xs
xsm
sm
md
lg

ปิดเทอมใหญ่ คอเกมว้าวุ่น "จะเลือกซื้อเกม ร้านไหนดีนะ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวัสดี มิตรรักชาวเกมทุกท่าน หลังจากผมห่างหายจากงานเขียนไปพักหนึ่ง คราวนี้ได้เวลามาบริการเพื่อนๆกันอีกครั้ง ยังไงก็ขอฝากตัวฝากผลงานกับเพื่อนๆชาวเกมเมอร์อีกครั้ง และขอเริ่มต้นประเดิมด้วยบทความที่อาจจะช่วยให้เพื่อนๆที่กำลังจะซื้อเกมในช่วงปิดเทอมนี้ มีทางเลือกมากขึ้น ด้วยบทความแนะนำร้านเกม

**บทความนี้ เจตนารมณ์เพื่อเป็นแนวทางให้นักเล่นเกมมือใหม่หรือพ่อแม่ที่ต้องซื้อเกมให้น้องๆช่วงปิดเทอมนี้ โดยบทความนี้ ไม่ได้มีร้านเกมใดเป็นสปอนเซอร์ทั้งสิ้น**

ช่วงปิดเทอมถือว่าเป็นเวลาทองของบรรดาน้องๆหนูๆที่จะได้เล่นเกมกัน และปัญหาโลกแตกที่มีมากว่า 20 ปีแล้วนั้นก็คือ “จะเลือกซื้อเกมที่ร้านไหนดี” ที่ส่วนมากแล้ว ถ้าเป็นคอเกมกันแบบชนิดฮารด์คอร์ คงไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาเท่าไร เพราะคงมีร้านเจ้าประจำกันหมดแล้ว แต่สำหรับมือใหม่หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่มีความรู้เรื่องเกมล่ะ การที่ผู้ที่ไม่รู้อะไรเลยเดินไปในดงร้านเกมเปรียบเสมือนเอาผ้าผูกตาแล้วเดินไปในดงกับระเบิดกันเลย มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะถูกฟันเลือดอาบ กลับบ้าน เพราะเป็นที่รู้กันว่า วงการเกมในบ้านเรายังต้องพึ่งพาเครื่องหิ้วเป็นหลัก ทำให้ขาดหลักประกันในการเลือกซื้อเกม จึงมีโอกาสเจอเครื่องย้อมแมวสูงมาก

เอาละ...ไหนๆก็ต้องซื้อเกมกันแล้ว อย่างแรกอยากจะแนะนำให้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องเกมที่ต้องการซื้อ สักนิดว่ามีสเปกอย่างไร มีจุดที่ต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง เช่น เครื่องมือถืออย่าง PSP และ DS ที่ต้องตรวจหน้าจอ ว่ามีเดดพิกเซลหรือไม่ หรือการเลือกโซนของเครื่อง Wii รวมทั้ง สืบ “ราคากลาง” ของเครื่องเกมที่จะไปซื้อด้วย โดยสามารถหาข้อมูลได้ทาง อินเทอร์เน็ต เช่นตาม web board แฟนคลับของเครื่องนั้นๆ(สามารถใช้ google หาได้) ที่ต้องเตรียมไว้บ้างเผื่อคนขายมั่วข้อมูล จะได้รู้ว่าร้านไหนมันหลอกเรา ต่อไปก็ได้เวลาลงสนามรบ เฮ้ย...หาแหล่งขายเกมกันแล้ว....

