xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวที “สื่อสร้างสรรค์ของคนสร้างสื่อระดับภูมิภาค" หวังพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว แบบมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว แบบมีส่วนร่วม โดยมีผู้สื่อข่าวในแต่ละภูมิภาคให้ความสนใจร่วมอบรม

ต้องยอมรับในปัจจุบัน สื่อมวลชนกระแสหลักนำเสนอในแบบธุรกิจ ที่ต้องแสวงหาเรตติ้งเพื่อดึงดูดผู้ชมผู้ฟัง ทำให้ความสำคัญของสื่อมวลชนที่เป็นกลไกสร้างให้เกิดการเรียนรู้ ตื่นรู้เท่าทันของประชาชน ถูกลิดรอนลงไป การจัดประชุมผู้สื่อข่าวในแต่ละภูมิภาคครั้งนี้ จึงเป็นพื้นที่ผลักดันพัฒนาโมเดลการทำงานขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสื่อไปสู่ประชาชน ผู้ชมผู้ฟัง ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ การมีอุดมการณ์ในการทำสื่อ จะนำเสนอทางเลือกให้กับประชาชน เพื่อให้ผู้ชมผู้ฟังสามารถคิด วิเคราะห์ได้ เพราะสื่อมวลชนเป็นส่วนผลักดันให้สังคมไปสู่ประชาธิปไตย การเข้าถึงระบบสวัสดิการ และมีหน้าที่เป็นสื่อกลางทำให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางพัฒนาชุมชน จังหวัด หรือประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนเสริมสร้าง

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ องค์กรที่สนับสนุน ส่งเสริม และให้โอกาสทุกคนสร้างสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัย จึงได้ผุด “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวแบบมีส่วนร่วม”ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการสร้างทักษะและองค์ความรู้พื้นฐานในการผลิตสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งพัฒนากลไกและสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและการเฝ้าระวังสื่อให้แก่ผู้สื่อข่าวในภูมิภาคและท้องถิ่น

การจัดเวที “สื่อสร้างสรรค์ของคนสร้างสรรค์สื่อ” ในโครงการฯ “อบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวแบบมีส่วนร่วมใน 6 ภูมิภาค” เป็นกิจกรรมที่เข้มข้นสำหรับคนทำสื่อระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนท้องถิ่น ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ที่มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อชุมชนและสังคม เข้าร่วมสร้างทักษะและองค์ความรู้การสร้างสรรค์ข่าวอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวแบบมีส่วนร่วมว่า “จริง ๆ อาจจะไม่ได้แยกว่าเป็นสื่อส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น เพราะกองทุนฯเองในฐานะองค์กรที่เป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสื่อน้ำดี สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเปลี่ยนแปลงไปของสื่อที่รวดเร็วและท่วมท้น ก็ล้วนเป็นข้อที่เรากังวลทั้งสิ้น ตอนนี้สื่อเข้าถึงหมดทุกชุมชน ทำลายพรมแดนความเป็นสังคมเมือง สังคมชนบทไปแล้ว เพราะฉะนั้น ทางกองทุนฯ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนักสื่อสารชุมชน ให้ความสำคัญกับบทบาทของวิทยุในท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับสื่อดั้งเดิมที่ไม่ควรจะตายไป แต่ควรจะมีอยู่และให้บริการสาธารณะต่อไป แต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ทำหน้าที่ได้สร้างสรรค์ และปลอดภัย”

“ผู้สื่อข่าวระดับท้องถิ่นที่อาวุโสเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีจุดแข็งที่อาจจะสามารถเขาถึงแหล่งข่าวได้หลายระดับ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแหล่งข่าวต่าง ๆ มีระบบและขั้นตอนที่ถูกต้องในการเข้าถึงแหล่งข่าว เขาก็มีข้อดีตรงนี้ ส่วนผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ ๆ ที่เราอยากสนับสนุนและสร้างขึ้นมานี้ เขาก็จะมีมุมมองใหม่ ๆ ในการนำเสนอ เก่งเรื่องการสร้าง Content ซึ่งถ้าสามารถนำทั้งสองส่วนนี้มาแลกเปลี่ยนกันได้ มาหนุนเสริมและเติมเต็มกันได้ ก็จะช่วยต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของนักสื่อสารชุมชนเหล่านี้ให้เป็นผู้สื่อข่าวที่เข้าใจชุมชน มีวิธีคิดในการทำงาน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อชุมชนของเขาเอง”

นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล่าถึงประสบการณ์และบทบาทของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ว่ากองทุนสื่อในฐานะที่เป็นองค์กรสนับสนุนสามารถที่จะเติมเครื่องมือ หรือเติมความรู้ ความเข้าใจ ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องการพัฒนา content หรือการพัฒนาในเรื่องของงานสื่อสารออกไปในรูปแบบมิติต่าง ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ เป็นการหนุนเสริมเครือข่ายนักข่าวภูมิภาค สิ่งหนึ่งก็คือการได้รับฟังความต้องการของเครือข่ายนักข่าวภูมิภาคว่าเขาต้องการเรียนรู้อะไร หรือต้องการยกระดับจุดไหน ซึ่งบางทีเขาอาจจะเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ได้ เช่นความรู้ความเข้าใจในเรื่องของข้อกฎหมาย แนวทางปฏิบัติ การไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพราะถ้าเกิดมีการละเมิดลิขสิทธิ์ก็อาจจะนำไปสู่การร้องเรียนฟ้องร้องต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในระยะยาวในเรื่องของการทำงานในวิชาชีพตนเอง

“เพราะฉะนั้น ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ก็จะนำไปสู่การปรับยุทธวิธี ยุทธศาสตร์การทำงานของกองทุนสื่อฯ ในเรื่องของการให้ทุนก็ดี หรือว่าปรับรูปแบบในการที่จะให้นักข่าวภูมิภาคเข้ามาทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยก็ดี หรือในเรื่องของการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเหล่านี้เป็นภารกิจหลักของกองทุนสื่อฯ อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้จัดอบรม โดยมีสื่อมวลชนจากทุกแขนงเข้าร่วมเวทีระดมความคิด สร้างสื่อปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์ของคนสร้างสื่อระดับภูมิภาคอย่างคึกคัก นับจาก วันที่ 24 -25 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมนานาชาติบางแสน จังหวัดชลบุรี / 27-28 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมวิสมาราชบุรี จังหวัดราชบุรี และ 29-30 เมษายน 2566 ณ โรงแรมเวลาดี จังหวัดอุดรธานี

นอกจากนั้น ภายในการฝึกอบรมยังได้รับเกียรติจาก นางสาววีราภรณ์ ประสพรัตนสุข, ผศ.ดร.ตวงทอง สรประเสริฐอาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ นางสาวบุปผาทิพย์ แช่มนิล ร่วมเป็นวิทยากร บรรยายประจำภาคตะวันออก

ดร.วิฑูรย์ คุ้มหอม หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และอาจารย์ประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, ดร.เมธาวิน สาระยานผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, อาจารย์ทิพย์วรรณ จุลิรัชนีกรจากสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี, อาจารย์จิณห์จุฑา สุวรรณ์คัมภีระ สาขาวิชานาฎศิลป์สื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี และ นายเกรียงไกร ชีช่วง และแกนนำเยาวชนนักสื่อสาร ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายประจำภาคตะวันตก

อาจารย์จุฑาลักษณ์ แสนโทหัวหน้าสาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม วิทยากรบรรยายประจำภาคอีสาน โดยมีหัวข้อการอบรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรม เกิดความรู้ ความเข้าใจ อาทิ 1. วิเคราะห์ปัญหาสื่อปลอดภัยและไม่ปลอดภัยในระดับพื้นที่ 2. สร้างสรรค์สื่อยุคใหม่เข้าใจคนทุก Gen 3. บทบาทของสื่อและผลกระทบทางสังคมจากการนำเสนอข่าวที่ไม่ปลอดภัยไม่สร้างสรรค์ 4. กฎหมาย ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญาและจริยธรรมในการผลิตสื่อ 5. สะท้อนไอเดีย (Idea Reflection) และ 6. การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว

‘อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรวมพลังของนักสื่อสารมวลชนระดับภูมิภาคของทุกภาคในครั้งนี้ จะเป็นภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์และสร้างการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ รวมถึงขยายสื่อดีสู่ทั้งชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป’ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย

ดร. ธนกร ศรีสุขใส  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผศ.ดร.ตวงทอง สรประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

อาจารย์จุฑาลักษณ์ แสนโท หัวหน้าสาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

























กำลังโหลดความคิดเห็น