xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้ว!! “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” ชูแนวคิด ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ยกระดับต้นแบบการพัฒนาเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดอย่างเป็นทางการแล้วกับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) ภายใต้ธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ เทศกาลฯ จัดตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรม คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 300,000 คน ผ่านงานออกแบบหลากหลายศาสตร์ ซึ่งถูกคิดมาเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ยิ่งขึ้น พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างต้นแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครต่อไป

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “การจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ในปีที่ 7 นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อันจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของธุรกิจไทยในระดับสากล ซึ่งงานนี้ทำให้เราได้เห็นภาพของการใช้เทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตและขยายไปสู่ต่างประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนกระบวนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกมีความสนใจและต้องการซื้อสินค้าและบริการสร้างสรรค์ของไทยมากขึ้น ฉะนั้นงานนี้จะเป็นพลังให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไป” นายเศรษฐา 
 
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่กำลังชวนทุกคนมาร่วมกันลงมือทำ เพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่ตลาดโลก โดยจะเป็นเสมือนแหล่งรวมแนวคิดและผลผลิตใหม่ ๆ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของเมือง ที่เป็นเหมือนวัตถุดิบให้ภาครัฐและเอกชน ได้นำไปส่งเสริมและต่อยอดให้เข้มแข็ง และเมื่อสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีพลังดึงดูดผู้คนให้สนใจและกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อตั้งแต่ระดับการค้า การลงทุน ไปจนถึงการเดินทางมาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ มุ่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนำไปสู่การพัฒนาองค์ประกอบสำคัญของการสร้างอีโคซิสเต็มนิเวศ อันได้แก่ ธุรกิจ ผู้คน และพื้นที่ โดยการจัดงานทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,948 ล้านบาท และยังทำหน้าที่เป็น 'แพลตฟอร์ม' ที่สื่อสารเรื่อง ‘คน ธุรกิจ ย่าน และเมืองสร้างสรรค์ ไม่ใช่ 'อีเวนต์' ที่จัดขึ้นแล้วจบไป แต่มีการนำเสนอความคิดและการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยรวมไอเดียจากนักสร้างสรรค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เทศกาลฯ ยังได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการผลักดันให้กรุงเทพฯ เติบโตในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ หรือ Bangkok City of Design อีกด้วย

ด้านผู้สนับสนุนของงานเทศกาล นายพัชร ชยาสิริ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์คอนโดมิเนียม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เอพี ไทยแลนด์ ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าของไทย ได้สรรสร้าง ‘LIVE WELL SPACE’ ซึ่งเป็น Experiential Space โดยถ่ายทอดมาจากแนวคิดนวัตกรรมการออกแบบพื้นที่ของเอพี ที่มีความหมายมากกว่าแค่ความสวยงามและความทันสมัย แต่ยังแสดงถึงความเข้าใจในรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อให้ได้สัมผัสถึงประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มาช่วยแก้ปัญหา Pain Point และตอบโจทย์ Insight ความต้องการของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นความร่วมมือของเอพี ที่มีต่อการร่วมสร้างสรรค์และขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่ และยังเป็นหนึ่งในพลังการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการตระหนักรู้ และต่อยอดแนวคิดการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในสังคมให้มาใส่ใจกับการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนได้มากขึ้น”

นางสาวมิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารแบรนด์และการตลาดองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยว่า “เพราะความคิดสร้างสรรค์สามารถเป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสามารถนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมได้ กรุงศรี ในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจของประเทศ เราพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและผลักดันการพัฒนาเมือง เพราะกรุงศรีฯ เชื่อว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่กว่านี้ได้ สำหรับงานเทศการออกแบบในปีนี้ พบกับ “กรุงสี by กรุงศรี” (The City of Colours) ที่สะท้อนเมืองในฝันในแบบที่อยากเห็น ด้วยคำถามง่าย ๆ ‘อยากเห็นกรุงเทพฯสีอะไร’ โดยให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยออกแบบกรุงเทพฯ พร้อมจุดประกายไอเดียให้ผู้เข้าร่วมงานได้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น”

นายชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล Chief Development and Commercial Officer บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เซ็นทรัลพัฒนาเชื่อว่าพื้นที่แห่งการใช้ชีวิตที่ดีและยั่งยืน ควรตั้งต้นจากการฟังเสียงของผู้คน เพื่อเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตที่เข้าใจคนทุกเจเนอร์เรชั่นอย่างแท้จริง สะท้อนความหมายการร่วมสร้าง “Better Futures for All” โดยเราได้สร้าง Friends of Bangkok x Co-creating City สำหรับงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นการบอกเล่าเรื่องพื้นที่ที่เกิดจากการร่วมแชร์ไอเดียของทุกเจนเนอเรชั่น ผ่านการนำเอาตัวละคร Friends of Bangkok คาแรคเตอร์ของ centralwOrld มาชวนให้ทุกคนค้นพบโลกแห่งการใช้ชีวิตที่น่าอยู่ มีความสุข ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง Live, Place, People, Sport, Shopping, Eat, Music & Art ที่สะท้อนความรู้สึกแต่ละคน ใน Co-Creating City ที่ดีไซน์มาสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง เปรียบเสมือนพื้นที่แห่งการร่วมออกแบบเมืองไปด้วยกัน ด้วยความเชื่อที่ว่างานดีไซน์นั้นมีพลังในการช่วยแก้ปัญหาระดับเมือง และเป็นสื่อกลางที่สะท้อนความต้องการการสร้างสรรค์เมืองของคนทุกเพศทุกวัย”

สำหรับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมือง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ที่ ‘น่ารัก’ กับทั้งผู้คนในเมือง นักลงทุน และผู้มาเยี่ยมเยือน ผ่านหัวใจสำคัญ 3 มิติ ได้แก่ 1.Hard Matters เมืองดีต่อกาย กายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย มีสุขภาพดี 2.Heart Matters เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง 3.Design Matters เมืองออกแบบดี ชีวิตดี หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และเศรษฐกิจ โดยนำสนอกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรมที่ครอบคลุมทั้งในรูปแบบการจัดแสดง (Exhibition) เสวนา (Talk) เวิร์กชอป (Workshop) อีเวนต์ (Event) ดนตรีและการแสดง (Music & Performing) ทัวร์ (Tour) ตลาด (Market) และโปรโมชัน (Promotion) ครอบคลุมทั้งหมด 15 ย่านและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ (1) เจริญกรุง - ตลาดน้อย (2) พระนคร (3) ปากคลองตลาด (4) นางเลิ้ง (5) เยาวราช (6) หัวลำโพง (7) อารีย์ - ประดิพัทธ์ (8) บางโพ - เกียกกาย (9) วงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู (10) เกษตรฯ - บางบัว (11) พร้อมพงษ์ (12) สยาม - ราชเทวี (13) บางกอกใหญ่ - วังเดิม (14) พระโขนง - บางนา (15) บางมด และอื่นๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkokdesignweek.com, Facebook/Instagram:bangkokdesignweek,Twitter:@BKKDesignWeek, Line:@bangkokdesignweek #BKKDW2024 #BangkokDesignWeek #LivableScape แล้วพบกัน วันนี้ - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 11:00 - 22:00 น.

-------------------------------------------------------

เกี่ยวกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week จัดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยเป็นเทศกาลสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งร่วมผลักดันกรุงเทพฯ ให้เติบโตและโดดเด่นในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network: UCCN) สาขาการออกแบบ (Bangkok City of Design) อีกด้วย

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย โดยมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 400,000 คนในแต่ละปี โดยตลอด 6 ปีของการจัดงาน (พ.ศ. 2561 - 2566) เทศกาลฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1,948 ล้านบาท เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ การกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม บริการขนส่งมวลชน ฯลฯ

เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน): สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA เป็นหน่วยงานเฉพาะด้านที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ให้เติบโต และส่งเสริมให้ภาคการผลิตนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจและประเทศในระดับสากล













กำลังโหลดความคิดเห็น