สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใฝ่เรียนรู้วิทยาการหลากสาขา การทรงรู้รอบกว้างไกลด้านจีนวิทยาเป็นที่ประจักษ์แจ้งชัด เมื่อผสานกับการทรงมีพรสวรรค์ในการประพันธ์และพระวิริยะหมั่นฝึกฝนการเขียน ก่อเกิดเป็นรัตนสารด้านจีนวิทยาจำนวนมาก ทั้งสารคดีเสด็จเยือนประเทศจีน พระราชนิพนธ์แปลบทกวีนิพนธ์จีน นวนิยาย เรื่องสั้น บทละครพูด ความเรียงร้อยแก้ว สารคดีวิชาการ ปาฐกถาทรงบรรยาย และอื่นๆ
ตรุษจีนนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านมาเรียนรู้และศึกษาสังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวจีนจากศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านพระราชนิพนธ์และพระราชนิพนธ์แปลอันทรงคุณค่า 14 เล่ม
1.บทละครพูดร้านน้ำชา
ในอดีตชาและร้านน้ำชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตชาวจีน ร้านน้ำชาเป็นที่พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนทุกหมู่เหล่า
เหลาเส่อเขียนเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1957 ใช้ร้านน้ำชาในกรุงปักกิ่งเป็นฉากสำคัญ เนื้อหาสาระในบทละครนี้ได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จีนในช่วง 5 ทศวรรษ (ค.ศ. 1898 ถึงทศวรรษ 1940) กล่าวถึงการปฏิรูปร้อยวันในสมัยจักรพรรดิกวางซู่ (ค.ศ. 1898) การแย่งชิงอำนาจหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1911 จนเข้าสู่ยุคขุนศึกในช่วง ค.ศ. 1917-1928 สงครามต่อต้านญี่ปุ่น ค.ศ.1937-1945) การต่อสู้ระหว่างก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์
เหลาเส่อจบลงโดยเห็นภาพร้านน้ำชาที่พยายามปรับตัวให้อยู่รอดในห้าทศวรรษนี้ แต่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลว เจ้าของร้านสิ้นหวังและฆ่าตัวตาย
2. ผีเสื้อ
นวนิยายเรื่องนี้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนช่วง ค.ศ. 1949-1979 แต่เน้นที่สังคมจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) การเมืองในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมสับสนมาก มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ยึดมั่นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างเคร่งครัดกับกลุ่มที่ยอมรับการปรับเปลี่ยนบ้าง เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าได้มากขึ้น
ตัวเอกของเรื่องคือจางซือหยวน เป็นหนึ่งในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ผ่านสมรภูมิรบมาอย่างโชกโชน เคยมีตำแหน่งทางการเมืองหลังสมัยการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ แต่ชีวิตพลิกผันตกต่ำอย่างมากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แล้วกลับดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคสี่ทันสมัย เป็นที่มาของชื่อผีเสื้อ เป็นปรัชญาของจวงจื่อที่พูดถึงชีวิตที่กลับไปกลับมา ไม่รู้ผีเสื้อกลายเป็นจวงจื่อ หรือจวงจื่อกลายเป็นผีเสื้อ
3. เมฆเหินน้ำ ไหล
นวนิยายเรื่องนี้บันทึกภาพสังคมปัญญาชนในยุคสี่ทันสมัยผ่านเกาเหรินหยุน ตัวเอกที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น
เกาเหรินหยุนยึดมั่นในจริยะแห่งความเป็นครู แก่นของเรื่องนี้เน้นปัญหาจริยธรรมในสังคมปัญญาชนเมื่อเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในยุคสี่ทันสมัย ปัญญาชนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มีอุดมคติและความเชื่อในระบบคุณค่าที่แตกต่างกัน คุณค่าเดิมเน้นความรู้และคุณธรรม คุณค่านี้กำลังถูกท้าทายจากวัฒนธรรมใหม่ที่แพร่เข้ามา
4. หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า
เรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตในหมู่บ้านชนบทของจีนเมื่อปลายทศวรรษ 1960 ที่ดำรงชีวิตในระบบคอมมูนประชาชน คอมมูนประชาชนเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจด้านการผลิต มีหมู่บ้านเป็นพื้นฐานสำคัญของหน่วยผลิตย่อย รัฐบาลจีนจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1958 และยกเลิกไปเมื่อ ค.ศ. 1982
นวนิยายแสดงให้เห็นว่าในระบบคอมมูน หมู่บ้านในเรื่องยังยากจน จะเข้าไปติดต่อกับอำเภอก็ต้องเดินทางไกล ยากลำบาก ทุกคนต้องรับผิดชอบทำงานต่างๆตามหน้าที่ แม้แต่เด็กอายุน้อยก็ต้องช่วยทำงาน…
ในเรื่องได้พูดถึงเด็กน้อยกล้าหาญบริสุทธิ์คนหนึ่งที่ชื่อเลาจา เป็นเด็กที่มีน้ำใจ สละชีวิตตัวเองเพื่อช่วยคนแก่หนีภัยน้ำท่วม
5. ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลับลี้ริมฝั่งน้ำ
นำเสนอภาพชีวิตในหมู่บ้านชาวประมงในเมืองเล็กๆทางเหนือสุดของมณฑลเฮย์หลงเจียงซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในหน้าหนาว หมู่บ้านนี้จะหนาวมาก น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ชาวบ้านจับปลาได้เฉพาะแต่ในหน้าร้อนที่แพน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆจะแตกเป็นริ้วๆ
ในช่วงที่ชาวบ้านจับปลาได้มาก พ่อค้าจากในเมืองจะมาซื้อปลาถึงหมู่บ้าน แต่หน้าร้อนปีนี้พ่อค้าร้านขายของชำในหมู่บ้านไปหลอกพ่อค้าในเมืองว่ายังไม่ถึงฤดูจับปลาที่หมู่บ้าน เมื่อไม่มีพ่อค้ามาซื้อปลา ชาวบ้านก็ย่างปลาบนเตียงคั่ง พ่อค้าร้านชำจึงตั้งราคาเกลือที่จะใช้ถนอมปลาได้สูงตามอำเภอใจและตัดสายโทรศัพท์ไม่ให้หมู่บ้านติดต่อโลกภายนอกได้ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม
ภายในเล่มยังประกอบด้วยเรื่องสั้นร่วมสมัยของนักเขียนชื่อก้องอีก 3 เรื่องคือ ซุปที่อร่อยช่างน่ากลัวยิ่ง กินหม้อไฟในหน้าร้อน และคำไว้อาลัยหมา
6. นารีนครา
เสนอภาพของสตรีในเมืองใหญ่ (อู่ฮั่น) ที่ใช้ชีวิตอยู่ได้ตามลำพังโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว มี่เจี่ยนางเอกของเรื่องเป็นหญิงม่าย เป็นเจ้าของร้านขัดรองเท้า
มีเจี่ยให้กำลังใจลูกน้องหญิงที่คิดเลิกกับสามีให้มีความกล้าหาญองอาจมาต่อสู้ผจญภัยในโลก แทนที่จะยอมจำนนต่อชีวิตครอบครัวที่ผิดหวัง ส่วนแม่ผัวของมี่เจี่ยแม้ว่าจะอายุ 80 กว่าปีแล้วก็เข้าใจโลกสมัยใหม่ สามารถผสานค่านิยมของโลกเก่าและโลกใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว
7. ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าในสังคมจีนสมัยใหม่สตรีในเมืองใหญ่บางคนก็ยังยึดอยู่กับจารีตวัฒนธรรมเดิมที่ให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้เสียสละ ไป๋ต้าสิ่ง นางเอกของเรื่องเป็นเด็กดีตามที่พวกคนแก่เรียกว่าเด็กเหรินอี้ เมื่อเติบโตขึ้นปักกิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมแห่งความทันสมัย ไป๋ต้าสิ่งก็ต้องปรับตัวและเผชิญกับปัญหาการทำงานและความรัก แม้เธอจะถูกฝ่ายชายทิ้งไป แต่แล้วเมื่อชีวิตครอบครัวของเขาล้มเหลว เขาอุ้มลูกกลับมาหาเธอ ไป๋ต้าสิ่งต้องการปฏิเสธ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อความสงสาร เสียสละยอมแต่งงานกับเขา
8. ความรักใดจะไม่ปวดร้าว
สะท้อนปัญหาครอบครัวในสังคมจีนปัจจุบันจากมุมมองของสตรีที่มีการศึกษาสูงจบมหาวิทยาลัย พวกเธอต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการแต่งงานและมีครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสุข ในสภาพความกดดันของสังคม ความทะเยอทะยานในอาชีพการงานทำให้ผู้หญิงทำแท้งและกลายเป็นบาดแผลในใจ ท้ายที่สุดเมื่อมีลูกก็ต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก หมดความมั่นใจในตัวเอง และเริ่มสงสัยในความรักของสามี
