xs
xsm
sm
md
lg

“Sugar Blues” ภาวะร้ายเคลือบน้ำตาล!! เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เสพติดน้ำตาล” อาการของคนชอบหวาน จากไม่ได้กินก็แค่หงุดหงิด กลับกลายเป็นโรคร้ายในระยะยาว!!

ขาดไม่ได้ ก็ชีวิตมันติดหวาน

“เพราะชีวิตขาดหวานไม่ได้” คงเป็นเรื่องจริงสำหรับคนไทย เมื่อสถิติจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าคนไทยกินน้ำตาลถึง 25 ช้อนชา ทั้งที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)กำหนดปริมาณน้ำตาลที่ควรกินต่อวันไม่เกินแค่ 6 ช้อนชา



และถ้าคุณเริ่มรู้สึกหงุดหงิดง่าย ซึมๆ เศร้าๆ รู้สึกเหมือนน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการอยากกินของหวานตลอดเวลา ระวังคุณอาจกำลังเป็น “Sugar Blues”

“Sugar Blues” หรือ “อาการเสพติดน้ำตาล”คืออะไร ปาน-ปวีณา วงศ์อัยรา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ จากบริษัทให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ “Eat Well Concept” (www.eatwellconcept.com) ได้อธิบายไว้ตามนี้

“อาการเสพติดน้ำตาล เกิดจากปกติเวลาเรากินอาหารที่มีความหวาน สมองจะหลั่งสารโดพามีน(สารแห่งความสุข) ออกมาทำให้เรามีความสุขและผ่อนคลาย ทำให้เราเห็นว่าเวลาเครียดๆ คนถึงอยากกินของหวาน”

                                                            { ปาน-ปวีณา วงศ์อัยรา }

แต่เมื่อเรากินของหวาน หรือน้ำตาลมากขึ้นๆ จะผลักให้โดพามีนหลั่งไปเรื่อยๆ จนสารดังกล่าวทำงานผิดปกติ และยิ่งทำให้เรายิ่งต้องการปริมาณน้ำตาลมากขึ้นไปอีก และพอถึงเวลาที่เราหยุด หรือไม่ได้กินของหวาน และร่างกายขาดสารโดพามีน ก็จะทำให้หงุดหงิด เครียด กังวล จนเป็นสาเหตุของอาการ “เสพติดน้ำตาล”

“มันเป็นเหมือนวงจร เมื่อเรากินน้ำตาล ร่างกายก็จะเรียนรู้ว่าเราต้องกินของพวกนี้นะ เพื่อให้สมองหลั่งสารแห่งสุขออกมา”

 
จากการหาข้อมูลพบว่า หลายคนยังคงเข้าใจว่า น้ำตาลทำให้เรารู้สึกสดชื่น แต่จริงๆ แล้วมันทำให้เรากระปรี้กระเปร่าได้แค่ 30 นาที หลังจากก็จะเกิดอาการง่วงนอนแทน จากสารเซโรโทนินที่เกิดจากน้ำตาล อีกทั้งน้ำตาลยังให้ความรู้อิ่มเพียงเล็กน้อย จึงรู้สึกกินเท่าไหร่ก็ไม่พออีกด้วย

ปัญหาของอาการ Sugar Blues ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำตาลอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารที่มีรสหวานทั้งหมด ซึ่งของหวานส่วนใหญ่มาจากน้ำตาล จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเสพติดน้ำตาลนั่นเอง


ตับแข็ง!! โดยไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์
เมื่อความหวานอาจกลายเป็นการเสพติด จนทำให้เกิดภาวะ Sugar Blues ที่ปรึกษาด้านอาหารรายเดิมจึงได้อธิบายถึงปัญหาที่จะตามมา

“ปัญหา Sugar Blues มีทั้งในด้านของอารมณ์อาจทำให้ความหงุดหงิด ความเครียดเป็นธรรมดา เหมือนกับการที่เราติดกาแฟ แล้วเราไม่ได้กิน แต่ถ้ามองปัญหาในระยะยาว มันก็พาเราไปสู่โรคทางกายได้หลายๆ อย่าง”

