xs
xsm
sm
md
lg

“Transgender” โอกาสที่(รอ)เท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโลกของกลุ่มคนข้ามเพศ หากมองผิวเผิน เหมือนมีการยอมรับจากสังคมมากขึ้น แต่เมื่อมองลึกในมิติต่างๆ กลับพบว่า กลุ่ม “คนข้ามเพศ” หรือ Transgender ยังต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมอีกมากมาย

“Someone...หนึ่งในหลาย” วันเสาร์นี้ จะพาไปพบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา พร้อมกับสำรวจบางประเทศที่เอื้อให้กับเสรีภาพทางเพศ บางทีเราอาจพบทางออกของเรื่องนี้ไปด้วยกัน

LGBTQ+ คือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ L คือเลสเบี้ยน G คือเกย์ B คือไบเซ็กชวล T คือ ทรานส์เจนเดอร์ Q คือเควียร์ ทั้งนี้ กลุ่ม L กับ G คือ Gender orientation เป็นผู้ที่มีรสนิยมทางเพศ โดยที่คือตัวเองแทบจะไม่ได้เปลี่ยนร่างกายภายนอก แต่กลุ่ม T หรือ Transgender ได้เปลี่ยนเพศสภาพของตัวเองไปเป็นอีกเพศหนึ่ง คือจากหญิงเป็นชาย หรือจากชายเป็นหญิง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทั้งรสนิยมทางเพศ และเปลี่ยนทางกายภาพ (physical body) ไปด้วย

ยังมีอีกหลายอย่าง ที่กลุ่ม “คนข้ามเพศ” ยังคงไม่ได้รับสิทธิที่ทัดเทียมกับชาย-หญิงทั่วไป และยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งในที่ทำงาน และในสถานที่ต่างๆ เหนืออื่นใด กระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับเพศสภาพที่เปลี่ยนไปของกลุ่มคนเหล่านี้ แม้กระทั่งกฏการปฏิบัติต่อกันเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แม้การเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมที่ยังไปไม่ถึงไหน และกฎหมายก็ไม่รองรับอย่างแท้จริง ทั้งต้องเผชิญกับสังคมที่ยังไม่เข้าใจดีพอ แต่เพศสภาพที่อยากให้เป็นก็รอไม่ได้ พวกเขาและเธอจึงเดินหน้าทำทุกวิถีทาง ทั้งรวบรวมปัจจัยทุนทรัพย์ และอดทนต่อความเจ็บปวดจากการผ่าตัด หรือต้องแลกด้วยสิ่งอื่นใดที่มากกว่านั้น ในการทำให้ตัวเองหลุดพ้นออกจากร่างกายเดิม ไปสู่เพศที่มีแรงกระตุ้นภายในที่อยากให้เป็น

เพราะ “การแปลงเพศ” หมายถึงการเปลี่ยนชีวิต ที่ทำให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจและมีพลังในการทำอะไรหลายๆ อย่าง ท้ายที่สุดนั่นคือ “ความสุข” ที่โหยหามาตลอดทั้งชีวิต

ในบ้านเรา ผู้ที่ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ขณะที่อีกหลายประเทศ การผ่าตัดแปลงเพศ หรือการปรับเปลี่ยนฮอร์โมน ถือเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางสุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากระบบสาธารณสุขแห่งชาติ

อย่างเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ยังถือว่าการแปลงเพศเป็นส่วนหนึ่งของการประกันขั้นพื้นฐาน และมีการดูแลเป็นอย่างดี โดยรัฐธรรมนูญมาตราแรกระบุว่า ประชาชนทุกคนในประเทศควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงบุคคลข้ามเพศด้วย

ในสังคมที่ทุกคนอยู่กันด้วยความเข้าใจ เคารพ และไม่แบ่งแยก แม้แต่ในโบสถ์ยังมีบาทหลวงที่เป็นเกย์ ทำให้ชุมชนยอมรับกันได้อย่างกลมกลืน ที่นี่จึงเปรียบเหมือนดินแดนสวรรค์ และได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีเทศกาลเกี่ยวกับเพศทางเลือกมากมาย ผู้คนจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจเดินทางไปร่วมงานอย่างคับคั่งทุกปี

หันไปทางแคนาดาเอง เมื่อปี พ.ศ.2558 ก็มีผู้พิพากษาที่เป็น transman คนแรกของประเทศ ซึ่งทำให้ชาวแคนาดาเข้าใจและยอมรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่า ความยุติธรรมไม่ควรมีข้อจำกัดด้านเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง

จะเห็นว่าในหลายประเทศไม่เพียงเป็นการเปิดใจและเปิดโอกาสให้กับคนที่เลือกเกิดไม่ได้ ได้เลือกใช้ชีวิตที่ต้องการ แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าด้วยความเท่าเทียมกันอีกด้วย แล้วคำตอบของบ้านเราจะรออีกนานแค่ไหน ติดตามได้ในสารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย ตอน “Transgender โอกาสที่ (รอ) เท่าเทียม” วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566เวลา 09.30 น. ทาง MCOT HD 30 ชมย้อนหลังทาง Facebook และ YouTube : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย















กำลังโหลดความคิดเห็น