วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 ห้องประชุมอาคารอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม “เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพระบัญชาโปรดให้ “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์อุปนายกสภามหาวิทยาลัย” ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปี 2566 โดยมี “พระเทพวัชรเมธี” ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ บัณฑิตใหม่และพุทธศาสนิกชนถวายการต้อนรับ
สำหรับพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี 2566 นี้ ผู้แทนพระองค์เมตตาให้ผู้ที่ได้รับการเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 16 รูป/คน ปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 63 รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 356 รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน 1343 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 1762 รูป/คน เข้ารับปริญญา
โอกาสนี้ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เชิญพระโอวาทของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ความตอนหนึ่งว่า “ผู้สำเร็จการศึกษาทุกรูปทุกคน คงได้รับคำชื่นชมยินดีจากญาติมิตรทั่วหน้า ที่เรียกว่า มุทิตา หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับผลดี อันมีสาเหตุจากการกระทำดี ซึ่งเป็นภาวะที่สังคมไทยพึงเร่งสั่งสมอบรมให้เพิ่มพูนขึ้นทั่วไปเพราะมุทิตาจิตด้วยความจริงใจนั้น ย่อมเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความอิจฉาริษยา อันเป็นต้นเหตุของความวิวาทบาดหมาง แตกสามัคคี ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงของสังคมทุกระดับ
ถ้าคนเราไม่ลุอำนาจของกิเลสที่เป็นความริษยา หากแต่พร้อมเพรียงกันยินดีในความสุขความเจริญของผู้ประสบความสุขความเจริญ ย่อมจะทำให้หมู่ชน ประเทศชาติ ตลอดจนถึงโลกนี้ มีความสุขความเจริญขึ้นพร้อม ๆ กัน โดยปราศจากการทำลายล้างอันยังความพินาศ ทุกประการ
เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้ไม่มีความริษยา ในสุขประโยชน์ของใคร ๆ ถ้าเห็นใคร ๆ บรรลุสุขประโยชน์ ก็จงมีจิตใจชื่นชมยินดีในสุขประโยชน์ที่เขาได้รับ และจงเร่งประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ดังกล่าวบ้าง เมื่อใครเขาจะเป็นคนดีไปก่อนก็ให้เขาเป็นไป และจงมีใจยินดีด้วย ถ้าตนเองต้องการเป็นคนดีบ้างก็พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดี ให้เป็นคนดีด้วยกันทั่วหน้า โดยเสมอกันทุกภาคส่วนในสังคม”
หลังเสร็จพิธีประทานปริญญาบัตรแล้ว เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ปลูกต้นทองกวาวเป็นอนุสรณ์และเพื่อเพิ่มร่มเงาในมหาวิทยาลัย