แน่นอน พูดถึงแหล่งที่ขายเกมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ต้องนึกถึง “สะพานเหล็ก” แต่ที่นี่เองก็เป็นตำนาน ในแง่ลบเหมือนกัน จนในบางครั้งคอเกมมือใหม่ เดินเข้าไปซื้อแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ มีโอกาสถูกฟันเลือดอาบกลับมาสูง ดังนั้นการเตรียมข้อมูลของเครื่องที่จะซื้อนั้นสำคัญมากๆ ข้อดีของสะพานเหล็กที่เรารู้ๆกันก็คือ ราคาที่ถือว่าถูกกว่าที่อื่นและมีร้านเกมให้เลือกมากมายหลายร้าน ข้อเสียก็คือ สถานที่ที่แคบมากแค่เดินสวนกันยังลำบากเลย ทำให้การเลือกซื้อเกมไม่สะดวกสบายเหมือนเดินห้าง และยังทำให้การลองทดสอบเครื่องเกม ทำให้ไม่นาน เพราะสถานที่อันคับแคบ ทำให้คนขายบริการไม่ได้ทั่วถึง แถมด้วยค่าจอดรถที่แพงสุดโหด (ควรใช้ขนส่งมวลชนจะดีที่สุด) ดังนั้นถ้าจะเดินทางไปสะพานเหล็กต้องคิดดีๆก่อนว่า คุ้มหรือไม่ที่จะเดินทางไป

ส่วนของการเลือกร้านเกมที่สะพานเหล็ก ในเมื่อเราไม่รู้จักร้านไหนเลย ก่อนอื่นควรเลือกจากภายนอกร้านว่า ดูน่าเชื่อถือแค่ไหน ไม่ใช่ตัวร้านโล่งๆแบบเตรียมปิดหนีได้ทุกเมื่อก่อน และควรหลีกเลี่ยงร้านที่เอาเครื่องเกมมาพันโฟมเป็นมัมมี่ แล้วเอาปากกาเมจิกเขียนอ้างสรรพคุณเกินจริงของสินค้า เช่นเครื่องนี้ใช้หัวอ่านเพชร (มุขคลาสสิกสมัย เพลย์ 1) หรือ ชิปเทพเล่นได้ทุกโซน และการติดราคาที่ถูกมากจนผิดปกติ ร้านแบบนี้พอเราหลงกลไปซื้อก็จะมาบอกที่หลังว่า ราคานี้ เป็นชิปจีนแดงนะ เล่นไม่ได้ทุกแผ่น หรือจอยที่แถมมาเป็นของปลอมนะ ถ้าจะเอาของแท้ต้องเพิ่มเงิน หรือราคานี้ไม่ให้หม้อแปลงนะ (แล้วจะเล่นยังไงเนี่ย) ที่ไปๆมาๆรวมแล้ว ราคาจะแพงกว่า ร้านอื่น สรุปง่ายๆ ร้านที่ดี เค้าจะไม่เอาราคา(ที่ถูกเกินจริง) มาล่อลูกค้าให้เข้าร้านหรอก อย่าลืมของถูกไม่มีในโลก ดังนั้นอย่าให้ความโลภมาครอบงำ ค่อยๆเดิน ร้านในสะพานเหล็กที่ดีๆมีเยอะ

ต่อมา มาดูร้านเกมตามห้างสรรพสินค้ากันบ้าง ผมเชื่อว่าเพื่อนๆทุกคนคงเห็นร้านเกมในห้าง และมีความคิดเหมือนผมเมื่อก่อนว่า ร้านในห้างแพง ความจริงถ้าไม่นับร้านเกมที่ตัวห้างขายเอง(ไม่ได้เป็นการเช่าที่ขาย)ที่ขายแพงเวอร์แล้ว ส่วนใหญ่ในตอนนี้ ร้านเกมในห้างราคาไม่ต่างกับ สะพานเหล็กมากนัก เรียกได้ว่าไม่ได้ห่างกันเป็น 100% เหมือนแต่ก่อน ดังนั้นถ้าใครชอบความสะดวกสบายในการเดินทาง การหาที่จอดรถที่สะดวกกว่า ร้านเกมตามห้างก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าจะให้ผมลงลึกไปอีกหน่อยว่า ร้านตามห้างแบบไหนน่าสนใจ ผมว่าเป็นไปได้ควรเลือกร้านเกมที่ผู้ขายเคยเป็นเกมเมอร์เหมือนเราๆท่านๆ แล้วผันตัวเองมาเปิดร้าน เพราะคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะคนขายก็เป็นคอเกม และไม่ค่อยพบการหลอกลวง จากร้านประเภทนี้ แต่ร้านที่เปิดโดยพ่อค้า ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีนะ พ่อค้าเกมดีๆก็มีเยอะไป ส่วนวิธีจะรู้ว่าร้านเกมดีหรือไม่ ก็อย่างที่บอก เราต้องทำการบ้านและเตรียมข้อมูลในตัวสินค้านั้นๆให้ละเอียด ถ้าเตรียมตัวดี ยากครับที่จะโดนหลอก

