xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพระสังฆราชฯ” ประทานพระบรมสารีริกธาตุ ในพิธีฉลอง “พระพุทธวิชชาจรณุตตมงคล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เสด็จออกตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเฝ้ารับประทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเชิญไปบรรจุ ณ พระรัศมี พระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล ซึ่ง "พระพุทธวิชชาจรณุตตมงคล" เป็นพระพุทธรูปขนาด 51 นิ้ว ประดิษฐาน ณ อาคารปฏิบัติธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้รับประทานนามซึ่งสะท้อนความถึงพร้อมแห่งวิชชาและจรณะซึ่งเป็นพระพุทธคุณอันประเสริฐ และได้น้อมนำมาเป็นปรัชญาในการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย  ทางมหาวิทยาลัยจึงขอประทานพระอนุญาตจัดถวายในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 8 รอบ

โดยโปรดให้เชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบไปประดิษฐานเป็นปฐมวาระแห่งมงคลสมัยพิเศษนี้ โดยได้พระบัญชาโปรดให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2566

จากนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจิมพระรัศมี พร้อมทั้งสุวรรณฉัตร เชิญขึ้นถวาย พระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล และเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระพุทธปฏิมา ต่อด้วยกล่าวสัมโมทนียกถาเปิดโครงการปฏิบัติธรรมเนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา สำหรับกิจกรรมจัดขึ้น 5 วัน โดยมีกิจกรรมปฏิบัติกรรมฐาน สดับพระธรรมเทศนา และทำบุญตักบาตร โดยวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ ศาสตร์แห่งความสุข : พุทธปัญญากับชีวิตวิถีพุทธในโลกสมัยใหม่อีกด้วย

พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวว่า “ในปีนี้เป็นการจัดกิจกรรมถวายเป็นพุทธบูชาและอาจริยบูชาในโอกาสที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 8 รอบ โดยสมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานนามพระพุทธรูปประจำสถานปฏิบัติธรรมว่า "พระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล" ประทานแผ่นทองในการเททอง และมีพระบัญชาโปรดให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมา ไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566”

“และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือวันสำคัญของชาติ จะมีการจัดกิจกรรม ณ อาคารปฏิบัติธรรมแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ดำเนินโครงการโดยสถาบันกรรมฐานศึกษาสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์ รวมถึงมีการจัดโครงการในส่วนภูมิภาคของมหาวิทยาลัยที่มีทั้งหมด 7 วิทยาเขตและ 3 วิทยาลัยทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยฯ ปรารถนาให้เกิดการเผยแผ่พระสัทธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาในวงกว้าง เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เข้าถึงและน้อมนำหลักธรรมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เห็นผลสัมฤทธิ์สืบไป” พระเทพวัชรเมธี กล่าวทิ้งท้าย 











กำลังโหลดความคิดเห็น