS1) เมื่อปี 1998 ถัดจากนั้น 1 ปีก็ออกภาคสองบนเครื่องเกมเดียวกัน ตามมาด้วยภาค 3 ที่ขยับมาออกมาเครื่อง PS2 ในปี 2001 จากนั้นก็ออกภาคย่อยๆมาอีกในชื่อ Vice City เมื่อปี 2002 จนมาเป็นข่าวใหญ่เมื่อ GTA ออกตอน San Andreas ในปี 2004 สืบเนื่องจากม็อดโจ๋งครึ่ม “Hot Coffee” ที่มีผู้ปลดล็อกสิ่งที่ถูกปิดบังเอาไว้ขณะเล่นฉากมินิเกมร่วมเพศของพระเอก CJ กับแฟนสาว ซึ่งผู้เล่นยังสามารถควบคุมท่วงท่าลีลาของ CJ ได้อีกด้วย ส่งผลให้ ESRB หน่วยงานจัดเรตติ้งเกมออกมาลงดาบให้เกมดังกล่าว เปลี่ยนจากเรต M ไปเป็นเรต AO เกมสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งร้านขายเกมส่วนใหญ่ในอเมริกามีนโยบายไม่จำหน่ายเกมเรตนี้ จนผู้พัฒนาเกมต้องหันกลับไปหั่นฉากนี้ออกและออกเกมเวอร์ชันใหม่ ตามมาด้วย GTA:Liberty City Stories เครื่อง PSP ใน 2005 จนมาถึง GTA 4 ในปีนี้ ล่าสุดร็อกสตาร์ก็เพิ่งประกาศสร้างเกม GTA:Chinatown Wars บน DS เครื่องเกมพกพาขายดีที่สุดในโลก (เกมหลายๆตอนของ GTA ส่วนหนึ่งจะออกเวอร์ชันพีซีตามหลังมา)
ผลกระทบหนึ่งที่บรรดาหนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวหรือโปรยข่าวให้ดึงดูดใจผู้อ่าน คงเป็นการจัดประเภทเกม GTA ให้อยู่ในกลุ่ม “เกมออนไลน์” นั้น ถึงแม้ว่าจะมีโหมดการเล่นแบบออนไลน์ได้ในเกมก็ตาม แต่ในอุตสาหกรรมเกมโลกไม่ได้จัดเกมนี้ให้อยู่ในพวกเดียวกับ “เกมออนไลน์” เหมือนที่เปิดบริการเล่นฟรี ขายไอเท็มหรือเก็บค่าแอร์ไทม์ ซึ่งพบเห็นและหาเล่นได้ง่ายในประเทศไทยแต่อย่างใด เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย
แน่นอนว่าเมื่อข่าวออกไปพ่อแม่ผู้ปกครองจะเริ่มหวาดกลัวไปกับข่าวอันน่าสลดดังกล่าว และห้ามปรามบุตรหลานเล่นเกมตามมา โดยไม่ได้พิจารณาว่าเกมไหนเป็นอย่างไร แต่จะเหมารวมไปเสียหมด สืบเนื่องจากตัวเองไม่ได้ใส่ใจบุตรหลานเท่าที่ควรหรือคอยติดตามข่าวสารด้านเกมเลยว่าเกมไหนในต่างประเทศเคยมีข่าวในทางไม่ดีมาแล้วบ้าง โดยมีข้ออ้างเป็นเสียงตามมาว่า “วันๆก็ทำงานหาเงินเหนื่อยสายตัวแทบขาดจะตายอยู่แล้ว จะให้มาสนใจเรื่องไร้สาระพวกนี้ได้อย่างไร” นี่แหละคือจุดเริ่มของการไม่พร้อมจะมีลูก แต่หากเป็นข่าวละครไทย ดาราคู่ขวัญเกิดปิ๊งรักกันหรือเลิกลากันละก็...แทบไม่เคยตกข่าว
