จากกรณีมีการเผยแพร่ว่าประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งนาโต้ 2 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทย ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ประเทศไทยและรัฐบาลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่อย่างใด สำหรับปัญหาการส่งออกทุเรียนของไทย เป็นปัญหาด้านการจัดการระบบของฝ่ายจีนเอง และทุกประเทศยังไม่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรผ่านได้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย
วันนี้ (7 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งนาโต้ 2 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า ชะตากรรมทุเรียนไทย 740,000 ตัน และผลไม้ไทยจากนาโต้ 2 ทุเรียนไทยฤดูกาลนี้ 740,000 ตัน กำลังออกตลาดแต่มีปัญหาการส่งไปขายประเทศจีน และจะตามมาด้วยผลไม้อีกหลายชนิด ถ้าแก้ไขไม่ทันเกษตรกรทั่วประเทศก็เตรียมเจ๊งได้ ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า กรณีประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งนาโต้ 2 ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ ไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรณีประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งนาโต้ 2 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 นายธานี แสงรัตน์โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยไปทำความตกลงกับสหรัฐฯ ในการจัดทำเรื่องเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ดังนี้
1. เอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว (unilaterally) เพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ กับแต่ละภูมิภาค และมีการปรับทุกปี โดยเป็นเอกสารที่หลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ช่วยกันประมวลทำขึ้นมาเองไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ และไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด
2. ในส่วนของเอกสารที่เป็นข่าวว่ามีการจัดทำร่วมกันระหว่างสองฝ่ายไทยและสหรัฐฯ นั้น เอกสารการแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (ค.ศ. 2020) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ (Joint Vision Statement 2020 for the Thai – U.S. Defense Alliance) ซึ่ง นรม. ในฐานะ รมว.กห. ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ร่วมกับนาย Mark Esper รมว.กห. สหรัฐฯ ในขณะนั้น โดยเป็นเพียงการแสดงวิสัยทัศน์ร่วม ย้ำความเป็นพันธมิตร และเสริมสร้างความสัมพันธ์ และเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่าง กห.ทั้งสองฝ่าย ไม่มี ข้อผูกมัดใด ๆ ที่จะมีขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นสัญญาหรือความตกลงในรูปแบบใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ การจัดทำเอกสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามปกติและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการประชาสัมพันธ์การลงนามต่อสาธารณชนผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ อย่างเปิดเผยด้วยแล้ว
3. การดำเนินนโยบายต่างประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือ และความมั่นใจของนานาประเทศในความมั่นคงและความมีเอกภาพของนโยบายของไทย จึงใคร่ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน มิใช่เป็นเรื่องที่ไม่จริงแต่บอกเล่ากันต่อ ๆ มาจนกลายเป็นข้อเท็จจริง เพราะเรื่องการต่างประเทศ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นเอกภาพของนโยบายของเราได้ ก็จะเป็นปัญหาของประเทศเราเอง
สำหรับปัญหาการส่งออกทุเรียนของไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการเป็นพันธมิตรหรือการรวมกลุ่มตามลิงก์ข่าวที่อ้างถึง แต่เกิดจากนโยบายควบคุมให้การติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศเป็นศูนย์ (zero Covid) ของรัฐบาลจีน ทำให้การตรวจสินค้าที่ขนส่งผ่านระบบ cold chain เช่น ผลไม้ เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ทุกประเทศที่ขนส่งสินค้าเกษตรไปจีน ในเส้นทางบกล้วนประสบปัญหาเดียวกัน และ ผู้ประกอบการนิยมขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนในเส้นทางบกมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและประหยัดเวลา โดยผ่านด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ทาง สปป. ลาว, ด่านโหย่วอี้กวาน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางเวียดนาม และด่านสถานีรถไฟผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางสถานีรถไฟด่งดัง เวียดนาม ซึ่งทางการจีนยังไม่อนุญาตให้ขนส่งผลไม้/สินค้าเกษตรผ่านด่าน สถานีรถไฟโม่ฮาน มณฑลยูนนาน เนื่องจากด่านตรวจพืชและสัตว์ของศุลกากรทางรถไฟของจีนยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น ปัญหาการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านรถไฟลาว-จีนจึงเป็นปัญหาด้านการจัดการระบบของฝ่ายจีนเอง และทุกประเทศยังไม่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรผ่านได้ไม่ใช่แค่ประเทศไทย และปฏิญญาซานย่าที่ไทยร่วมรับรองในที่ประชุมแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่ประเทศจีน ตั้งแต่ 2559 มีประเด็นครอบคลุมความร่วมมือหลายด้าน แต่ไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการขนส่งผลไม้/สินค้าไทยไปจีน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ดังนี้
กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และนครคุนหมิง รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการเกษตรในประเทศจีน ได้หารือเรื่องการอำนวยความสะดวก การนำสินค้าผลไม้ไทยเข้าจีนกับผู้ที่เกี่ยวข้องของฝ่ายจีนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ด่าน อาทิ การขยายเวลาการเปิด-ปิดด่าน การเพิ่มเจ้าหน้าที่บริเวณด่าน และการมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนมาตรการ/การปิดด่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมตัวหรือปรับแผน ในการส่งออกผลไม้ได้ทันท่วงที ล่าสุดในการเยือนจีนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นการแก้ปัญหาสินค้าผลไม้ติดค้างที่ด่านเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ผลักดันกับทั้งมนตรีแห่งรัฐฯ และผู้บริหารหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลาง และระดับท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายจีนได้รับจะนำข้อเสนอต่าง ๆ ของไทยไปพิจารณาต่อไป
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.mfa.go.th/th หรือโทร 0-2203-5000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กรณีประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งนาโต้ 2 ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ ไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด สำหรับปัญหาการส่งออกทุเรียนของไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการเป็นพันธมิตรหรือการรวมกลุ่มตามลิงก์ข่าวที่อ้างถึงปัญหาการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นปัญหาด้านการจัดการระบบของฝ่ายจีนเอง และทุกประเทศยังไม่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรผ่านได้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