xs
xsm
sm
md
lg

สสส.นำทีมภาคีจัดงานเสวนาส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ชูพื้นที่สุขภาวะ “ทุกคนต้องเข้าถึงง่าย” หวังให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกาย หลุดพ้นจากกลุ่มโรค NCDs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “PA Forum : EP.1 - Active Environment for All การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม” ขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม

นายแพทย์ สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันนี้พฤติกรรมเนือยนิ่งแผ่กระจายไปทั่วเหตุเพราะสังคมก้มหน้า ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น หรือคนแก่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลักฐานเชิงประจักษ์ 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการสวนหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองเองก็เพิ่มถึง 3 เท่า สิ่งที่ สสส. ดำเนินการก็คือการเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม และประชาชน ข้อมูลจากสหประชาชาติ ระบุว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย (ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี) สูงถึงร้อยละ 74 สสส. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค สอดคล้องกับแนวทาง SDGs ของสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้กับประชากรทุกกลุ่มในการมีกิจกรรมทางกาย

“ที่ผ่านมาคนหาเช้ากินค่ำอาจจะไม่เคยได้รับรู้ถึงเรื่องพื้นที่สุขภาวะและการดูแลสุขภาพด้วยการขยับร่างกาย นี่จึงถือเป็นเรื่องท้าทาย เราต้องสานเชิงนโยบายให้มากขึ้น เชื่อมโยงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมในการจัดการ และใช้พลังของทุกภาคส่วนเพื่อเร่งให้เกิดการขยายพื้นที่สุขภาวะให้เร็วขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ไปด้วยกัน สสส.ต้องพึ่งพาทุกภาคส่วนที่จะมาเชื่อมโยงสอดประสานเพื่อร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขพฤติกรรมเนือยนิ่ง”

ขณะที่ ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า กิจกรรมทางกายถือเป็น 1 ใน 3 เรื่องที่ให้ความสำคัญ ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมี Health Active Lifestyle ผนวกแนวคิดขององค์การอนามัยโลกที่ได้ขับเคลื่อน Global Action on Physical Activity การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย การทำงานเพื่อตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกระดับ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงต้องมีการทำงานในเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น และสานต่อองค์ความรู้ด้านสุขภาพวะ โดยจะต้องเป็นพื้นที่สุขภาวะที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมไปพร้อมกันด้วย

“เดิมเราเคยมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ เขตห้ามขายสุรา พอมาเรื่องอาหารต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีพื้นที่ปลูกผักได้ ทุกอย่างจึงต้องมีพื้นที่เป็นตัวกำหนด ดังนั้นการที่เราจะขยับร่างกายอย่างมีความสุขได้ จึงไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อด้วย ซึ่งจะต่อเนื่องมาถึงเรื่องของเศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ผลต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือความร่วมมือจากท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดองค์ประกอบของพื้นที่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ หรือย่านชุมชน ซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่าง ๆ และเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาพื้นที่แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างพื้นที่ย่านตลาดน้อย นอกจากจะทำเส้นทางเดินที่ปลอดภัยเพื่อให้สามารถเดินเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ในชุมชนได้แล้ว จะต้องมีมิติทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวมาเกี่ยวโยงด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และชุมชน โดยประโยชน์ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ คนที่อยู่ในย่านนั้น เช่นเดียวกับที่ระยองและเชียงรายที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบ แสดงความคิดเห็น คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ คนมาเที่ยวเองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย”

ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวต่อว่า ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ทำการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ มีระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดประมาณ 4.5 กิโลเมตร โดยต้องใช้เวลาถึง 60 นาที การจะทำให้พื้นที่สุขภาวะกระจายตัวให้ทั่วถึงประชากรทุกระดับ สสส.จึงทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานเครือข่ายเพื่อพัฒนากระบวนการความร่วมมือ พัฒนาองค์ความรู้และการจัดการพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายในระดับประเทศ

“กทม.เองก็มีแนวนโยบายสวน 15 นาที ทำสวนให้คนเข้าถึงได้ง่ายและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนไปในตัว นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นซึ่งจะทำให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกเหนือจากการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระยะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางเข้าถึงไม่เกิน 15 นาที เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากการเป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตของประชากรเมือง ส่งเสริมระบบนิเวศน์เมือง ส่งเสริมการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ทางสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านไปพร้อมกัน”









กำลังโหลดความคิดเห็น