พลเอกฉัตรชัย เดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ สั่งรวบรวมแนวทางจากทุกภาคส่วน หวังพัฒนา Smart Farmer เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นประธานเปิดการสัมมนา การนำเสนอผลการศึกษา Smart Farmer ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ ตลอดจน ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่ ผู้แทนกลุ่มเป้าหมายของกรมพัฒนาชุมชน และ ผู้แทนกลุ่มเป้าหมาย ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวม 17 หน่วยงานเข้าร่วม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนา Smart Farmer เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน ที่จะสนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ covid-19 ที่ประเทศกำลังเข้าสู่การฟื้นฟู
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา Smart Farmer มีหลายหน่วยงานทุกระดับดำเนินการ แต่ทุกหน่วยงานก็ใช้ภารกิจของตนเองเป็นหลัก จึงทำให้กลายเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ส่งผลให้งบประมาณจำนวนมากกระจายกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก ที่สำคัญไม่มีแกนหลักในการรับผิดชอบ และเป็นตัวตั้ง ดังนั้น จึงอยากเห็นแผนพัฒนา Smart Farmer โดยเริ่มจาก 1. การค้นหา 2.สร้างขึ้น 3.หล่อเลี้ยง 4.สนับสนุน 5.ส่งเสริม และ 6.ยั่งยืน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนมาร่วมกันเพื่อจัดทำแผนพัฒนา Smart Farmer ให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ พลเอกฉัตรชัย ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ริเริ่มให้มี Smart Farmer ขึ้นมา ก็รู้สึกไม่ผิดหวัง แม้จะสามารถสร้างเกษตรกรมาเป็น Smart Farmer ไม่ได้มาก
แต่ที่มีอยู่ก็มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Young Smart Farmer ที่เป็นคนรุ่นใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความหวังมากขึ้น หากมีการขยายออกไป ก็เชื่อว่าจะมีการพัฒนาด้านการเกษตรให้ก้าวหน้าต่อไปได้ในอนาคต แต่ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า แผนงาน Smart Farmer ควรมี 1.แผนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.กฎระเบียบต่างๆ ต้องเอื้ออำนวย ไม่เป็นอุปสรรค 3. การสร้าง Smart Farmer ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน 4. การพัฒนาต้องครบวงจร มีมาตรฐาน และมีการวิจัยสนับสนุน และ 5. ต้องมีเจ้าภาพในการบูรณาการอย่างแท้จริง ดังนั้นก็คาดหวังว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการที่เดิมเป็นเพียงกระดาษ ให้สามารถตอบสนองได้อย่างแท้จริง
ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล เลขานุการคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ระบุว่า จากการศึกษา และรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ แผนงานบูรณาการเพื่อขับเคลื่อน Smart Farmer พบว่า มีการดำเนินการใน 3 ด้าน คือด้านการพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ด้านการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและผลิตภัณฑ์ชุมชน และด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ยังได้พิจารณาศึกษา Big Rock ในเรื่องSmart Farmer โดยเชื่อมโยงของการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กับการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าวว่ามี จุดอ่อน และจุดแข็งของการดำเนินการอย่างไรด้วย เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ในการดำเนินงานของภาครัฐ และมีความสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ที่กำหนดให้วุฒิสภา มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี