เป็นประเด็นชวนคิดขึ้นมาทีเดียว ภายหลังจากที่วันวานที่ผ่านมาในรายการ "ฟังหูไว้หู" ทางช่อง 9 MCOTHD ที่ดำเนินรายการโดย "นุ่น ชุติมา พึ่งความสุข" และ "วีระ ธีระภัทร" (วีระ ธีระภัทรานนท์) ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นข่าวที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีลงนามสัญญา 2.3 โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเป็นจำนวนวงเงิน 5 หมื่นกว่าล้านบาท
(อ่าน : นายกฯ ลงนามสัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีน 5 หมื่นล้าน เชื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ ปชช.)
โดยในรายการผู้ดำเนินรายการได้มีการระบุว่าโครงการนี้ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง เนื่องจากระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงโคราชนั้นมีระยะทางเพียง 253 กม. แถมยังมีสถานีอีก 6 สถานี ซึ่งรถไฟจะสามารถวิ่งทำความเร็วได้แค่ 150กม./ชม. ไม่สามารถทำความเร็วไปถึง 250 กม./ชม. ตามคำนิยามของการเป็นรถไฟความเร็วสูงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในเวลาต่อมาที่แฟนเพจชื่อ Reporter Journey ก็ได้มีการนำเสนอข้อมูลแย้งต่อเรื่องนี้โดยระบุว่าข้อมูลที่นำเสนอผ่านรายการ "ฟังหูไว้หู" นั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากในทางเทคนิคนั้นรถไฟสามารถทำอัตราเร่งไปจนถึงความเร็ว 250 กม./ชม. โดยใช้ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร ขณะที่แต่ละสถานีเองก็ค่อนข้างจะอยู่ห่างกันเพราะฉะนั้นรถไฟสามารถทำความเร็วไปถึงจุดดังกล่าวได้อยู่แล้ว
"ปกติก็ไม่มีรถไฟสายไหนบนโลกที่คงความเร็วสูงสุดได้ตลอดทั้งสาย เพราะมันต้องมีทั้งการลดความเร็ว การชะลอก่อนเข้าและออกจากสถานี ซึ่งมันเป็นปกติ ต่อให้จะเป็นรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 350 หรือ 500 กม./ชม. ก็ตาม ดังนั้นเรื่องการที่รถจะวิ่งไม่ถึง 250 กม./ชม. แล้วจัดว่าเป็นความเร็วปานกลางเลยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะประเภทของตัวรถ ระบบที่ใช้ และอัตราเร่งความเร็ว มันคือรูปแบบของรถไฟความเร็วสูง ข้อนี้พิธีกรไม่ควรมั่วในข้อมูลหรือขยายความให้คนดูแล้วเข้าใจผิด..."
ไม่เพียงเท่านั้นในแฟนเพจดังกล่าวยังระบุถึงความผิดพลาดของข้อมูลอื่นๆ ที่รายการนำเสนอด้วย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในรัสเซีย, โครงการรถไฟลาวจีน จากคุณหมิง - เวียงจันทร์ ซึ่งไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง รวมถึงข้อมูลที่ว่ารถไฟจากจีนที่วิ่งผ่านลาวและจะเข้าสูงไทยแบบวิ่งรวดเดียวนั้นก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเช่นกัน...ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นไปติดตามตามอ่านที่แฟนเพจ Reporter Journey กันได้