มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) มีนโยบายและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งคณะนิเทศศาสตร์ DPU ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “Beyond Content Creators” ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนระดับหลักสูตร ดังนั้นหลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล (DigiC) จึงได้นำนักศึกษา ชั้นปีที่ 3 เข้าร่วมทำโครงการ “Sustainability is Cool” ซึ่งได้นำเสนอผลงานของโครงการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผศ.สุรางคนา ณ นคร อาจารย์ประจำหลักสูตร DigiC คณะนิเทศศาสตร์ DPU ผู้รับผิดชอบโครงการ Sustainability is Cool เล่าว่า “โครงการนี้เป็นเทอมโปรเจคและกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักศึกษาปี 3 ที่เรียนวิชาการจัดการแบรนด์ดิจิทัลและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม ได้ฝึกประสบการณ์ค้นหาตัวตนของแบรนด์และวางแผนรณรงค์ทางการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม จากโจทย์การทำงานจริงที่ค้นพบและใช้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ โดยในปีนี้ ทางอาจารย์และนักศึกษาได้เลือกโครงการ “กินสบายใจ” มูลนิธิสื่อสร้างสุข จ. อุบลราชธานี ซึ่งกินสบายใจ เป็นพื้นที่สร้างสุขของคนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ส่งเสริมให้เกิดต้นแบบการผลิตและการบริโภคอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเชื่อมสัมพันธ์ของเครือข่ายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนห่วงโซ่ระบบอาหารและสุขภาวะอย่างครบวงจร และยังใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสื่อสารความยั่งยืนทางอาหาร เปลี่ยนทุกคนในระบบอาหารให้เป็นนักสื่อสาร เพื่อสร้างสังคมและขยายกลุ่มผู้บริโภคอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่เป้าหมายการเดินทาง (Sustainable Travel Trip) ของนักศึกษา”
ซึ่งหลังจากการลงพื้นที่ นักศึกษาได้ร่วมกันประชุมหารือทำแผน และ ได้นำเสนองานเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยนักศึกษาได้นำเสนอ “กลยุทธ์ต้นแบบแบรนด์และแผนการสื่อสารการตลาดแบรนด์กินสบายใจ” โดยมี ดร.ศิริกุล เลากัยกุล (อ.หนุ่ย) ให้เกียรติมาช่วยให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการนำเสนองาน ร่วมกับคุณกมล หอมกลิ่น ผอ.มูลนิธิสื่อสร้างสุข และคุณธวัชชัย นนทะสิงห์ ผจก.กินสบายใจชอป
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ที่ปรึกษากลยุทธ์การสร้างแบรนด์และองค์กร บริษัท เดอะแบรนด์ บีอิ้ง คอนซัล-แท้นท์ จำกัด กล่าวถึงผลงานของนักศึกษาทั้ง 5 กลุ่มว่า “บอกเลยว่า งานที่นำเสนอ ไม่ธรรมดา น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง”
คุณธวัชชัย นนทะสิงห์ ผจก. กินสบายใจชอป กล่าวเสริม “ก่อนมา คิดว่าทีมงานจะต้องมานั่งให้คำชี้แนะ และ comment แต่พอได้ฟัง กลับเป็นว่าเราได้รับไอเดียดี ๆ ทั้งด้านการตลาด กิจกรรมการสื่อสารต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน การสร้างคอนเทนต์ให้วัยรุ่นสนใจ เพื่อเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ ให้ Gen Z มาร่วมเส้นทางกินสบายใจมากขึ้น แบบล้นใจและยิ้มรับกับทุกแผนการสื่อสารการตลาดที่น้อง ๆ นำเสนอ แบบไม่รู้ตัว”
คุณกมล หอมกลิ่น ผอ.มูลนิธิสื่อสร้างสุข กล่าวต่อไปว่า “ช่วงลงพื้นที่ 3 คืน 4 วัน ที่จังหวัดอุบลฯ น้อง ๆ ทำความเข้าใจประเด็นและโจทย์ได้เร็วมาก 2 เดือนผ่านไป ผมเห็นรูปแบบการนำเสนอและไอเดียที่หลากหลายวันนี้แล้ว Surprise! ครับ ผลงานน้อง ๆ ทุกทีมจะได้นำไปสกัดและประยุกต์ใช้กับกินสบายใจแน่นอน คอยติดตาม”
ผศ.สุรางคนา ณ นคร อาจารย์ประจำหลักสูตร DigiC คณะนิเทศศาสตร์ DPU ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ฟีดแบคและข้อคิดที่ได้รับจาก commentator เหมือนเป็นของขวัญที่ดีที่สุด ช่วยให้นักศึกษาได้เห็นงานในมุมที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน อีกทั้งยังสามารถเอาเก็บกลับไปประยุกต์ใช้ต่อชีวิตและการทำงานในอนาคตได้ การให้โอกาสนักศึกษา ได้คิดอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการและเรียนรู้จากพื้นที่จริง ลงมือทำจริง ๆ นอกจากจะทำให้นักศึกษาหลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัลของสถาบันแห่งนี้ ได้พัฒนาศักยภาพ สามารถผลิตงานได้ประทับใจแล้ว ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ทางสังคมด้านความยั่งยืน (SDGs) ที่นับวันยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และจะดีขึ้นไปกว่านั้น หากโครงการกินสบายใจ สามารถขยายผลไปถึงการสร้างแบรนด์จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นราชินีแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยมีผลงานของนักศึกษาเหล่านี้เป็นแบ็กอัพ ตามที่ ดร.ศิริกุลได้ให้คำแนะนำ”