ทุกครั้งที่มีข่าวในเชิงลบของเกมออกมาในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกระทรวงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง (มีความคิดเป็นลบเรื่องเกมในหัวอยู่เป็นทุนเดิม) หรือจิตแพทย์ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตามข่าว โดยมีบรรดานักข่าวเหมือนตัวผมนี่แหละ โทรศัพท์ไปขอให้แสดงความเห็นเพื่อเติมเต็มข่าวให้สมบูรณ์ตามระเบียบปฏิบัติที่มักชอบทำกัน ทุกครั้งก็จะให้ความเห็นในเชิงต่อต้าน อ้อนวอนให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังสอดส่อง และบอกว่ากำลังดำเนินกิจกรรมหรือตั้งกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อดูแลตีกรอบให้สังคมอยู่ ผลออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างที่คาดเอาไว้ ก็คือไม่มีอะไรคืบหน้าและแก้ปัญหาไม่ได้ แค่ทำตามหน้าที่ในตำแหน่งในเก้าอี้ เพราะผู้ที่มีอำนาจแทบจะไม่รู้จักเกมเลย
เมื่อถามว่าทำไมเด็กไทยตัวเล็กๆจึงเล่นเกม GTA นี้ได้ ในเมื่อต่างประเทศเขามีกฎหมายห้ามร้านเกมจำหน่ายเกมตระกูล GTA เกือบทุกภาคสำหรับผู้ที่มีอายุ 17 ปี หรือ 18 ปีขึ้นไป? ผมขอตอบด้วยความคิดส่วนตัวเลยว่า ในสังคมไทยนั้น “การจัดเรตเกม” อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้แค่บางส่วนสำหรับเกมออนไลน์และเกมกล่องพีซีที่นำเข้ามาขายในบ้านเรา ช่วยให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เกมออนไลน์ตัวหนึ่งอาจจะจำกัดเรตอายุ ด้วยการยืนยันหมายเลขบัตรประชาชน แต่ปรากฏว่า เมื่อเด็กอายุไม่ถึงเกณฑ์ก็จะไปขอเลขบัตรประชาชนจากพ่อแม่ผู้ปกครองมาใช้แทน พ่อแม่บางคนที่เท่าทันลูกก็อาจไม่ให้ไป แต่บางคนไม่รู้ก็จะถูกลูกหยิบยืมไปใช้ได้ รวมถึงเด็กบางคนก็อาจจะไปใช้ของญาติพี่น้องแทน เรียกว่ามันมีช่องว่างให้เด็กเสมอ ตราบใดที่ผู้ปกครองไม่ใส่ใจ
ส่วนเกมกล่องพีซี แม้เกมจะถูกต้องตามลิขสิทธิ์ก็ตาม หรือมีเรตเกมกำหนดไว้บนตัวกล่องก็ตาม แต่พบว่าผู้ขายบางคนมักละเลยช่วงอายุเด็กที่ซื้อ หรือมีวุฒิภาวะพอหรือไม่ คิดเพียงว่าอยากซื้อก็อยากขาย สั่งมาแล้วขายไม่หมดก็ขาดทุน
แต่ถ้าไปดูพฤติกรรมคนที่เล่นเกมโหดๆอย่าง GTA ส่วนใหญ่มักจะเล่นกันเกมบนเครื่องเกมคอนโซลเพลย์สเตชัน หรือ Xbox ที่ผู้เล่นสามารถหาซื้อแผ่นก๊อปปี้ซอฟต์แวร์เกมจากห้างร้านได้อย่างสบายในราคาแค่ 50-150 บาทเท่านั้น เพราะหลักของการขายเกมละเมิดลิขสิทธิ์ก็คือขายให้ได้มากที่สุดและขายอย่างไรไม่ได้ตำรวจจับ ขณะเดียวกัน บนเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ๆจะมีเมนูให้พ่อแม่เป็นผู้ตั้งรหัสผ่านเพื่อกำหนดควบคุมไม่ให้ลูกใส่แผ่นเกมเกินเรตที่พ่อแม่กำหนดไว้บนเครื่อง แต่เกือบทั้งหมดของพ่อแม่ในไทยไม่เคยทราบเรื่องนี้เลย
