พลเอกฉัตร ชัยสาลิกัลยะประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ จังหวัดปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2563 เพื่อศึกษาดูงานและติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำ และการ ชลประทานเพื่อการเกษตร ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ที่ โครงการอ่างนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการการจังหวัดปราจีนบุรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบรรยายสรุป ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ในการติดตามเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ให้ความสำคัญในประเด็นการจัดทำแผนการดำเนินงาน และติดตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ ในการดำเนินงาน รวมทั้งรับทราบปัญหาอุปสรรคเพื่อรวบรวมนำเสนอฝ่ายบริหารต่อไป
อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีความจุ 295 ล้าน ลบ.เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 111,300 ไร่ ซึ่ง พลเอกฉัตรชัย ระบุว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ พี่น้องประชาชานได้รับประโยชน์โดยตรงอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการด้านการเกษตรแล้ว ยังเป็นพื้นที่รับน้ำในยามที่ประสบปัญหาอุทกภัยด้วย และที่สำคัญยังถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรีแห่งนี้ เพื่อจัดหาน้ำให้กับเกษตรกรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทั้งนี้ในเรื่องการการบริหารจัดการน้ำ พลเอกฉัตรชัย ได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการ โดยเฉพาะจังหวัดจะต้องมีการถอดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เป็นแผนของจังหวัด โดยจังหวัดจะต้องมีการจัดตั้งทีมงาน เพื่อระดมสมอง โดยเฉพาะเรื่องน้ำจะทำอย่างไร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน และนอกชลประทาน หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อนำแผนงานตรงนี้ไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น อย่างเช่นงบประมาณ จะมีการจัดสรรอย่างไรให้เพียงพอกับแผนงานที่วางไว้
จากนั้น คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาได้แยกการเดินทางไปศึกษาดูงาน ในด้านต่าง ๆ 4 คณะประกอบด้วย ด้านปัจจัยการผลิต การผลิต สหกรณ์ และด้านการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง พลเอกฉัตรชัย ได้นำคณะไปศึกษาดูงานที่สวนนายมนัส ฮวดจึง ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลบ้านดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรที่ย้ายถิ่นฐานมาจาก อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ถูกเวรคืนที่ดินจากการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และย้ายมาตั้งรกรากที่นี่ โดยปัจจุบันแม้จะสามารถเรียนรู้ในการปรับปรุงสายพันธุ์ทุเรียนให้สามารถปลูกโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาน้ำเค็ม ทำให้ต้องใช้วิธีการสูบน้ำมาจากแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในพื้นที่ 6 อำเภอ 3,354 ไร่ เกษตรกรทั้งหมด 1,058 ครัวเรือน ด้วยเหตุนี้ทางเกษตรกรจึงได้นำวิธีการบริหารจัดการ ทุเรียนปราจีนมาใช้ พร้อมสร้าง Story ในการนำเสนอจุดเด่น มุ่งเน้นผลผลิตทุเรียน ให้ได้คุณภาพสูง และได้รับรองมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ หรือได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI เพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพสินค้า ทั้งนี้ พลเอกฉัตรชัยรับที่จะไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในการด้านน้ำต่อไป พร้อมเน้นย้ำให้เกษตรกรพยายามช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องรอการพีงพาจากทางราชการ ซึ่งจากที่ได้รับฟังเกษตรกรกลุ่มนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ได้มีการรวมกลุ่มกัน เป็นศูนย์และสร้างเครือข่าย เป็นเกษตรแปลงใหญ่ และสหกรณ์ โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะการทำการเกษตรจะใช้วิธีแบบดั่งเดิมไม่ได้ ต้องทีการพัฒนาเป็นเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้สูงขึ้น จึงนับเป็นที่น่ายินดีที่เกษตรกรกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยตนจะนำรูปแบบนี้ไปถ่ายทอดต่อเกษตรกรทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ พลเอกฉัตรชัยระบุว่า “จากการลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เพื่อติดตามผลการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ด้านเกษตรในครั้งนี้ ยอมรับว่า การปฏิรูปทางการเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะความเข้าใจระหว่างภาครราชการกับภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่จะต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งแก้ไขถึงจะประสบความสำเร็จได้ แต่ก็ยังดีใจที่ผู้ว่า และรองผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคเกษตรมากขึ้น ซึ่งอันนี้ถือเป็นความหวัง ถ้าวันนี้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นภาคการเกษตรก็จะเป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ กรมชลประทานในพื้นที่ก็มีความเข้าใจดี แต่ยังติดขัดปัญหาเรื่องงบประมาณที่รองรับในการตอบสนองต่อแผน จึงได้ให้ข้อเสนอแนะต่อทางจังหวัดไปเพื่อให้การปฏิรูปประเทศ ดำเนินการไปอย่างเป็นระบบ และมีแผนงานที่ชัด โดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และวัดผลลัพธ์ว่าประชาชนได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปภาคเกษตรบ้าง ไม่ใช่วัดผลจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่