คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เก่ง....ไอ้เก่ง...ไอ้อ้วน! คุณชูสง่าตะเบ็งเสียงปลุกเจ้าเก่งอย่างเหลืออด “ครับ..ครับเฮีย มีอะไรครับ?” เจ้าเก่งรู้สึกตัวร้องถามระล่ำระลัก “เออ! มึงออกไปรับพัสดุหน้าบ้านหน่อย เค้ากดกริ่งดังลั่นบ้าน 3 ครั้งแล้ว...หลับกินบ้านกินเมืองเลยนะมึง” คุณชูสง่าถอนหายใจ แล้วหันไปถามพี่หมอ “หมอว่ามันเป็นโรค “ง่วงนอนมากผิดปกติ” ที่เฮียเคยดูในสารคดีสุขภาพไหม...หมู่นี้มันง่วงเหงาหาวนอนทั้งวัน บางทีเห็นมันหลับคาจานข้าวเลย!” “คงไม่ใช่หรอกครับเฮีย ผมว่าเป็นนิสัยถาวรของมันมากกว่า” พี่หมอตอบ “เรียกว่านั่งเป็นหลับขยับเป็นแด๊กเหมือนตัวกิน-นอนมากกว่าครับ”
การนอน เป็นการพักผ่อนที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ ในแต่ละวันไม่ว่าเราจะพบเจอเหตุการณ์อะไรที่หนักหน่วงมาก็ตาม การนอนจะช่วยเยียวยาทุกอย่างให้ดีขึ้น แต่การนอนหลับที่ยาวๆแบบข้ามวันข้ามคืนแทนที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น แต่อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย หรือส่งสัญญาณผิดปกติของโรคนอนมากผิดปกติก็ได้
ทำความรู้จักโรคง่วงนอนมากผิดปกติ
โรคนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมหรือบุคลิกส่วนตัว แต่เป็นโรคที่เกิดจากทางร่างกายและจิตใจ มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1.อดนอนบ่อย และเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายรู้สึกว่านอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
2.นาฬิกาชีวิตแปรปรวน เวลานอนผิดปกติ เช่นการเดินทางไปต่างประเทศที่ช่วงเวลาต่างกัน
3.ฮอร์โมนในร่างกาย หรือสารเคมีในสมองผิดปกติ ทำให้นอนมากเกินไป
4.นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
5.สมองได้รับการบาดเจ็บ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับสมองต่างๆ
6.การใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ
ผลเสียของโรคง่วงนอนมากผิดปกติ
โรคนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ความทรงจำแย่ลง หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล
1.ทำร้ายสมอง เพราะการนอนมากเกินไปทำให้สมองเฉื่อยชา คิดและทำอะไรเชื่องช้า ไร้ชีวิตชีวา มึนงงตลอดเวลา ขยับร่างกายน้อยลง ส่งผลให้กระดูกกล้ามเนื้อ และข้อต่อมีปัญหา
2.ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข เพราะฮอร์โมนด้านความสุข เช่น เซโรโทนิน และเอนดอร์ฟินที่สัมพันธ์กับการนอนลดลง อ้วนง่าย เพราะร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ส่งผลต่อการเผาผลาญของร่างกาย อาจทำให้โรคอื่นๆตามมาได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ
3.เสี่ยงต่อการหยุดหายใจเฉียบพลัน หรือไหลตาย เพราะเนื้อสมองตายเนื่องจากการดับไปของสัญญาณสมองที่นานเกินกว่าเวลานอนปกติของคนทั่วไป
4.อายุสั้น มีผลวิจัยออกมาว่าผู้ที่นอนนานเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสเสียชีวิตได้เพราะร่างกายไม่ได้ขยับ ไม่ได้เพิ่มออกซิเจนให้กับอวัยวะภายใน เสี่ยงตายเร็วกว่าคนปกติถึง 1.3%
วิธีป้องกันโรคง่วงนอนมากผิดปกติ
1.เข้านอนตรงเวลา กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมติดต่อกัน โดยนอนหลับพักผ่อน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หากตื่นแล้วให้ลุกจากเตียงไม่นอนต่อ สร้างระบบนาฬิกาชีวิตของเราขึ้นมา
2.หลีกเลี่ยงการนอนตอนกลางวัน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับเวลากลางคืน และจบลงด้วยการนอนมากขึ้นกว่าเดิม สมองทำงานแย่ลง อารมณ์แปรปรวน เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าปกติ
3.จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี เพราะร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึมและง่วงนอนตลอดเวลา
หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรเพิกเฉยเพราะมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของตัวเราเอง