“แพรรี่” พร้อม “ทนายเกิดผล” เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความ ขอให้สอบสวนมรรยาททนายธรรมราช กรณีใช้ถ้อยคำเหยียดหยามเรื่องเพศสภาพแพรี่ และบูลลี่อาการเจ็บป่วยทนายเกิดผล ลุยดำเนินคดีอาญาต่อ
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 ก.ย. “นายไพรวัลย์ วรรณบุตร” หรือ “แพรรี่” พร้อม “นายเกิดผล แก้วเกิด” ทนายความ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สอบสวนมรรยาททนายความต่อ “นายธรรมราช” ทนายความ เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี The lawyer of ligality หลังเกิดการตอบโต้ในประเด็นสังคม ผ่านสื่อออนไลน์ แล้วนายธรรมราช โพสต์ข้อความและถ่ายทดสด โดยการใช้ถ้อยคำในลักษณะดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเหยียดหยามเพศภาพ
นายไพรวัลย์ เปิดเผย ภายหลังกรณีของตัวเองกับพระชาตรี จบลง นายธรรมราชได้นำประเด็นข้อโต้แย้ง ที่ตัวเองมีต่อพระชาตรี ไปแจ้งความโดยกล่าวหาว่า ตัวเองดูหมิ่นพระชาตรีและคณะสงฆ์ ซึ่งนายธรรมราชได้โพสต์ข้อความ และถ่ายทอดสด เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยถ้อยคำที่กล่าวพาดพิงเสียดสี อาทิ เรื่องหาเงินไปซื้อวิกผมและเหยียดหยามเรื่องเพศภาพ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่ฟังแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกคนควรเคารพผู้อื่น ซึ่งนอกจากร้องให้สอบสวนมรรยาททนายความแล้ว ยังได้ดำเนินคดีทางอาญาไว้ด้วย
ส่วนกรณีของนายเกิดผล เปิดเผยว่า ตัวเองได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการดูหมิ่นคณะสงฆ์ หลังมีประเด็นระหว่างแพรรี่กับนายธรรมราช หลังจากนั้น นายธรรมราชได้โพสต์ตอบโต้กลับ ซึ่งได้ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม โดยใช้อาการเจ็บป่วยของตัวเองมาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการกล่าวเสียดสี เหยียดหยามและซ้ำเติม และไม่ได้มีท่าทีสำนึกต่อการกระทำเพราะพบว่าได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยกล่าวพาดพิงซ้ำอีก
ขณะนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมถ์ กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องเรียนของทั้ง 2 คน แล้ว จะส่งต่อกรรมการมรรยาททนาย ให้พิจารณาเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยปกติไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ในทางปฏิบัติหากเป็นกรณีกระแสสังคม จะเร่งดำเนินการโดยเร็ว หลังเรียกทนายความผู้ถูกร้องเข้าให้ข้อมูล จะต้องมาพบภายใน 30 วัน สามารถเลื่อนได้แต่ต้องมีเหตุสมควร
ส่วนโทษทางวินัย มีหลายระดับ ตั้งแต่ ตักเตือน , พักใบอนุญาต สูงสุด 3 ปี โทษร้ายแรงที่สุดคือ ลบชื่อออกจากสภาทนายความฯ
นอกจากนี้ นายกสภาทนายความ ระบุว่า ทนายความสามารถแสดงความคิดเห็นประเด็นทางสังคมได้แต่จะต้องคำนึงถึงความหมิ่นเหม่หรือสุ่มเสี่ยงผิดข้อบังคับ ตามระเบียบของสภาทนายความ และต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบหากเป็นความผิด
พร้อมยอมรับว่า กฎระเบียบของสภาทนายความที่มีมาตั้งแต่ปี 2529 จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเชิงรุกเพื่อปรับมาตรฐาน มรรยาททนายให้เหมาะสมกับยุคสมัย