ถ้าธุรกิจคุณต้องมองหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการตัวธุรกิจ หรือในการเริ่มทำธุรกิจใหม่ในช่วงนี้คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนที่มีศักยภาพ รวมถึง นายทุนหลายรายคงเลื่อนการตัดสินใจในการลงทุน หรือการคุยนัดหมายทางธุรกิจออกไปก่อน
นอกจากนี้ ลูกค้าประจำและลูกค้ารายใหม่ๆของหลายบริษัท มีการชะลอการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น เป้าหมายที่เกือบทุกธุรกิจตั้งไว้ คงยากที่จะเป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม ความต้องการเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ แม้ในช่วงวิกฤตก็ยังมีความต้องการอยู่เสมอ
ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และอาจารย์ประจำ สาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตนั้นธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมมีความยากที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดเล็ก เว้นแต่จะมีการวางหลักประกันที่เพียงพอ หรือมีประวัติผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทที่สามารถแสดงถึง ความสามารถที่สูงพอจะชำระคืนดอกเบี้ยและเงินกู้ อย่างไรก็ตามในยุคของNew Normal นั้นก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (Fin-Tech) มาช่วยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
เช่น Equity Crowdfunding (ECF) ในการหาเงินทุนสำหรับเริ่มทำธุรกิจ และ Peer to Peer (P2P) Lending สำหรับการหาเงินกู้ขนาดเล็ก ถึงแม้ว่า รูปแบบทั้งสองอย่างดังกล่าวไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ในประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น รูปแบบการกู้แบบP2P เปิดตัวครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรในปี 2006 และมีการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันประเทศจีนมีมูลค่าตลาดของP2Pใหญ่ที่สุดในโลก
P2P Lending คือ ระบบที่ให้บริการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ กล่าวคือ ผู้ให้กู้กับผู้กู้จะลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ หลังจากนั้นผู้กู้อาจจะเลือกผู้กู้เองหรือให้ระบบทำการMatchingให้ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้กู้ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้เอง จุดเด่นของการกู้แบบP2P คือ อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์สำหรับการขอกู้ และผู้ให้กู้ อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากกว่าธนาคาร ในปี 2018 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศการกำกับดูแลระบบธุรกรรมสินเชื่อ Peer-to-Peer Lending Platform โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 75% และ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ห้ามประกอบธุรกิจอื่นยกเว้นที่เกี่ยวกับการให้บริการP2P Lending ซึ่งปัจจุบัน มีชื่อผู้ให้บริการระบบ Peer-to-Peer Lending Platform ที่กำลังทดสอบระบบภายใต้Regulatory Sandbox โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีแค่บริษัท Deepsparks Lending ตัวอย่างอื่นๆ P2P Lendingในประเทศไทย เช่น บริษัทdaingern บริหารงานภายใต้กลุ่มบริษัท เอเอสเอ็น โบรกเกอร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์mai
เมื่อกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน เข้มงวดขึ้นหลังจากวิกฤตโควิต-19 ทำให้ธุรกิจSMEs มีความยากลำบากในการหาเงินทุนหรือกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หลายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจStartup ปัจจุบันนี้สามารถที่จะระดมทุนด้วยวิธี Equity Crowdfunding (ECF) ซึ่งจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นตัวกลางในการระดมทุนจากนักลงทุน องค์ประกอบสำคัญในการทำECF ได้แก่ 1. Funding Portal (FP) หรือผู้ให้บริการเว็บไซต์ตัวกลาง ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งในประเทศไทยจะมี Sinwattana platform ที่ผ่านการคัดเลือกและเปิดให้บริการ 2. Issuers หรือบริษัทSMEs ที่ต้องการระดมทุน 3. นักลงทุน โดยจะได้รับหุ้นสามัญเป็นสิ่งตอบแทน ECFจะเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกิจการที่โอกาสเติบโตและผลตอบแทนสูง
ECFเป็นเรื่องที่นักลงทุนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยดังนั้นจึงควรศึกษาถึงความเสี่ยงซึ่งมีความแตกต่างจากลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับข้อมูลECF ทางเลือกใหม่ของการระดมทุนและการลงทุนในยุคดิจิทัลสามารถอ่านและหาข้อมูลอย่างละเอียดได้จากเว็บไซต์ของก.ล.ต. หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันไม่จะเป็นในประเทศใดก็ตาม พฤติกรรมของนักลงทุน และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มีการใช้ Digital tools ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทางมือถือ หรือคอมพิวเตอร์
มีข้อมูลอ้างอิงจากGoogle trendใน ปี2020 พบว่า มีการค้นหาคำว่า “แอพ กู้ เงิน” ซึ่งเป็นเทรนที่สูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ดังนั้น ระบบนิเวศ (Eco-system) ของการระดมทุนหรือเข้าสู่แหล่งเงินทุนแบบ ECF และการหาเงินกู้แบบP2P รวมถึง การรีไฟแนนซ์ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งในยุคหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือในยุคของNew Normalนี้น่าจะมีผู้ให้บริการธุรกิจ แบบFunding Portal (FP) หรือผู้ให้บริการเว็บไซต์ตัวกลางเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้น เทคโนโลยีทางการเงิน (Fin-Tech) จะกลับมามีบทบาทสำคัญในประเทศไทยมากขึ้น