9. รอยยิ้มของน้ำตาและหัวใจ
รวมวรรณกรรมจีนร่วมสมัย 4 เรื่องของ 3 นักเขียนหญิงที่สะท้อนว่าความรักเป็นทั้งรอยยิ้มและน้ำตา ทั้งยังสะกดใจให้ใคร่ครวญว่า ระหว่างความรักที่ถือประโยชน์เป็นที่ตั้งกับความรักที่เสียสละเพื่อผู้อื่น อย่างไหนจะทำให้ชีวิตมีความหมายและมีค่ามากกว่ากัน
10.มรกต
พระราชนิพนธ์แปลเล่มใหม่ล่าสุดที่ชวนซาบซึ้ง เข้าใจพลังอันเพริศพรายหลายมิติของความรักอย่างแท้จริง
เจิ่งลิ่งเอ๋อร์ สาวน้อยผู้ปราดเปรื่องด้านคณิตศาสตร์ แต่ไร้เดียงสาในความรักจนยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อจั่วเวยชายที่ตนรักให้พ้นผิดจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อชาติ จนต้องถูกเนรเทศไปอยู่ยังถิ่นทุรกันดาร เธอมีลูกกับจั่วเวยโดยไม่คาดคิดและยังต้องผจญกับการดูถูกเหยียดหยามจากผู้คน แต่สิ่งที่ทำให้เธอยืนหยัดและเข้มแข็งได้คือเถาเทา ลูกผู้เชื่อมโยงชีวิตของเธอกับจั่วเวยเอาไว้
ทว่าโชคชะตาพลิกผันทำให้เธอต้องสูญเสียเถาเทาไปตลอดกาล แต่แล้ววันหนึ่งหลูเป่ยเหอเพื่อนสมัยเรียนผู้แอบรักจั่วเวยและกลายมาเป็นภรรยาของเขา ติดต่อขอให้เจิ่งลิ่งเอ๋อร์ช่วยทำภารกิจบางอย่างร่วมกับจั่วเวย เธอจะตัดสินใจอย่างไรดี
11. เพียงวันพบวันนี้ที่สำคัญ
รวบรวมเรื่องสั้นที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงแปลไว้ในเวลาต่างๆกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านวรรณกรรมต่างประเทศที่มีคุณค่า และให้ผู้อ่านพินิจเห็นถึงความเสื่อมสลายทางจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่ที่มนุษย์ใช้วัตถุเป็นเครื่องวัดความสุขในชีวิต
12. ศิลปะจีน
ปาฐกถาพระราชนิพนธ์เรื่อง “ศิลปะจีน” มีเนื้อหาสาระเปี่ยมด้วยคุณค่า ครอบคลุมศิลปะจีนแขนงต่างๆ ครบถ้วน ทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ อีกทั้งยังได้ทรงฉายภาพงานศิลปะประเภทต่างๆ ที่คัดสรรแล้วอีกประมาณ 130 ภาพประกอบการบรรยาย อันทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ซาบซึ้ง
13. มองสังคมจีนผ่านวรรณกรรม
ปาฐกถาทรงบรรยายและพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “มองสังคมจีนผ่านวรรณกรรม” ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงแสดงและทรงเรียงร้อยในการสัมมนาทางวิชาการ “70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1949” เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562 ดุจดั่งหน้าต่างที่เผยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมจีนผ่านถ้อยคำและความคิดที่กลั่นกรองเรียงร้อยผ่านนวนิยาย บทละคร และเรื่องสั้นจากนักเขียนจีนร่วมสมัย 13 ท่าน
14. เมื่อข้าพเจ้าเขียนย่ำแดนมังกร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระปรีชาสามารถด้านจีนวิทยาอย่างถ่องแท้ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนแต่ละครั้งได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรศิลปวัตถุที่จัดแสดงตามสถานที่สำคัญ รวมถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประเทศจีนในแง่มุมต่างๆ
คำบรรยายพระราชนิพนธ์นี้จึงไม่ได้มาจากการศึกษาเนื้อหาความรู้จากตำรับตำราทั่วไปหรือจากการได้เห็นได้ชมมามากอย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่เป็นคำบรรยายของผู้ที่ทั้งได้ศึกษา ได้เห็น และมีประสบการณ์ความเข้าใจในประเทศจีนอย่างแจ้งชัด