นอกจากนี้ พ่อค้าแม่ค้าขายแผ่นเกมบางส่วนไม่ได้คำนึงในเรื่องเรตเกม (ไม่ได้เหมารวมทั้งหมดนะ) ขณะที่ผู้ประกอบการร้านเกมบางคนก็ละเลยในจุดนี้เช่นกัน ปล่อยให้ลูกเด็กเล็กแดงเล่นเกม GTA กันน่าตาเฉย (ไม่ได้เหมารวมร้านทั้งหมด เพราะร้านดีๆก็มีอยู่มาก) หนำซ้ำเด็กบางคนก็พัฒนาถึงขั้นไปโหลดเกมจาก BitTorrent มาได้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วค่อยไรท์ลงแผ่นเองก็มี ฉะนั้น มาตรการการจัดเรตคงไม่ได้ผลสำหรับกลุ่มเด็กๆจำนวนมากที่เล่นเกมเครื่องคอนโซล ทางที่ดีที่สุดก็คือให้พ่อแม่ช่วยเจียดเวลาสักนิดมาสนใจลูกในสิ่งที่เขาสนใจบ้าง เราจะได้ทราบว่าเกมไหนเป็นอย่างไร นั่งเล่นด้วยกันกับลูกก็จะยิ่งดีไปใหญ่ อย่าอ้างว่าตัวเองเป็นคนด้อยทางเทคโนโลยีเลย มันเข้าใจไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ไม่คิดจะทำมากกว่า หากเด็กที่ครอบครัวมีปัญหา สามารถแยกแยะโลกของเกมกับโลกความจริงออกได้ด้วยตัวเองก็ถือเป็นโชคดีไป แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ขึ้นมาล่ะ
ยิ่งคุณปิดกั้นลูกมากๆ เขาก็จะยิ่งพยายามแหกคอก หลบๆซ่อนๆไปเล่นมันอยู่ดี แต่ถ้าคุณปล่อยอิสระให้ลูกอยู่กับเกมมากเกินไป หรือให้เกมเลี้ยงลูก เพื่อท่านจะได้ไปทำอย่างอื่น ผลลัพธ์ก็จะเป็นอย่างที่เห็นนี่แหละ และก็ไม่แน่ที่ต่อไป อย่างกรณีความรุนแรงใน จ.อุดรธานี เมื่อเด็กเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเราขนพรรคพวกไปตีหรือรุมทำร้ายผู้อื่นได้อย่างหน้าตาเฉย โดยที่ตำรวจไม่จับหรือมีความผิดใดๆตามมา ทั้งๆตำรวจก็เห็นอยู่ตำตา มันจะต่างอะไรกับการให้ลูกเราสวมบทเป็นอาชญากรฆ่าคนในเกม GTA แล้วสามารถหลบหนีตำรวจได้ทัน
ผมเชื่อว่าคดีนี้จะช่วยเป็นอุทาหรณ์ให้ทั้งคนขายแผ่นเกมกับเด็กและร้านเกมบางร้าน ตระหนักในเรื่องนี้ต่อสังคมบ้าง ในเมื่อเรตเกมจากภาครัฐยากที่จะควบคุมในส่วนนี้ได้ หากเป็นไปได้ แม้คุณจะขายแผ่นเกมไม่ถูกกฎหมายก็ตามที แต่สำหรับเกม GTA หรือเกมไหนที่พ่อค้ารู้สึกว่ารุนแรงเกินไปสำหรับเด็กที่มาซื้อ คุณก็มีสิทธิ์ไม่ขายเกมนั้นให้เขา จำง่ายๆ หากข้างกล่องเขียนว่าเป็นเกมเรต “M” เหมาะสำหรับเด็กอายุ 17 ปีขึ้นไป ยกเว้น GTA หรือ Manhunt ที่น่าจะเหมาะกับเด็กไทย อายุ 20 ปี ขึ้นไป ส่วนกรณีพบพระสงฆ์-สามเณรมักมาเลือกซื้อเกมกลับไปเล่น จะเป็นไปได้ไหมที่บรรดาร้านจะงดขายให้ท่านด้วยเช่นกัน
สุดท้ายทุกคนก็จะโทษเกมเป็นผู้ผิด โดยไม่ได้ดูรากเหง้าของปัญหาเช่นนี้อยู่ร่ำไป หรือเทคโนโลยีมาเร็วเกินกว่าสังคมไทย? ผมไม่ได้มาแก้ตัวว่าเกมไม่ได้มีส่วนผิดสำหรับกรณีนี้ แค่มาอธิบายให้สังคมทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเท่านั้น
By…∞
อัยการมะกันเปิดรายชื่อ10 เกมโฉดประจำปี (((ข่าวนี้ทางผู้จัดการเกมนำเสนอไปตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2550)))