xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” สามัญชนคนแรก ได้ ป.ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เชิดชูความดีด้านสาธารณสุขต่อประเทศชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งว่า สภาสถาบันพระบรมราชชนก ได้มีมติเอกฉันท์มอบปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2566 แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหนังสือเชิญเข้ารับมอบปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา

วันนี้ (12 พ.ย.66) ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยปกติแล้วเป็นปริญญาที่ให้กับผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดในประเทศ พร้อมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ในส่วนของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน ซึ่งตอนที่ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านเองก็ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการโดยขณะนั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำโครงการ “สบช. สัญจร” เดินทางไปแนะแนวนักเรียนทั่วประเทศกว่า 2,360 แห่ง สร้างความเสมอภาคให้กับนักเรียนทุกคนในการเข้ามาศึกษาในสถาบันพระบรมราชชนก ในสาขาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทุกโรงเรียนในระดับอำเภอได้เข้ามาเรียนในสถาบันฯ ขณะนี้เรากระจายนักศึกษาสาขาพยาบาล 1 คนกับสาขานักการสาธารณสุข 2 คน เพื่อให้เกิดการกระจายบุคลากรไปทั่วประเทศ

“โครงการที่เกิดขึ้นนี้เป็นการให้โอกาสเด็กในถิ่นทุรกันดารในชนบทได้ศึกษาในสถาบันฯ ผลิตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นดำริของท่านว่าการสธ. (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องถัดมาคือท่านได้ส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้เข้าเรียนในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ตอนนี้เรียนจบไปกว่า 2,000 คนแล้ว เพื่อให้โครงการ 3 หมอของท่าน สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้น ท่านยังมีดำริว่า กรณี อสม. ที่จบในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล แล้วมีผลการเรียนดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจดี ก็ควรได้รับทุนในการเรียนต่อ ในระดับชั้นปริญญาตรี เช่น สาขาพยาบาลศาสตร์ หรือสาขานักการสาธารณสุขศาสตร์

“ตอนนั้นท่านพูดแกล้งอาจารย์หมอ (ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย) ว่าได้มั้ย ได้มั้ย ให้เรียนต่อเลยได้มั้ย อาจารย์หมอก็เห็นว่าควรจะทำเช่นนั้น เพราะยังไม่มีใครทำ อาจารย์หมอเลยรับปากท่านไป นำมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งนโยบายที่ท่านให้มานั้นก็เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นที่ประจักษ์” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า สำหรับการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มีการมอบครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมอบให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งจะมีการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556

“ส่วนของท่านอนุทิน เป็นสามัญชนคนแรก ที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง ที่ได้เข้ารับปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก สบช. ซึ่งคาดว่าจะมีกำหนดการเข้าไปรับในสำนักพระราชวังในช่วงเดือนเมษายนปี2567 เราทำงานกับท่านรองเห็นท่านทำงานเชิงประจักษ์ แม้กระทั่งเรื่องสถานที่ตั้งสถาบันฯ ที่เราหาที่ตังค์ไม่ได้แต่ท่านก็หามาให้ได้คืออยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุข บริเวณหลังโรงพยาบาลศรีธัญญา ทุกอย่างมีที่มาที่ไปทั้งหมด โดยผลงานที่เป็นที่ประจักษ์” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเสนอบุคคลเพื่อให้ได้รับปริญญาบัตรสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของ สบช. ให้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล โดยภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ สาขาวิชา/ปริญญาที่เสนอ คือ 1.นโยบายเกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข ที่ทำให้ระบบปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง ให้คนไทยทุกคนมีหมอ 3 คน คอยดูแลประจำคือ อสม. หมออนามัย และหมอครอบครัว เพราะมีการส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนในการใช้พืชสมุนไพรกัญชากันชง ผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

2.ส่วนผลงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เช่น บันทึกความร่วมมือกับทางสถาบันฯ เพื่อเป็นเครือข่ายสร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข, โครงการ สบช.โมเดล สร้างสุขภาพวะที่ดีให้กับประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคแทรกซ้อน, พร้อมทั้งให้โอกาส อสม. กว่า 3,000 คน อบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล, ผู้ริเริ่มโครงการอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” ประจำ 1 วัด 1 รูป เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีผลงานโดดเด่นคือ “ภารกิจหัวใจติดปีก“ ซึ่งเป็นปฐมบทของภารกิจเหนือการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนายอนุทิน และ นพ.พัชร อ่องจิต อาจารย์ศัลยแพทย์ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น