จากบทความของ โรงพยาบาลสุขุมวิท เรื่อง “SUGAR อันตรายร้ายแรง กว่าที่คิดจริงหรือ”เขียนบอกเอาไว้ว่าโรคที่มากับน้ำตาล หรือความหวานนั้นมีหลายอย่าง

 
“เริ่มจากความอ้วน ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะไขมันพอกหัวใจ ตับ ไต ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ กรดยูริคในเลือดสูง และที่ร้ายแรงคือเบาหวานและอาจกลายเป็นอัมพาตได้ เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง”

นักกำหนดอาหารหญิงได้ให้ข้อมูลเสริมอีกว่า น้ำตาลคือ “Empty Calories” หรือสิ่งที่ให้แต่พลังงาน ไม่มีคุณค่าทางอาหาร เพราะแบบนี้เมื่อสะสมเข้าไปในร่างกาย แล้วเผาผลาญออกมาได้ไม่หมด มันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันในรูปแบบต่างๆ แทน

“การกินน้ำตาล ถ้ามันเยอะเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนมันให้เป็นไขมัน ตามตับหรือหน้าท้อง แน่นอนปัญหาอย่างที่เกิดคือเรื่องของหนักที่มากขึ้น และพอน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลต่อไขมันในตับ เป็นโรคไขมันพอกตับ หรือที่เรียกว่า ตับแข็ง โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกินแอลกอฮอล์”



อาการบ่งบอก เริ่ม “เสพติด” แล้ว!!

เมื่ออาการติดหวานมันมาพร้อมกับโรคร้าย เราก็ควรมาเริ่มสังเกตตัวเองว่า ตอนนี้เข้าใกล้ลักษณะของคนที่ “Sugar Blues” แล้วหรือเปล่า? และนี่คือข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญหญิงรายเดิม

“การสังเกตคงไม่มีเกณฑ์ตายตัวเหมือนกับการตรวจโรค แต่ให้ลองดูนิสัยว่า เมื่อเรากินข้าวเสร็จต้องตามด้วยของหวานตลอดเลยไหม รู้สึกโหยหา และอยากกินของหวานตลอดเวลาหรือเปล่า
เราติดน้ำหวามตลอดเวลาไหม แทนที่เราจะกินน้ำเปล่า เรากลับเลือกกินน้ำหวานแทน นี่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะมีปัญหาเรื่อง Sugar Blues”


 

ณรงค์ เติมพรเลิศ นักกำหนดอาหารอีกรายหนึ่ง ได้แนะนำวิธีลดน้ำตาลไว้ผ่านบทความของโรงบาลพยาบาลสุขุมวิทว่า ให้ลดการปรุงน้ำตาลในอาหาร หรือใช้สารให้ความหวานทดแทน (หญ้าหวาน, น้ำตาลเทียม) ในปริมาณที่เหมาะสม
เลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงน้ำผลไม้ และดื่มน้ำเปล่าจะดีที่สุด โดยเลือกผลไม้ที่มีรสหวานน้อย เลี่ยงผลไม้แปรรูป และเพิ่มการกินผักใบเขียว จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลตาล ทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

 
เมื่อถามว่าการใช้สารให้ความหวามแทนน้ำตาล น้ำตาลเทียม จะช่วยลดเรื่องอาการติดหวานและจะผลอะไรต่อร่างกายของเราบ้างหรือเปล่า “ปาน” นักกำหนดอาหารวิชาชีพหญิง จึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมตบท้าย

“ข้อดีของสิ่งพวกนี้คือ ส่วนใหญ่มันทำให้เราไม่ได้พลังเยอะ เมื่อเทียบกับน้ำตาลหรือสูตรอาหารปกติ แต่จากงานวิจัยหลายๆ ตัวก็บอกว่า ผลทางสุขภาพในระยะยาวมันไม่ได้ดี ก็กินได้บางแต่ก็มีโอกาสที่เราติดอยู่ดี เพราะมันคืออาการติดความหวาน”

อาการเสพติดน้ำตาล หรือ Sugar Blues ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่สิ่งที่ควรถามคือ เมื่อเรารู้ตัวว่าเราติดแล้ว ก็ควรจะพยายามลด หรือฝืนมันให้ได้ ทำให้ติดน้อยลงดีกว่า

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : sukumvithospital.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น