xs
xsm
sm
md
lg

สสส.เผยความก้าวหน้าการดำเนินงาน จัดเก็บ ‘ภาษีน้ำตาล’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปัจจุบันทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (Non Communicable Diseases; NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 3 ใน 4 ของคนไทย กลุ่มโรคดังกล่าวเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ  และหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเช่น อาหารหวาน มัน เค็ม เป็นต้น    จากข้อมูลการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี 2559 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 27 ช้อนชา และมีแนวโน้มที่อาจสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา 

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การกำหนดให้มีการติดฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายเพื่อแสดงส่วนประกอบของสารอาหารที่สำคัญทั้งปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ตลอดจนมีการให้ความรู้กับสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับการควบคุมกำกับการจำหน่ายอาหารที่มีน้ำตาลสูงในโรงเรียน อย่างไรก็ตามพบว่า แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลยังคงอยู่ในระดับสูง และปริมาณที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องคือน้ำตาลในเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาหามาตรการอื่นๆ ทั้งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และถอดบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว 

มาตรการด้านภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน (Sugar Sweetened Beverages Tax : SSBs Tax) ได้มีการดำเนินในต่างประเทศกว่า 80 ประเทศ และในประเทศไทยเองก็มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก่อนนี้ แต่อัตราการเก็บภาษีที่ผ่านมา ยังไม่มีการปรับตามระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในแต่ละผลิตภัณฑ์ 

เมื่อศึกษาอย่างรอบด้านทั้งในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การคลัง และด้านสุขภาพ จึงพัฒนาไปสู่การเริ่มดำเนินการเก็บภาษีได้จริงเมื่อปี 2560  การจัดเก็บภาษีกำหนดเป็นการเพิ่มแบบขั้นบันได มีช่วงเวลาให้ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวในการผลิต (ตามตารางการเก็บ) ที่ผ่านมามีการเลื่อนการปรับระดับภาษีในช่วงที่คำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจช่วงการแพร่ระบาดโควิด19 โดยเน้นว่า 
มาตรการนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มรายได้ของภาครัฐในการจัดเก็บภาษี แต่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในประเด็นสุขภาพ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหาร มีการปรับสูตรส่วนผสมน้ำตาลให้น้อยลง ปรับขนาดผลิตภัณฑ์ และลดพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน 

หลังดำเนินตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต พบว่า รายได้จากภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมีแนวโน้มที่ลดลงจาก 3,181.92 ล้านบาท ในปี 2561 ลงมาที่ 1,393.78 ล้านบาท ในปี 2565 อีกทั้งยังพบว่า ระดับความหวานของผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นมีแนวโน้มลดลง เช่น 

- การปรับสูตรน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัม/ลิตร เพิ่มขึ้น จาก 90 ล้านลิตร เป็น 4,835 ล้านลิตร

- การปรับสูตรน้ำตาลมากกว่า 14 กรัม/ลิตร ลดลง จาก 819 ล้านลิตร เหลือเป็น 9.5 ล้านลิตร   

และยังพบว่ามีเครื่องดื่มหวานน้อยที่ออกจำหน่ายสู่ตลาด เพิ่มขึ้นร้อยละ 35  โดยรวมทำให้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยลดลงจาก 27 ช้อนชาต่อวัน เหลือ 23.7 ช้อนชาต่อวัน ในปี 2559 และ 2564 ตามลำดับ

นอกจากนี้ การศึกษาจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า หากประเทศไทยมีการปรับอัตราภาษีตามแผนในรอบที่ 4 ปี 2568 ประชากรจะอ้วนลดลง ณ ปี 2568 ผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 1 (BMI 25≤30) จะลดลง 3.8% และผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 2 (BMI 25>30) จะลดลง 7.8% สามารถป้องกันการเกิดโรค NCDs ณ ปี 2579 ได้แก่ เบาหวาน 21,000 คน หัวใจขาดเลือด 2,000 คน หลอดเลือดสมอง 1,100 คน โดยรวมมีจำนวนปีสุขภาวะตลอดชีพของประชากรเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านปีหรือเฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคน และรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีในการรักษาโรคได้ถึง 121.4 ล้านบาท ณ ปี 2579 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการดำเนินตามมาตรการทางภาษี แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องเน้นย้ำการดำเนินงานพื้นฐานให้เข้มข้นและมีความต่อเนื่อง เช่น การให้ความรู้กับสาธารณะ การปรับสิ่งแวดล้อมด้านอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานประกอบการ โรงพยาบาล มีรณรงค์ให้มีการปรับสูตรความหวานของเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้า ร้านกาแฟ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐที่กำหนดแผนการปฏิบัติการจากหน่วยงานภาครัฐที่จะมีส่วนในการควบคุมกำกับการดำเนินงานตามมาตรการ เพื่ออนาคตของคนไทยที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรงต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น