ยอมรับสารภาพแบบละมุนละม่อมตั้งแต่บรรทัดแรกว่าโดยส่วนตัว ผู้เขียนดูหนังสิงคโปร์น้อยมาก
แต่พอมีโอกาสได้ดูหนังของประเทศเล็กๆ ทว่ามีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจกลับพบว่ามวลรวมของศิลปะในองค์ประกอบของ ‘ภาพยนตร์’ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับ บทภาพยนตร์ นักแสดง และที่เอกอุอย่างยิ่งยวดคือ การถ่ายภาพ ร้ายกาจมาก
Precious The Night เป็นเรื่องราวย้อนยุคไปเมื่อปี 1962 เปิดฉากในบ้านหลังหนึ่งซึ่งผสมผสานกันระหว่างคลาสสิคกับอาร์ติสต์อย่างลงตัว ปกติแล้วในบ้านหลังดังกล่าวมีผู้อยู่อาศัยสองคน คือ ‘นายหญิง’ ผู้ทรงเสน่ห์ กับ ‘หญิงรับใช้’ ซึ่งเลอโฉม
ต่อมามี ‘คนรับใช้’ ซึ่งเป็นเพศเดียวกันแถมหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรามาบวกรวมอีกหนึ่งชีวิตจึงทำให้ความลับของบ้านหลังนี้ รวมทั้งเบื้องลึกของผู้คนที่เกี่ยวข้องทุกๆ คนเริ่มคลี่คลายขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่สารภาพว่าอาจเป็นเพราะดูหนังสิงคโปร์น้อย ครั้นเมื่อมีโอกาสได้ดูผู้เขียนจึงตื่นตะลึงไปกับศิลปะการถ่ายภาพที่แสดง ‘ลายเซ็น’ อันเป็นมุมหรือองค์ประกอบใหม่ล้ำ อย่างเหนือชั้น ซึ่งแทบไม่เคยเห็นในหนังฮอลลีวูดเลย
‘เวยเผิง’ ผู้ทำหน้าที่กำกับการแสดง เขียนบท และกำกับภาพ แสดงความสามารถของเขาให้ชาวหนังได้เห็นว่า ‘-ของ’ ของเขาไม่ธรรมดา อีกทั้งยังแซงหน้าไปหลายช่วงตัวในมิติของกล้องกับนักแสดง
หมดจดหยดย้อยแม้กระทั่งฉากเลิฟซีน!
Precious The Night นอกจากสวยงาม ยังสั่นสะเทือน ชวนครุ่นคิด ก่อนจะจบลงแบบ ‘ปลายเปิด’ คือไม่ระบุตรงๆ ว่าสุดท้ายแล้วตัวละครเอกชาย ‘ด็อกเตอร์’ สุดหล่อเป็นอย่างไรกันแน่
‘เวยเผิง’ ทำ Precious The Night ในแบบมิใช่ให้นักแสดง ‘เล่น’ กันเท่านั้น หากแต่มุมกล้อง หรือกระทั่งการออกแบบบ้าน ทั้งบันได หน้าต่าง ช่องแสงก็กลายเป็นตัวแสดงที่แฝงนัยยะสำคัญของตัวเรื่องได้อย่างลงตัว
แบบนี้กระมังสำหรับนิยามของคำว่า ‘สร้างสรรค์’ อันเป็นแบบฉบับที่นอกจากไม่เหมือนใครยัง ‘ล้ำ’ ไปไกลกว่าคนอื่นหลายช่วงตัว