ส่วนทางเลือกใหม่ในยุคนี้ นั่นคือ ร้านค้าบน “อินเทอร์เน็ต” ที่นับวันจะมีร้านประเภทนี้ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดมากมายหลายร้าน ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะด้วยต้นทุนเปิดร้านที่ค่อนข้างต่ำกว่า ทำให้เกมที่ขายมักจะราคาถูก หรือเท่ากับสะพานเหล็ก แต่การสั่งซื้อแบบนี้ไม่ได้มีการลองเครื่องก่อน ดังนั้นการเลือกร้านที่น่าเชื่อถือนั้นสำคัญมาก ความจริงผมไม่อยากแนะนำให้ซื้อผ่านช่องทางนี้นัก แต่ในระยะหลังมีร้านเกมที่เปิดกิจการในอินเทอร์เน็ตแล้วทำได้ดีเสียด้วย (ผมก็เคยสั่งหลายครั้ง) และสำหรับเพื่อนๆน้องๆที่อยู่ต่างจังหวัด ผมว่าเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ เพราะไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพมาซื้อ เอาเป็นว่า ร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต ถ้าคุณจะซื้อต้องแน่ใจในความซื่อสัตย์ของร้านและควรจะมีตัวร้านอยู่จริงๆ ไม่ใช่มีแค่เว็บ(เผื่อมีปัญหาอะไรจะได้ไปเคลมได้)

สุดท้ายแล้วไม่ว่าร้านเกมจะดูดีหรือเข้าข่ายไม่น่าจะหลอก แต่อย่างไรก็ตาม เราต้อง”ทดลองเล่นให้พอใจเสียก่อน”ถึงจะควักเงินออกมาซื้อ เพราะเงินไม่ใช่แค่ร้อย สองร้อย และการรับประกันที่แทบไม่มีประโยชน์(เพราะเป็นเครื่องหิ้ว) ดังนั้นไม่ต้องเกรงใจ “ลอง”ให้พอใจก่อนจ่ายเงิน ย้ำอีกทีว่า การทำการบ้านเตรียมข้อมูลของเครื่องที่เราจะซื้อนั้น สำคัญมากๆ ดังนั้นเพื่อนๆอย่าละเลยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นแทนที่จะได้สนุกกับเกมในช่วงปิดเทอม กลายเป็นต้องมาเป็นนั่งเครียด เพราะเครื่องเกมมีปัญหาเสียแทน และขอให้เพื่อนๆมีความสุข ไม่ว้าวุ่นใจ กับการเล่นเกมในช่วงปิดเทอมใหญ่นี้

Darth.vader วงศกร ปฐมชัยวัฒน์

ราคากลางอัปเดตวันที่ 17 มี.ค.51(อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
-Nintendo Wii US 14,000-15,500 บาท
-Nintendo Wii JP 11,500-13,000 บาท
-Nintendo DS Lite 5,200-5,400 บาท
-PSP Slim 6,800-7,500 บาท
-PS3 (40GB) 14,500-15,000 บาท
-PS2 5,200-5,500 บาท
-Xbox360 15,500-16,500 บาท

เว็บไซต์ที่ชาวเกมใช้หาข้อมูล
www.thainin.com
www.gconsole.com
www.dvdgameonline.com
www.hellowii.net
กำลังโหลดความคิดเห็น